svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดผลสำรวจครูไทย เห็นด้วยกับเด็ก ขอให้ปรับปรุงห้องน้ำ รร. - เพิ่มเงินเดือน

15 มกราคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เห็นด้วยไหม เปิดผลสำรวจครูไทย เนื่องในวันครูแห่งชาติ ครูเห็นด้วยกับเด็ก ขอให้ปรับปรุงห้องน้ำโรงเรียน ไม่อยากอยู่เวร ขอผู้บริหารกระทรวงศึกษาเพิ่มเงินเดือน ลดภาระงานเอกสาร

“ครูวางฐานคิด ส่งเสริมศิษย์สร้างสรรค์” นี่คือคำขวัญวันครูปี 2567 โดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เนื่องใน "วันครูแห่งชาติ" ซึ่งตรงกับวันที่ 16 มกราคม ของทุกปี โดยในปี 2567 นี้ "Rocket Media Lab" ร่วมกับมูลนิธิแพธทูเฮลท์ จัดทำแบบสอบถามครูผู้สอน ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - มัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 9 – 15 มกราคม 2567 เพื่อสำรวจความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบการศึกษา มีครูที่ตอบแบบสอบถามออนไลน์ทั่วประเทศ ทั้งหมด 303 คน 

เป็นเพศชาย 71 คน หญิง 220 คน LGBTQ+ 7 คน และไม่ต้องการระบุเพศ 5 คน ในจำนวนนี้ แยกเป็นครูระดับชั้นประถมศึกษา 118 คน ระดับชั้นมัธยมศึกษา 171 คน และ ปวช. 14 คน และเมื่อแยกพื้นที่ของครู  ที่ตอบแบบสอบถามตามภาค จะพบว่า เป็นครูในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 114 คน คิดเป็น 37.62% รองลงมาคือภาคกลาง 74 คน คิดเป็น 24.42% ตามด้วยภาคเหนือ 70 คน คิดเป็น 23.10% ภาคใต้ 36 คน คิดเป็น 11.88% ภาคตะวันตก 5 คน คิดเป็น 1.65% และภาคตะวันออก 4 คน คิดเป็น 1.32%

เปิดผลสำรวจครูไทย เห็นด้วยกับเด็ก ขอให้ปรับปรุงห้องน้ำ รร. - เพิ่มเงินเดือน
 

สำหรับผลสำรวจคำถามจากคุณครู คำถามแรกเมื่อถามว่า สถานที่ใดในโรงเรียนที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด 

ผลสำรวจพบว่า ครูอยากให้โรงเรียนปรับปรุงห้องน้ำมากที่สุด โดยตอบสูงถึง 134 คน คิดเป็น 44.22% รองลงมาคือห้องเรียน 70 คน คิดเป็น 23.10% ห้องสมุด 23 คน คิดเป็น 7.59% โรงอาหาร 22 คน คิดเป็น 7.26% สนามกีฬา 19 คน คิดเป็น 6.27% ห้องพยาบาล 14 คน คิดเป็น 4.62% ห้องพักครู 11 คน คิดเป็น 3.63% และอื่นๆ 10 คน คิดเป็น 3.30% เช่น ห้องคอมพิวเตอร์ ที่จอดรถ อาคารเรียน และบางส่วนก็เขียนตอบว่าทุกข้อ 
 

นอกจากนี้ยังพบว่า ไม่ว่าจะเป็นครูชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือ ปวช. ต่างก็เลือกให้ห้องน้ำ เป็นสถานที่ที่อยากให้ปรับปรุงมากที่สุด และเมื่อพิจารณาเป็นรายภาคก็พบว่า ครูทุกภาคต่างลงความเห็นเหมือนกันว่า อยากให้โรงเรียนปรับปรุงห้องน้ำมากที่สุด  

กฎที่ครูไม่ชอบที่สุด 

เมื่อถามว่า กฎของโรงเรียนเรื่องใด ที่ครูไม่ชอบมากที่สุด พบครูไม่ชอบการแต่งกายประจำวันมากที่สุด 74 คน คิดเป็น 24.42% รองลงมาคือ การเช็คชื่อก่อนเข้าแถว และการใส่กระโปรง (ยกเว้นครูพละ) 63 คน คิดเป็น 20.79% การแต่งกายผ้าไทย 47 คน คิดเป็น 15.51% และอื่นๆ 56 คน คิดเป็น 18.48% เช่น การเข้าเวรเสาร์-อาทิตย์ การสแกนนิ้วหลังเลิกเรียน และมีจำนวนหนึ่งที่ตอบว่าไม่มีปัญหากับกฎระเบียบ 

หากมองรายภาคพบว่า การต้องใส่กระโปรง (ยกเว้นครูพละ) เป็นกฎที่ครูในภาคกลางไม่ชอบที่สุด ส่วนการเช็คชื่อก่อนเข้าแถว เป็นกฎที่ครูภาคเหนือไม่ชอบมากที่สุด ส่วนการแต่งกายผ้าไทย เป็นกฎที่ครูภาคใต้ไม่ชอบมากที่สุด

หากมองในรายสังกัดของโรงเรียน ทั้งครูโรงเรียนรัฐและเอกชน ไม่ชอบการแต่งกายประจำวันมากที่สุด  นอกจากนี้หากมองครูประถมและมัธยม พบว่าครูประถมไม่ชอบการเช็คชื่อ ก่อนเข้าแถวเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนครูมัธยม ยังคงยกให้การแต่งกายประจำวันเป็นกฎที่ไม่ชอบมากที่สุด

หมายเหตุ
การแต่งกายประจำวัน คือการกำหนดชุดการแต่งกายของครูในแต่ละวัน เช่น วันจันทร์ - ชุดข้าราชการ (สีกากี) วันอังคาร - ชุดเสื้อกีฬา วันพุธ - ชุดสุภาพ วันพฤหัส - ชุดลูกเสือ เป็นต้น   

สิ่งที่ไม่อยากให้นักเรียนทำมากที่สุด 

ส่วนคำถามที่ว่า อะไรคือสิ่งที่ครูไม่อยากให้นักเรียนทำมาที่สุด พบว่า ครูไม่อยากให้นักเรียน เล่นโทรศัพท์ในเวลาเรียนมากที่สุด 101 คน คิดเป็น 33.33% รองลงมาคือการพูดจาหยาบคาย 88 คน คิดเป็น 29.04% ตามด้วยการล้อเลียนเรื่องกายภาพ เพศ ชาติพันธุ์ สำเนียง 54 คน คิดเป็น 17.82% การนินทาครูลงโซเชียลมีเดีย 17 คน คิดเป็น 5.61% การโพสต์คลิป/ภาพถ่ายของครูลงโซเชียลมีเดีย 15 คน คิดเป็น 4.95% การถึงเนื้อถึงตัว 15 คน คิดเป็น 4.95% และอื่นๆ 13 คน คิดเป็น 4.29% เช่น นักเรียนมาสาย การไม่ตั้งใจเรียน และบางส่วนก็เขียนตอบว่าทุกข้อ 

หากพิจารณารายภาค พบว่าครูภาคเหนือและภาคใต้ ไม่อยากให้นักเรียนพูดจาหยาบคายมากที่สุด เช่นเดียวกันกับการจำแนก ตามสังกัดของโรงเรียน ครูโรงเรียนเอกชนไม่อยากให้นักเรียนพูดจาหยาบคายมากที่สุด นอกจากนี้ครูประถมให้การพูดจาหยาบคายเป็นสิ่งที่ไม่อยากให้นักเรียนทำมากที่สุด 

โรงเรียนท่านผู้หญิงวิไล อมาตยกุล (บ้านเปิงเคลิ่ง)  

สิ่งที่ครูอยากได้มากที่สุด 

ส่วนคำถามถึงอะไรคือสิ่งที่ครูอยากได้มากที่สุด พบว่า ครูอยากให้เพิ่มเงินเดือน/ค่าวิทยฐานะมากที่สุด 149 คน คิดเป็น 49.17% รองลงมาคือ มาตรฐานการขึ้นเงิน 45 คน คิดเป็น 14.85% ค่าสื่อการสอน 32 คน คิดเป็น 10.56% ค่าทำงานล่วงเวลา 25 คน คิดเป็น 8.25% รถโรงเรียนอำนวยความสะดวกสำหรับกิจกรรมนอกสถานที่ 13 คน คิดเป็น 4.29% ค่าอยู่เวร 10 คน คิดเป็น 3.30% เพิ่มค่าเบี้ยเลี้ยง 6 คน คิดเป็น 1.98% ค่าอินเทอร์เน็ต 5 คน คิดเป็น 1.65% และอื่นๆ 18 คน คิดเป็น 5.94% เช่น ขอให้มีเจ้าหน้าที่การเงิน พัสดุ โดยตรง ขอขวัญและกำลังใจ การลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวกับการเรียนการสอน และการบรรจุข้าราชการเมื่ออายุงานถึงเกณฑ์ 
 

นอกจากนี้พบว่า ไม่ว่าจะครูประถม-มัธยม ครูโรงเรียนรัฐ-เอกชน ครูทุกภาค และทุกเพศ ต่างก็เลือกให้การเพิ่มเงินเดือน/ค่าวิทยฐานะเป็นสิ่งที่ครูอยากได้มากที่สุด 


สิ่งที่ครูไม่อยากให้มีมากที่สุด  

คำถามที่ว่า สิ่งที่ครูไม่อยากให้มีมากที่สุดพบว่า ครูไม่อยากอยู่เวรนอกเวลาเรียนมากที่สุด 124 คน คิดเป็น 40.92% รองลงมาคืองานการเงิน 37 คน คิดเป็น 12.21% งานพัสดุ 33 คน คิดเป็น 10.89% งานประกันคุณภาพ 19 คน คิดเป็น 6.27% งานธุรการ 17 คน คิดเป็น 5.61% งานอบรม 15 คน คิดเป็น 4.95% งานพิธีการ 12 คน คิดเป็น 3.96% งานวัดผลประเมินผล 3 คน คิดเป็น 0.99% งานทะเบียน 2 คน คิดเป็น 0.66% งานทะเบียนนักเรียน 2 คน คิดเป็น 0.66% งานโภชนาการ 2 คน คิดเป็น 0.66% งานสารสนเทศ 2 คน คิดเป็น 0.66% งานอนามัย 2 คน คิดเป็น 0.66% งานอาคารสถานที่ 1 คน คิดเป็น 0.33% และอื่นๆ 32 คน คิดเป็น 10.56% เช่น งาน PLC (การทำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) และส่วนใหญ่ตอบว่า ทุกงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน 

นอกจากนี้ยังพบว่า ครูทุกภาคทุกระดับชั้น เลือกไม่อยากอยู่เวรนอกเวลามากที่สุด ในขณะที่อันดับสองนั้น หากดูรายภาคจะพบว่า ภาคเหนือเป็นเรื่องงานพัสดุ ส่วนภาคใต้เป็นเรื่องงานการเงิน กับงานการประกันคุณภาพที่มีการเลือกในจำนวนเท่ากัน

กิจกรรมที่ครูไม่อยากให้มีที่สุด 

สำหรับคำถามที่ว่า กิจกรรมที่ครูไม่อยากให้มีมากที่สุด พบว่า กิจกรรมพานักเรียนไปแข่งขันนอกสถานที่เป็นกิจกรรมที่ครูไม่อยากให้มีที่สุด 80 คน คิดเป็น 26.40% ตามมาด้วยกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือ 48 คน คิดเป็น 15.84% สมุดบันทึกความดี 42 คน คิดเป็น 13.86% กิจกรรมวันพ่อวันแม่ 37 คน คิดเป็น 12.21% กิจกรรมค่ายธรรมะ 30 คน คิดเป็น 9.90% กิจกรรมหน้าเสาธง 12 คน คิดเป็น 3.96% กิจกรรมสวดมนต์ 11 คน คิดเป็น 3.63% กิจกรรมจิตอาสา 5 คน คิดเป็น 1.65% และอื่นๆ 38 คน คิดเป็น 12.54% เช่น กีฬาสี กิจกรรม PLC (การทำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ) กิจกรรมแนะแนว งานประเมิน และบางส่วนตอบว่าไม่มีกิจกรรมไหนที่ไม่อยากให้มี

เมื่อพิจารณาสัดส่วนผู้เลือกกิจกรรมพานักเรียนไปแข่งขันนอกสถานที่พบว่า เป็นครูที่ทำงานมากกว่า 20 ปีมากที่สุด 25 คน คิดเป็น 31.25% สัดส่วนน้อยที่สุดคือ ครูที่ทำงานน้อยกว่า 1 ปี มี 1 คน คิดเป็น 1.25% โดยที่อันดับ 2 เป็นครูซึ่งทำงานมาแล้ว 5-10 ปี มี 17 คน คิดเป็น 21.25% อันดับ 3 เป็นครูที่ทำงานมาแล้ว 15-20 ปี 16 คน คิดเป็น 20% ของผู้ที่เลือกคำตอบนี้

เปิดผลสำรวจครูไทย เห็นด้วยกับเด็ก ขอให้ปรับปรุงห้องน้ำ รร. - เพิ่มเงินเดือน  

วิชาที่ครูอยากให้ยกเลิกที่สุด 

ส่วนคำถามที่ว่า วิชาที่ครูอยากให้ยกเลิกมากที่สุด พบว่าวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์เป็นวิชาที่ครูอยากยกเลิกมากที่สุด 114 คน คิดเป็น 37.62% รองลงมาคือ วิชาชุมนุม/ชมรม 57 คน คิดเป็น 18.81% วิชาหน้าที่พลเมือง 46 คน คิดเป็น 15.18% วิชานาฏศิลป์ 18 คน คิดเป็น 5.94% วิชาพุทธศาสนา 12 คน คิดเป็น 3.96% วิชาพลศึกษา 4 คน คิดเป็น 1.32% และอื่นๆ 52 คน คิดเป็น 17.16% เช่น สุขศึกษา ศิลปะ และส่วนใหญ่เขียนตอบว่าไม่มีวิชาที่อยากยกเลิก

เมื่อพิจารณาครูที่อยากให้ยกเลิกวิชาลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด บำเพ็ญประโยชน์ พบว่า ทุกช่วงอายุการทำงานเลือกตอบข้อนี้เป็นสัดส่วนมากที่สุด ครูที่ทำงานมากกว่า 20 ปี มี สัดส่วน 29.76% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ ครูที่ทำงาน 15 ปี- 20 ปี มี 39.02% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ ครูที่ทำงาน 10 ปี -15 ปี มี 37.25% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ ครูที่ทำงาน 5-10 ปี มี 40.48% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ 1-5 ปี มี 42.55% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้ น้อยกว่า 1 ปี    มี 44.74% ของจำนวนครูในกลุ่มนี้

สิ่งที่อยากเห็นผู้บริหารโรงเรียนทำที่สุด 

สำหรับคำถามที่ว่าสิ่งที่อยากเห็นผู้บริหารโรงเรียนทำที่สุด พบว่า ครูอยากให้ยกเลิกนโยบายการประกันเกรด ปลอด 0 ร. มส. ของนักเรียนมากที่สุด 123 คน คิดเป็น 40.59% รองลงมา คือไม่เลือกปฏิบัติ 100 คน คิดเป็น 33 % ยกเลิกการส่งไปอบรมที่ไม่จำเป็น 34 คน คิดเป็น 11.22% ไม่ใช้ให้ทำงานส่วนตัว 32 คน คิดเป็น 10.56% อื่นๆ 14 คน คิดเป็น 4.62% เช่น รับฟังความคิดเห็นของครู มีแผนในการทำงาน บางคนเขียนตอบว่า ทุกข้อรวมกัน 

เมื่อพิจารณาครูที่ตอบว่าต้องการให้ยกเลิกนโยบายประกันเกรด พบว่า จากผู้ตอบ 123 คน เป็นครูมัธยมมากที่สุด 87 คน หรือคิดเป็น 50.29% ของครูมัธยมทั้งหมด 171 คน ครูประถม 30 คน หรือคิดเป็น 25.42% ของครูประถมทั้งหมด 118 คน ครู ปวช. 6 คน หรือคิดเป็น 42.85% ของครูปวช.ทั้งหมด 14 คน หากจำแนกผู้ที่เลือกข้อนี้ตามระยะเวลาในการทำงาน พบว่า ครูที่ทำงานมานานมากกว่า 20 ปี มีสัดส่วนมากที่สุด 30 คน คิดเป็น 24.59% ของครูที่เลือกข้อนี้ รองลงมา ครูที่ทำงาน 1-5 ปี 24 คน คิดเป็น 19.67% อันดับ 3 ครูที่ทำงาน 15- 20 ปี 19 คน คิดเป็น 15.57% 

สิ่งที่อยากเห็นผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทำที่สุด
จากคำถามที่ว่า สิ่งที่อยากเห็นผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการทำมากที่สุด พบว่า ครูอยากให้ลดภาระงานเอกสารที่ต้องทำส่งกระทรวงมากที่สุด 146 คน คิดเป็น 48.18% รองลงมาเป็นการเพิ่มค่าตอบแทนครู 62 คน คิดเป็น 20.46% ปรับระบบการประเมินผลการศึกษาและการประกันคุณภาพ 38 คน 12.54% เพิ่มจำนวนครูให้เหมาะสมกับนักเรียน 35 คน 11.55% มีระบบรับเรื่องร้องเรียนตรงถึงรัฐมนตรี 9 คน 2.97% และอื่นๆ เช่น เพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุน เพื่อจัดการเอกสารที่ไม่จำเป็นกับการสอน

เมื่อพิจารณาเฉพาะการลดภาระงานเอกสาร ที่ต้องทำส่งกระทรวงพบว่า เป็นครูที่ทำงานมานานกว่า 20 ปีมากที่สุด 37 คน คิดเป็น 25.34% รองลงมา ครูที่ทำงานมาแล้ว 10-15 ปี 28 คน คิดเป็น 19.17% อันดับ 3 ครูที่ทำงานน้อยกว่า 1 ปี 23 คน คิดเป็น 15.75% 

Photo by MART PRODUCTION from Pexels

ดูข้อมูลเพิ่มเติมที่นี่ "Rocket Media Lab"

 

logoline