svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดรายละเอียดร่างแก้ไข พ.ร.บ. ทารุณกรรมสัตว์ ฉบับประชาธิปัตย์-ก้าวไกล

26 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เปิดรายละเอียดร่างแก้ไข พ.ร.บ. ทารุณกรรมสัตว์ ฉบับประชาธิปัตย์-ก้าวไกล "ร่มธรรม"หวังยกระดับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ลดช่องโหว่ทางกฎหมาย พร้อมใช้เทคโนโลยีช่วยลงทะเบียนติดตามแก้ไขปัญหา

26 ตุลาคม 2566 ที่อาคารรัฐสภา นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ สส. จ.พัทลุง พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมคณะ เดินทางมายื่นหนังสือต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้บรรจุวาระการพิจารณาเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร

นายร่มธรรม ระบุว่า ที่ผ่านมา หลักเกณฑ์ในการดูแลสัตว์ตามพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557 ยังขาดความชัดเจนของคำนิยามและถ้อยคำต่าง ๆ ทำให้เกิดปัญหาในการตีความจนเป็นเหตุให้ผู้กระทำการทารุณกรรมสัตว์ได้รับเหตุยกเว้นว่ามีเหตุอันสมควรและไม่มีความผิดในหลายกรณี อีกทั้งยังขาดกลไกการทำงานที่นำเทคโนโลยีมาใช้ และการประสานงานที่มีประสิทธิภาพ จึงสมควรดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติให้มีความชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น

เปิดรายละเอียดร่างแก้ไข พ.ร.บ. ทารุณกรรมสัตว์ ฉบับประชาธิปัตย์-ก้าวไกล

นายร่มธรรม กล่าวเพิ่มเติมว่า ร่างพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ที่นำเสนอต่อสภาในครั้งนี้ มีรายละเอียดสำคัญที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ

1. การแก้ไขและเพิ่มเติมคำนิยามคำว่า "สัตว์" เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพสัตว์ที่อาศัยอยู่ในธรรมชาติโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการเลี้ยงดูจากมนุษย์ และไม่ต้องมีบัญชีหรือขึ้นทะเบียนไว้

2. กำหนดให้คณะบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์หรือดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทารุณกรรมหรือการจัดสวัสดิภาพสัตว์และไม่มีวัตถุประสงค์ในทางการเมืองหรือแสวงหากำไร ให้จดทะเบียนเป็นองค์กรจัดสวัสดิภาพสัตว์ต่อนายทะเบียน

3. กำหนดให้ผู้ซึ่งจัดตั้งสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ได้จดทะเบียนแล้วอาจได้รับการสนับสนุนจากกรมปศุสัตว์หรือหน่วยงานอื่นของรัฐในเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดทำระบบ หรือหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ประชาชนขอสัตว์จากสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อนำไปเป็นสัตว์บ้าน หรือสัตว์เลี้ยงเพื่อให้เป็นเพื่อน หรือเพื่อการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

4. แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามมิให้กระทำการอันเป็นการทารุณกรรมสัตว์เพื่อให้เกิดความชัดเจน

5. กำหนดให้การตัด หู หาง ขน เขา หรืองาเพื่อสุขอนามัยของสัตว์โดยไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์หรือการดำรงชีวิตของสัตว์ไม่ถือว่าเป็นการทารุณกรรมสัตว์

6. กำหนดให้เจ้าของสัตว์ต้องดำเนินการจดทะเบียนสัตว์เลี้ยงและจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ของตนให้เหมาะสมตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดซึ่งอย่างน้อยต้องมีขั้นตอนการจดทะเบียนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สามารถติดตามสัตว์ได้

7. กำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามมิให้เจ้าของสัตว์ปล่อย ละทิ้ง หรือกระทำการใด ๆ ให้สัตว์พ้นจากการดูแลของตนหรือให้เป็นภาระของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร

8. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ในการยึดหรืออายัดสัตว์หรือซากของสัตว์ที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าถูกฆ่าหรือถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ไม่เหมาะสม รวมทั้งเอกสารหลักฐาน ยานพาหนะ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามตามพระราชบัญญัตินี้เพื่อเป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี

9. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ที่ได้รับคำร้องหรือเห็นว่าการให้สัตว์อยู่ในความครอบครองของเจ้าของอาจจะถูกทารุณกรรมหรือได้รับการจัดสวัสดิภาพสัตว์ที่ไม่เหมาะสมอีก พนักงานเจ้าหน้าที่อาจเสนอให้ศาลพิจารณาสั่งห้ามมิให้เจ้าของหรือผู้กระทำความผิดนั้นครอบครองสัตว์ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว และมอบให้หน่วยงานของรัฐหรือบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้ครอบครองหรือดูแลสัตว์นั้นจนกว่าจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำสั่ง

10. กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ดำเนินการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้แก่สัตว์ตามความเหมาะสมในกรณีที่พบสัตว์ถูกปล่อย ละทิ้ง หรือไม่มีเจ้าของหรือเจ้าของไม่สามารถดูแลสัตว์ได้อีกต่อไป

11. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดไม่มีความสามารถในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ให้เหมาะสม ศาลอาจสั่งห้ามผู้กระทำความผิดครอบครองสัตว์เป็นการชั่วคราวหรือโดยถาวรก็ได้

นายร่มธรรม กล่าวอีกว่า ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะเป็นการช่วยยกระดับการให้ความคุ้มครองสัตว์ การทารุณกรรมสัตว์ และการดำเนินการให้ความช่วยเหลือดูแลสัตว์ที่ถูกทารุณกรรมอย่างเหมาะสมจากหน่วยงานของรัฐและสถานสงเคราะห์สัตว์ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว พร้อมทั้งเป็นการจัดระเบียบข้อมูลสัตว์ให้เป็นระบบภายใต้การดูแลของรัฐเพื่อให้ง่ายต่อการบริหารจัดการและการติดตามดูแลต่อไป

“การแก้ไขกฎหมายป้องกันการทุรณกรรมสัตว์ในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มความชัดเจนของขอบเขตในการให้ความคุ้มครองสัตว์ที่ครอบคลุมมากขึ้น เพิ่มช่องทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือและรับเลี้ยงสัตว์ กำหนดให้มีการอุดหนุนสถานสงเคราะห์สัตว์เพื่อให้สามารถดำเนินงานต่อไปได้อย่างเหมาะสม กำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการจดทะเบียนสัตว์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถติดตามเพื่อให้การคุ้มครองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการและกระบวนการคุ้มครองสัตว์ในอนาคต” นายร่มธรรม กล่าว

logoline