svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง "พุทธทาสภิกขุ" เป็น "บุคคลสำคัญของโลก"

19 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ในอดีต 20 ตุลาคม พ.ศ.2548 ยูเนสโกประกาศยกย่องให้ "พระธรรมโกศาจารย์" หรือ "พุทธทาสภิกขุ" เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" เนชั่นออนไลน์ พาย้อนระลึกถึงหลักธรรมคำสอน และผลงานเด่นของท่าน กันอีกสักครั้ง

เนื่องด้วยวันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ.2548 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ประกาศยกย่องให้ "พระธรรมโกศาจารย์" หรือ "พุทธทาสภิกขุ" เป็นบุคคลสำคัญของโลก จากการที่ท่านได้อุทิศตน เพื่อการผสานส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา เพื่อความสันติภาพ ความเป็นธรรมของสังคมและบุคคล ดังที่ประกาศเป็นทางการไว้ว่า
วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

"พุทธทาสภิกขุ เป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพทั่วโลก ท่านเป็นผู้บุกเบิกในการส่งเสริมความเข้าใจระหว่างศาสนา โดยใช้การสานเสวนาระหว่างเหล่าศาสนิกต่างศรัทธา

ท่านได้ละอารามที่เคยพำนัก และได้ค้นพบแนวทางในการผสานพุทธศาสนาในโลก ให้สอดคล้องกับแก่นธรรมคำสอนดั้งเดิมอีกครั้ง

ท่านยังเน้นย้ำถึงหลักการอิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่ง ทำให้ท่านเป็นผู้นำของความคิดเชิงนิเวศวิทยา และผู้ประกาศจุดยืนเพื่อสันติภาพระหว่างประชาชาติทั้งหลาย

งานเขียนของท่าน ซึ่งได้รับการแปลและตีพิมพ์ในหลายภาษา มีอิทธิพลอย่างมหาศาลต่อการฟื้นฟูวิธีคิดแนวพุทธขึ้นใหม่

ความคิดที่ท่านได้แสดงไว้ มิเพียงแต่จะสามารถชี้ทางให้กับประเทศไทยได้เท่านั้น หากยังรวมถึงสังคมทั้งปวง ที่กำลังพยายามสรรค์สร้างระเบียบทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ อันเที่ยงธรรมและเป็นธรรมอีกด้วย"

ทีมข่าวเนชั่นออนไลน์ พาย้อนกลับไปทำความรู้จักกับท่านพุทธทาสภิกขุ กันอีกครั้ง

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"
พุทธทาสภิกขุ คือใคร?

ในเว็บไซต์ "หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ" ระบุประวัติของพุทธทาสภิกขุ ไว้ว่า

กำเนิดแห่งชีวิต 

ท่านพุทธทาสภิกขุ มีนามเดิมว่า เงื่อม นามสกุล พานิช เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น 7 ค่ำ เดือน 7 ปีมะเมีย วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2449 ในสกุลของพ่อค้าที่ตลาดพุมเรียง ไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี บิดาชื่อ เซี้ยง มารดาชื่อ เคลื่อน มีน้อง 2 คน เป็นชายชื่อ ยี่เกย (ธรรมทาส) และเป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย 

บิดาของท่านมีเชื้อสายจีน ประกอบอาชีพค้าขายของชำ เฉกเช่นที่ชาวจีนนิยมทำกันทั่วไป แต่อิทธิพลที่ท่านได้รับจากบิดากลับเป็นเรื่องของความสามารถทางด้านกวี และทางด้านช่างไม้ ซึ่งเป็นงานอดิเรกที่ชื่นชอบของบิดา

ส่วนอิทธิพลที่ได้รับจากมารดาคือ ความสนใจในการศึกษาธรรมะอย่างลึกซึ้ง อุปนิสัยที่เน้นเรื่องความประหยัด ความละเอียดลออในการใช้จ่ายและการทำทุกสิ่งให้ดีที่สุด และต้องทำให้ดีกว่าครูเสมอ ท่านได้เรียนหนังสือถึงชั้น ม.3 แล้วต้องออกมาค้าขายแทนบิดาซึ่งเสียชีวิตด้วยโรคลมปัจจุบัน

ครั้นท่านอายุครบ 20 ปี ก็ได้บวชเป็นพระตามคตินิยมที่วัดอุบล (วัดนอก) ไชยา ได้รับนามฉายาว่า "อินทปัญโญ" แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่ เดิมท่านตั้งใจจะบวชเรียนตามประเพณีเพียง 3 เดือน แต่ความสนใจ ความซาบซึ้ง ความรู้สึกเป็นสุข สนุกในการศึกษา และเทศน์แสดงธรรม ทำให้ท่านไม่อยากสึก เล่ากันว่า เจ้าคณะอำเภอเคยถามท่านขณะที่เป็นพระเงื่อมว่า มีความคิดเห็นอย่างไรในการใช้ชีวิต ท่านตอบว่า "ผมคิดว่าจะใช้ชีวิตให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์มากที่สุด"

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

อุดมคติแห่งชีวิต

พระเงื่อมได้เดินทางมาศึกษาธรรมะต่อที่กรุงเทพฯ สอบได้นักธรรมเอก แล้วเรียนภาษาบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค ระหว่างที่เรียนเปรียญธรรม 4 ประโยคอยู่นั้น ด้วยความที่ท่านเป็นคนรักการศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และศึกษาค้นคว้าออกไปจากตำราถึงเรื่องการปฏิรูปพระพุทธศาสนาในประเทศศรีลังกา อินเดีย และการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในโลกตะวันตก ทำให้ท่านรู้สึกขัดแย้งกับวิธีการสอนธรรมะที่ยึดถือรูปแบบตามระเบียบแบบแผนมากเกินไป ความย่อหย่อนในพระวินัยของสงฆ์ ตลอดจนความเชื่อที่ผิดๆ ของพุทธศาสนิกชนในเวลานั้น ทำให้ท่านมีความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาที่สอน ที่ปฏิบัติกันนั้นคลาดเคลื่อนไปมากจากที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะ

ท่านจึงตัดสินใจหันหลังให้กับการศึกษาของสงฆ์เวลานั้น กลับไชยาเพื่อศึกษาและทดลองปฏิบัติตามแนวทางที่ท่านเชื่อมั่น โดยร่วมกับนายธรรมทาสและคณะธรรมทานจัดตั้งสถานปฏิบัติธรรม "สวนโมกขพลาราม" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2475 จากนั้นท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะอย่างเข้มข้น จนเชื่อมั่นว่าท่านมาไม่ผิดทาง และได้ประกาศใช้ชื่อนาม "พุทธทาส" เพื่อแสดงให้เห็นถึงอุดมคติสูงสุดในชีวิตของท่าน
วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

ปณิธานแห่งชีวิต

อุดมคติที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนาแบบมหายานและศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย  ให้คนได้เลือกปฏิบัติที่สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนโดยไม่จำกัดชนชั้น เชื้อชาติ และศาสนา เพราะท่านเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนก็คือ เพื่อนร่วมเกิด แก่ เจ็บ ตายด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการให้มนุษย์พ้นจากความทุกข์ ท่านจึงตั้งปณิธานไว้ 3 ข้อ คือ

  1. ให้พุทธศาสนิกชน หรือศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตาม เข้าถึงความหมายอันลึกซึ้งที่สุดแห่งศาสนาของตน
  2. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
  3. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

ผลงานแห่งชีวิต

ตลอดชีวิตของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะคือหน้าที่" เป็นการทำหน้าที่เพื่อความอยู่รอดทั้งฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์ และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า ผลงานหนังสือของท่านมีทั้งที่ท่านประพันธ์ขึ้นเอง งานที่ถอดจากการบรรยายธรรมของท่าน และงานแปลซึ่งท่านแปลจากภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับงานหนังสือนี้ ท่านเคยให้สัมภาษณ์กับพระประชา ปสนฺนธมฺโม ว่า

"เราได้ทำสิ่งที่มันควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่ามันคุ้มค่า อย่างน้อยผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่า ไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ได้ยินคนพูดจนติดปากว่าไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน เราก็ยังติดปาก ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน ตอนนี้บ่นไม่ได้อีกแล้ว"

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

เกียรติคุณแห่งชีวิต

ท่านพุทธทาสภิกขุได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูอินทปัญญษจารย์ พระอริยนันทมุนี พระราชชัยกวี พระเทพวิสุทธิเมธี และพระธรรมโกศาจารย์ ตามลำดับ แต่ท่านจะใช้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นต้องติดต่อทางราชการเท่านั้น ถ้าเป็นเรื่องอื่นแล้วท่านจะใช้ชื่อว่า "พุทธทาส อินฺทปญฺโญ" เสมอ แสดงให้เห็นความอ่อนน้อมถ่อมตัวของท่าน และชื่อพุทธทาสนี้ก็เป็นที่มาแห่งอุดมคติของท่านนั่นเอง

ท่านได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในสาขาวิชาต่างๆ

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

ละสังขาร
ท่านพุทธทาสภิกขุได้ละสังขารกลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2536 สิริรวมอายุ 87 ปี นับได้ 67 พรรษา คงเหลือไว้แต่ผลงานที่ทรงคุณค่าแทนตัวท่านให้อนุชนรุ่นหลังได้สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อพุทธทาสจะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา

และในปี พ.ศ. 2548 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ก็ได้ประกาศยกย่องให้ท่าน "พุทธทาสภิกขุ" เป็นบุคคลสำคัญของโลก นับว่าเป็นอีกหนึ่งเกียรติประวัติที่ช่วยยืนยันว่า "พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย" อย่างแน่นอน

วันนี้ในอดีต 20 ต.ค. ยูเนสโกยกย่อง \"พุทธทาสภิกขุ\" เป็น \"บุคคลสำคัญของโลก\"

หลักธรรมคำสอนของ "พุทธทาสภิกขุ"

เนชั่นออนไลน์ได้รวมคำสอนบางส่วนของ "พุทธทาสภิกขุ" ไว้ดังนี้

1.“ถ้าตัวเองไม่พาตัวเองไปดีแล้วก็ไม่มีผู้อื่นใดจะสามารถนำตนไปได้ดีอย่างแน่นอน”

2.“ชีวิตที่ดีที่สุด คือ..สงบ เย็น และ เป็นประโยชน์”

3.“เมื่อขาดศีลธรรมแล้ว ความเจริญก็คือนรก”

4.“ความเห็นที่แตกต่างกันนั้น ไม่ควรจะเอามาเป็นสาเหตุสำหรับทำลายกัน”

5."ปลา ไม่เคยหลับตา แต่ก็ยังติดเบ็ด ดังนั้นตาอย่างเดียวไม่พอ มันต้องมีปัญญาด้วย"

6."คนฉลาด  ไม่ใช่แค่ ฉลาดพูดเท่านั้นต้องรู้จัก "นิ่งอย่างมีสติ" ให้เป็นด้วยต้องรู้ในสิ่งที่ไม่ควรพูดให้มากยิ่งกว่า สิ่งที่ควรพูด”

7.“การสังคมใดก็ตาม ต้องประกอบด้วยธรรมะที่เป็นความอดกลั้น อดทน ให้อภัย ไม่ยึดมั่นถือมั่น”

8.“คนจำนวนมากทำบุญเพื่อให้ตนดีใจ แต่ไม่ได้ทำบุญเพื่อให้ใจตนดี”

9.“ปัญญาเปรียบเหมือนกับความคม สมาธิเปรียบเหมือนกับน้ำหนักหรือกำลัง ถ้ามีแต่ความคมไม่มีกำลังหรือน้ำหนักมันก็ตัดอะไรไม่เข้า”

10."กินอยู่เท่าที่มีดีกว่าไปเป็นหนี้เขา เพื่อเอามากินเติบ"

สำหรับผลงานเด่นของท่านพระพุทธทาส คืองานหนังสือ อาทิ หนังสือพุทธธรรม, ตามรอยพระอรหันต์, คู่มือมนุษย์ ฯลฯ และท่านเป็นพระสงฆ์ไทยรูปแรกที่บุกเบิกการใช้โสตทัศนูปกรณ์สมัยใหม่ สำหรับการเผยแพร่ธรรมะ



 

ขอบคุณข้อมูลจาก : main.bia.or.th , buddhadasa.org  , วิกิพีเดีย
 

logoline