svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

อีกมุม "วิจัยทิพย์" นักวิชาการโต้ปม "ช้อปปิ้งงานวิจัย"

12 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ดร.จันทิมา เขียวแก้ว" ชำแหละ 5 ประเด็น "นักวิชาการไทย" โต้ปมวิจัยทิพย์ ซื้อ-ขายบทความ อ้างเป็นเจ้าของผลงาน ทำเอง 100%

"วิจัยทิพย์" 12 มกราคม 2566 ประเด็นการซื้อขายบทความวิจัยในต่างประเทศ ที่นักวิจัย นักวิชาการของไทยถูกแฉว่ามีการจ่ายเงินซื้องานวิจัยที่ตัวเองไม่ได้ทำเพื่อใส่ชื่อตัวเองเป็นเจ้าของผลงาน และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการต่างประเทศ หนึ่งในบุคคลที่ถูกแฉ คืออาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อีกรายคืออาจารย์ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ล่าสุดมีการออกมาชี้แจงของทั้งเจ้าตัวที่ถูกพาดพิง และคณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ซึ่งเป็นต้นสังกัดของอาจารย์คนนี้ 
อีกมุม "วิจัยทิพย์" นักวิชาการโต้ปม "ช้อปปิ้งงานวิจัย"
โดยอาจารย์รายนี้ อธิบายในประเด็นหลัก ๆ 5 ประเด็นด้วยกัน ประเด็นแรก ยืนยันว่ามีส่วนร่วมในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ทุกเรื่อง ทั้งในส่วนของการเป็นผู้วิจัยหลัก และผู้รับผิดชอบบทความ ประเด็นที่ 2 การร่วมงานกับนักวิจัยต่างชาติ ที่พบว่าไปเป็นผู้เขียนร่วมกันกับนักวิจัยในประเทศแถบตะวันออกกลาง และอีกหลาย ๆ ประเทศ ประเด็นนี้อาจารย์ชี้แจงว่า ได้รับเชิญไปเป็นผู้ประเมินบทความและบรรณาธิการวิชาการหลายแห่ง จึงทำให้เป็นที่รู้จัก
อีกมุม "วิจัยทิพย์" นักวิชาการโต้ปม "ช้อปปิ้งงานวิจัย"
ส่วนประเด็นที่ 3 คือสาเหตุของการถูก Retracted (รี-แทรก-เทด) คือการถูกเพิกถอนงานวิจัยจำนวน 2 เรื่อง ระบุว่า บทความทั้ง 2 เรื่องไม่ได้อยู่ในขอบเขตของวารสาร แต่ไม่ใช่เหตุผลละเมิดจริยธรรมของการทำวิจัย ประเด็นที่ 4 คือ การซื้อขายผลงาน ยืนยันว่า ไม่ได้ซื้อขายและไม่มีส่วนรู้เห็น และประเด็นสุดท้าย คือจำนวนผลงานการตีพิมพ์ ชี้แจงว่าทำหน้าที่หลายบทบาท จึงสามารถมีชื่อได้ในเกือบทุกเรื่อง

เมื่อมีการชี้แจงออกมาแบบนี้ รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง คณบดีวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า จากข้อมูลที่ได้จากรายงานของอาจารย์ วิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี จะหาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ครอบคลุมอย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในลำดับต่อไป

จึงเรียนสำนักข่าวต่าง ๆ เพื่อโปรดเผยแพร่ข้อมูลเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบว่าวิทยาลัยพยาบาลศาสตร์อัครราชกุมารี และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้ยึดมั่นในหลักการของคุณธรรม จริยธรรม และความถูกต้อง เพื่อให้องค์กรนี้ได้รับความเชื่อถือและเชื่อมั่นจากสังคมตลอดไป
อีกมุม "วิจัยทิพย์" นักวิชาการโต้ปม "ช้อปปิ้งงานวิจัย"
หลายคนตั้งคำถามว่า ทั้งประเด็นจำนวนของการตีพิมพ์ จำนวนผู้เขียนบทความ หรือแม้กระทั่งการทำวิจัยข้ามฟิล สามารถทำได้ หรือเกิดขึ้นได้หรือไม่ "ทีมข่าวข้นคนข่าว" ได้สอบถามข้อมูลต่าง ๆ จาก รองศาสตราจารย์ ดร.จันทิมา เขียวแก้ว ประธานเครือข่ายการวิจัยประชามติแห่งเอเชีย หรือ Asian Network for Public Opinion Research ที่มีประสบการณ์การทำวิจัยเชิงสังคมศาสตร์มากว่า 20 ปี

โดย ดร.จันทิมา กล่าวว่า ตนเองเคยทำวิจัยโครงการใหญ่ที่ได้ทุนวิจัย โดยทำวิจัยร่วมกันกับนักวิจัยกว่า 10 คน โครงการใหญ่ ๆ ที่ว่านี้ อาจารย์สามารถแตกประเด็นเขียนบทความวิจัยได้ปีละ 10 กว่าเรื่องเท่านั้น ไม่ถึงกับ 40 เรื่อง ดังนั้นประเด็นจำนวนของการตีพิมพ์ ที่นักวิจัยสามารถตีพิมพ์ได้ปีละหลาย 10 เรื่อง สามารถเกิดขึ้นได้ แต่ขอตั้งข้อสังเกตตรงที่หลายสิบเรื่องว่า มีความเชื่อมโยงกันหรือไม่

ดร.จันทิมา กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องการทำวิจัยข้ามฟิว หรือนอกเหนือจากเรื่องที่ผู้วิจัยถนัดหรือเชี่ยวชาญ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะบางเรื่อง อาจจะมีความสัมพันธ์กัน หรือเอื้อให้ไปทำเรื่องอื่นได้ หรือแม้กระทั่งกลุ่มเพื่อนมีความถนัดต่างกัน ก็อาจจะร่วมกันทำงานวิจัยชิ้นเดียวกันได้ แต่หากเรื่องนั้นมันข้ามฟิวจนเกินไป ก็อาจจะตั้งข้อสังเกตได้ว่ามีการซื้อมาหรือไม่

อย่างไรก็ตาม วิธีการตรวจสอบว่าเข้าข่ายทุจริตหรือไม่ นอกเหนือจากการตรวจสอบความเชื่อมโยงของรายชื่อผู้เขียนบทความแล้ว ต้องไปดูประวัติในการตีพิมพ์ผลงานที่ผ่านมาว่า ข้ามฟิวไปขนาดไหน หรือความก้าวหน้าของผู้วิจัยคนนั้นที่อาจจะเริ่มจากผู้เขียนคนไทย สุดท้ายแล้วพัฒนาขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งหรืออันดับสอง


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

logoline