svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สปสช.-กทม. ชวนคนกรุง ที่มีสิทธิบัตรทอง แต่ไม่มีรพ.ประจำ รีบลงทะเบียน

11 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เลขาธิการ สปสช.และรองผู้ว่าฯ กทม. ชวนคนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิบัตรทอง แต่ยังไม่มีรพ.ประจำ สามารถลงทะเบียนได้ตามคลินิก ระบุ หากไม่ถูกใจเปลี่ยนได้ 4 ครั้ง/ปี

11 ธันวาคม 2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสํานักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พร้อมคณะผู้บริหารจากสำนักอนามัย กทม. สปสช. เขต 13 กรุงเทพมหานคร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เยี่ยมชมคลินิกกล้วยน้ำไท สาขาลาดพร้าว 80 ซอยลาดพร้าว 80 กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นคลินิกชุมชนรูปแบบเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิรูปแบบใหม่ หรือ Model 5 ที่เป็นหน่วยบริการให้บริการประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในพื้นที่ กทม. และยังพร้อมเปิดให้ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ยังเป็น “สิทธิว่าง” ใน กทม. ได้ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากที่ สปสช. ยกเลิกสัญญาโรงพยาบาลเอกชน 9 แห่งในพื้นที่ กทม. เนื่องจากพบการเบิกจ่ายงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่ถูกต้อง ทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทองใน กทม. จำนวน 2.3 แสนราย กลายเป็น “สิทธิว่าง” คือ ยังไม่มีหน่วยบริการประจำ ซึ่งแม้ว่าผู้ที่มีสิทธิว่างใน กทม. จะสามารถเข้ารับบริการสุขภาพได้ที่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิทุกแห่ง ตามนโยบายยกระดับบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกที่ ในหน่วยบริการปฐมภูมิ แต่การมีหน่วยบริการประจำเป็นเรื่องที่ดีกว่า เพราะจะได้รับการดูแลที่ต่อเนื่อง โดยมีเจ้าภาพที่ชัดเจน

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯสปสช.และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

จนถึงขณะนี้ มีประชาชนมาลงทะเบียน เลือกหน่วยบริการต้นสังกัดแล้วประมาณ 3 หมื่นราย จึงอยากเชิญชวนประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองที่ยังเป็น “สิทธิว่าง” เข้ามาลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการ โดย สปสช. เปิดให้ประชาชนใน กทม. สามารถเลือกหน่วยบริการ หรือคลินิกเองได้ตามที่ตนเองพอใจ

“ตรงนี้ หากประชาชนเลือกหน่วยบริการประจำไปแล้ว แต่ไปใช้บริการแล้วรู้สึกไม่ถูกใจ สปสช. ก็ยังเปิดให้สามารถเปลี่ยนหน่วยบริการได้ถึงปีละ 4 ครั้ง โดยการลงทะเบียนและการเปลี่ยนหน่วยบริการ สามารถทำได้ผ่านโทรศัพท์มือถือ” นพ.จเด็จ กล่าวและกล่าวต่อ
 

สำหรับประชาชนที่สิทธิบัตรทองว่าง หรือยังไม่ได้ลงทะเบียนหน่วยบริการ เมื่อเจ็บป่วยก็ยังสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขได้ทั่วประเทศเช่นเดิม แต่หากมีหน่วยบริการต้นสังกัด ที่ได้ลงทะเบียนเอาไว้ จะช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ดูแลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยมากกว่า

ด้าน รศ.ดร.ทวิดา กล่าวว่า สปสช.และ กทม.ได้ร่วมกันพยายามที่จะอุดช่องว่าง ในการให้บริการสุขภาพกับประชาชนสิทธิบัตรทอง แต่ต้องยอมรับว่าหน่วยบริการต่างๆ รวมไปถึงโรงพยาบาลในสังกัด กทม. ไม่สามารถรองรับประชาชนได้ทั้งหมด จึงเกิดปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลมาช้านาน การพัฒนาระบบหน่วยบริการปฐมภูมิ ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กทม. กับ สปสช. ในครั้งนี้จึงเป็นสิ่งที่ดี

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาฯสปสช.และ รศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม.

โดยในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนเริ่มมีความเข้าใจ และมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพมากขึ้น และยังเข้าถึงข้อมูล ช่องทางในการเข้ารับบริการสุขภาพ ขณะเดียวกัน สปสช.มีการทำงานที่มีความยืดหยุ่น และเพิ่มหน่วยบริการไปยังร้านยาคุณภาพ หรือให้คลินิกในพื้นที่กรุงเทพฯ เข้ามาเป็นหน่วยบริการ ซึ่งมีโรงพยาบาลแม่ข่ายที่จะคอยสนับสนุนทางการแพทย์ หรือระบบการส่งต่อผู้ป่วย ซึ่งเป็นการเชื่อมระบบบริการสุขภาพ อย่างมีประสิทธิภาพ ระหว่างภาคประชาชน และภาครัฐ

นอกนี้ กทม.ยังดำเนินการสนับสนุน และทำงานร่วมกันกับหน่วยบริการปฐมภูมิในกรุงเทพฯ และโรงพยาบาลในสังกัดกทม. พัฒนาระบบการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) และเชื่อมต่อข้อมูลเข้ากับระบบของ สปสช. ที่หากมีการดูแลรักษาผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง จากหน่วยบริการปฐมภูมิมีความซับซ้อน จะมีบุคลากรแพทย์จากโรงพยาบาลเครือข่ายในสังกัด กทม. คอยสนับสนุนเพิ่มเติมในการดูแลผู้ป่วย ซึ่งระบบดังกล่าวจะเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ และเชื่อมั่นว่าจะทำให้ประชาชนกรุงเทพฯ ที่มีสิทธิบัตรทอง สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างมีคุณภาพ

ทั้งนี้ ประชาชนสิทธิบัตรทองว่างในพื้นที่ กทม.จำนวน 2 แสนราย สามารถลงทะเบียนเลือกหน่วยบริการประจำ ได้ 4 ช่องทาง ได้แก่

     1. แอปพลิเคชัน สปสช. เลือกเมนูลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการ

     2. ไลน์ สปสช. ไลน์ไอดี @nhso เลือกเมนู เปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเอง

     3. สายด่วน สปสช. โทร. 1330 กด 6

     4. ลงทะเบียนเปลี่ยนหน่วยบริการด้วยตนเองได้ที่ที่ทำการของ สปสช. ชั้น 2 อาคารบี ศูนย์ราชการฯ ถ.แจ้งวัฒนะ กทม. ตั้งแต่เวลา 08.00-16.00 น.

ทั้งนี้ สามารถตรวจสอบเครือข่ายหน่วยบริการที่สามารถเลือกลงทะเบียนได้ที่ เว็บไซต์ สปสช. 

อนึ่ง หน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการรูปแบบใหม่ มีศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็นหน่วยบริการประจำ (แม่ข่าย) จะมีเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ อย่างน้อย 1 แห่ง และสามารถให้บริการปฐมภูมิได้ครบตามเกณฑ์คุณสมบัติ โดยอาจมีเครือข่ายหน่วยบริการ ที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านระดับปฐมภูมิได้ กรณีเกินศักยภาพในการรักษาจะส่งผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลที่เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อ

อย่างไรก็ดี เนื่องจากเดิมคลินิกชุมชนอบอุ่น ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการประจำ/ปฐมภูมิ ต่อมาในปี 2563 สปสช. ยกเลิกสัญญาให้บริการสาธารณสุขกับคลินิกชุมชนอบอุ่น ส่งผลให้มีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวนมาก สปสช. จึงได้ปรับปรุงรูปแบบหน่วยบริการและเครือข่ายหน่วยบริการรูปแบบใหม่ โดยรูปแบบใหม่ ผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับบริการสาธารณสุขตามหน่วยบริการประจำ และหน่วยบริการปฐมภูมิ ภายในเครือข่ายเดียวกันได้ จึงส่งผลให้ประชาชนได้รับความสะดวก หยืดหยุ่นในการรับบริการเพิ่มมากขึ้น

4 ช่องทางตรวจสอบสิทธิบัตรทอง

วิธีย้ายหน่วยบริการรักษา

logoline