svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

โควิด-19 มาไกลจาก อู่ฮั่น ถึง โอมิครอน คนไทยเจอมาแล้วกี่สายพันธุ์

09 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชวนคอข่าวเนชั่นออนไลน์ ร่วมย้อนไทม์ไลน์ "โควิด-19" เปิดตัวตั้งแต่ "อู่ฮั่น" ยันถึง "วายร้ายโอมิครอน"  สายพันธุ์ใดระบาดในไทยมาบ้าง จุดจบของการระบาดจะมีหรือไม่ ต้องไม่พลาด

เป็นกระแสที่ผู้คนในสังคมให้ความสนใจอีกครั้ง กับสถานการณ์การระบาดของ "โควิด-19" ล่าสุด เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว ก็ได้มีการกลับมาระบาดอีกระลอก ซึ่งครั้งนี้เป็นการระบาดตามช่วงฤดูกาล ที่มีการคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว เพราะนอกจากจะเป็นช่วงเปิดเทอม ยังรวมไปถึงสภาพอากาศที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดการระบาดได้ง่าย เพราะเชื้อจะอยู่ได้นานมากขึ้น

 
การระบาดในครั้งนี้ ทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตในรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยสถานการณ์ล่าสุด โอไมครอน สายพันธุ์ BA.2.75 ได้ครองการระบาดในไทยแทนที่ BA.5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่ามีข้อมูลการแพร่เชื้อที่เร็ว ทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น ในวันนี้ ชวนคนไทย คอข่าวเนชั่นออนไลน์ ย้อนช่วงเวลาสะพรึ่ง ย้อนไทม์ไลน์โควิด-19 มีสายพันธุ์ไหนบ้าง ที่เข้ามาระบาดในประเทศไทยของเรา ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม อู่ฮั่น จนถึงสายพันธุ์ โอมิครอน หรือ โอไมครอน วายร้ายกลายพันธุ์ตัวล่าสุด

โควิด-19 มาไกลจาก อู่ฮั่น ถึง โอมิครอน คนไทยเจอมาแล้วกี่สายพันธุ์

มาเปิดประเด็น ย้อนเวลาไปดูอีกครั้ง มีโควิด-19 สายพันธุ์หลักๆ ชนิดใดบ้าง??

 

 "โควิด19" นั้นเริ่มมาจากการแพร่ระบาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมืองอู่ฮั่น ซึ่งมีข่าวออกมาว่าเกิดจากการติดเชื้อมาจาก ค้างคาว เกิดการแพร่ระบาดจากคนสู่คน จนกลายเป็นวงกว้าง และส่งต่อไปยังหลายประเทศ ซึ่งในประเทศไทยพบเชื้อครั้งแรกเมื่อต้นเดือนมกราคม ปี 2563 โดยเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีน เดินทางมาจากเมืองฮู่ฮั่น ต่อมาก็พบผู้ติดเชื้อคนแรกที่เป็นชาวไทย คือ คนขับรถแท็กซี่ อายุ 50 ปี

โควิด-19 มาไกลจาก อู่ฮั่น ถึง โอมิครอน คนไทยเจอมาแล้วกี่สายพันธุ์

สายพันธุ์ อู่ฮั่น (Serine)

พบครั้งแรกที่ เมืองอู่ฮั่น ประเทศจีน ในช่วงปลายปี 2562 และพบที่ไทยครั้งแรกในเดือนมกราคม ปี 2563 ซึ่งมาจากหญิงชาวจีนที่เดินทางมาจากอู่ฮั่น ประเทศจีน ซึ่งการแพร่เชื้อครั้งนี้ทำให้เกิดการติดเชื้อในหลายพื้นที่ต่างๆ และเกิดคลัสเตอร์ในจุดสำคัญๆ ไม่ว่าจะเป็น สนามมวยลุมพินี ราชดำเนิน และ จ.สมุทรสาคร

 

สายพันธุ์เบตา (B.1.351)

พบการระบาดครั้งแรกที่ ประเทศแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในประเทศไทยเดือนมกราคม ปี 2564 ซึ่งผู้ที่นำสายพันธุ์เข้ามาในประเทศไทย มาจากบุคคลที่เดินทางมาจากแทนซาเนีย โดยพบว่าเชื้อนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ไวขึ้น 50% จากสายพันธุ์ดั้งเดิม ถือเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะก่อให้เกิดอาการหนัก หากลงปอดจะทำให้จะทำให้เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก


สายพันธุ์อัลฟา (B.1.1.7)

พบการระบาดครั้งแรกที่สหราชอาณาจักร พบครั้งแรกในไทยเดือนเมษายน 2564 โดยการแพร่ระบาดเริ่มต้นที่ คลัสเตอร์ทองหล่อและแพร่กระจายไปเกือบทุกจังหวัด แต่สายพันธุ์นี้ไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไหร่ ผู้ที่ติดเชื้อสายพันธุ์นี้มีอาการไม่มากนัก ไข้ต่ำๆ ปวดตามร่างกาย แต่ยังรับกลิ่นได้ปกติ

 

สายพันธุ์เดลตา (B.1.617.2)

พบการระบาดครั้งแรกที่ประเทศอินเดีย โดยพบที่ไทยครั้งแรกเดือนพฤษภาคม 2564 จากคลัสเตอร์แคมป์คนงานหลักสี่ ก่อนที่จะเกิดการระบาดกระจายเป็นวงกว้างทั่วทุกพื้นที่ และกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในไทย ซึ่งสายพันธุ์นี้ถือว่าอันตรายมากในไทย เพราะส่งผลให้มีผู้ป่วยต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนมากถึงแม้ว่าจะได้รับวัคซีนครบโดสแล้วก็ตาม

 

สายพันธุ์ โอมิครอน หรือ โอไมครอน  

พบการระบาดครั้งแรกในแถบแอฟริกาใต้ พบครั้งแรกในไทยเดือนธันวาคม 2564 ซึ่งสายพันธุ์ โอไมครอน เป็นสายพันธุ์ที่ WHO ประกาศให้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล เพราะมีการกลายพันธุ์ส่วนโปรตีนหนามหลายตำแหน่ง ทำให้สามารถหลบหลีกภูมิต้านทานได้มากขึ้น มีการแพร่เชื้อได้เร็วขึ้น ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่เคยติดเชื้อแล้ว สามารถกลับมาติดเชื้อซ้ำได้อีก 

 

สายพันธุ์ โอมิครอน หรือ โอไมครอน นับเป็นสายพันธุ์มีการกลายพันธุ์มากที่สุด จนเกิดสายพันธุ์ย่อยมากมาย ซึ่งในไทยจะพบหลายสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเป็นหลัก ทั้ง BA.2, BA.4/BA.5 จนถึงสายพันธุ์ล่าสุด BA.2.75 ที่ตอนนี้ครองการระบาดแทนที่ BA.5 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยพบว่ามีการแพร่ระบาดที่ค่อนข้างเร็ว แพร่ได้ไว จนทำให้มีผู้ติดเชื้อกลับมาสูงขึ้น

 

โควิด-19 มาไกลจาก อู่ฮั่น ถึง โอมิครอน คนไทยเจอมาแล้วกี่สายพันธุ์

จากการคาดการณ์ของแพทย์หลายท่านที่เคยออกมาบอกว่า "โควิด-19" นั้น ถึงแม้จะลดการแพร่กระจายเป็นบางช่วง แต่ก็จะยังคงอยู่ และแพร่ระบาดตามฤดูกาลซึ่งทางประเทศไทยนั้น ได้มีการปรับมาตรการผ่อนคลายลง เมื่อเห็นว่า การแพร่ระบาดมีการลดลง จึงได้ปรับลดระดับ "โควิด19" จาก โรคติดต่อร้ายแรง เป็น โรคที่ต้องเฝ้าระวัง ในเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการศึกษาล่าสุด พบว่าประชากรไทยได้ติดเชื้อ โควิด19 แล้ว 60-70%


ถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการมากขึ้น แต่การแพร่ระบาดยังคงอยู่ และยังบอกไม่ได้ว่าจะมีจุดจบเมื่อไหร่ เพราะตัวไวรัสยังมีการกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ยังคงต้องมีการระมัดระวังตัวเอง การสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือ รวมไปถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ยังคงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นการเพิ่มภูมิต้านทานเพื่อรับมือกับเชื้อที่ยังคงแพร่ระบาด และหากติดเชื้อก็จะช่วยลดอาการจากหนักให้กลายเป็นเบาได้


 

logoline