svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

นายกฯ สั่งแก้ไขต้นตอปัญหาป้องกันเกิดเหตุซ้ำรอยกราดยิงหนองบัวลำภู

10 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกฯ สั่ง ระดมมาตรการป้องกันภัยสถานศึกษาทุกระดับ มอบ "ตรีนุช" เดินหน้าให้อาชีวะติดตั้ง "ประตู-หน้าต่างนิรภัยศูนย์เด็กเล็ก" พร้อม ให้ตำรวจเร่งปราบปรามผู้กระทำผิดยาเสพติด ติดตามนำผู้เสพมาเข้าบําบัด กำชับผู้ว่าฯ สร้างความเข้มแข็งเเก้ไขปัญหาในพื้นที่

10 ตุลาคม 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เร่งดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน ของ พล.อประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในการหามาตรการป้องกันและเฝ้าระวังเหตุร้ายภายในพื้นที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสอนเด็กปฐมวัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ

 

โดยกระทรวงศึกษาได้ให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ติดตั้งระบบประตูป้องกันภัยให้ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนสอนเด็กปฐมวัย ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และกระทรวงมหาดไทยทั่วประเทศ เพื่อคัดกรองบุคคลแปลกหน้าเข้า-ออกในพื้นที่   โดยให้ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวะ ในสังกัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ  ประสานกับหน่วยการจัดการศึกษาปฐมวัยในจังหวัด สังกัด สพฐ. เทศบาล องค์กรบริหารส่วนจังหวัด องค์กรบริหารส่วนตำบล และเอกชน สำรวจความต้องการจัดตั้งระบบป้องกันภัย ตามบริบทของแต่ละพื้นที่  โดยให้สาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ช่างเชื่อม ช่างก่อสร้าง ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างเมคคาทรอนิกส์ และช่างไฟฟ้า จัดทำและติดตั้งระบบป้องกันภัย

 

เบื้องต้น ได้ประสานให้วิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา เป็นจังหวัดต้นแบบนำร่องเพื่อใช้ทั่วประเทศ ในการออกแบบทดลองระบบป้องกันภัยให้กับนักเรียนเด็กเล็ก โดยมุ่งหวังเป็น ประตู-หน้าต่างนิรภัยศูนย์เด็กเล็กแบบครบวงจร ทั้งคุณภาพและความแข็งแรงมีระบบเตือนภัยภายใน  พร้อมกับมีกล้องตรวจจับพฤติกรรมเสี่ยงและเตือนไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทันที ซึ่งนายธนภัทร แสงจันทร์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา ได้เร่งดำเนินการออกแบบและจัดหาอุปกรณ์ในการดำเนินการ และคาดว่าต้นแบบจะออกมาให้ได้ภายในสัปดาห์หน้า

 

นายกฯสั่งเร่ง แก้ไขปัญหาที่ต้นตอกันเกิดเหตุซ้ำกราดยิงหนองบัวลำภู

น.ส.ทิพานัน กล่าวอีกว่า รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจ โดยนายกรัฐมนตรี ได้เตรียมระดมมาตรการเพื่อออกแบบให้สถานศึกษามีความปลอดภัยในทุกระดับ โดยเฉพาะกำลังพิจารณาแนวทางในการติดตั้งสัญญาณ SOS ขอความช่วยเหลือไปยังสถานีตำรวจในพื้นที่  เพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งเน้นย้ำการซักซ้อมวิธีการเอาตัวรอดจากการเผชิญเหตุร้าย เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียนมีทักษะสามารถปฏิบัติตามวิธีการที่ถูกต้อง เพื่อลดการสูญเสีย

 

ด้าน นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้ตำรวจเร่งรัดปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างเร่งด่วน แบบครบวงจรและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้สนองนโยบายนายกรัฐมนตรี ด้วยการเดินหน้าปราบปรามยาเสพติดเชิงรุก บูรณาการกับทุกภาคส่วน ทั้งฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สาธารณสุข เพิ่มความเข้มในการปราบปรามจับกุมผู้กระทำความผิดในพื้นที่

 

รวมทั้งให้มีการขยายผลและใช้มาตรการทางทรัพย์สิน ทั้งยึด อายัดทรัพย์คดียาเสพติด การฟอกเงิน ต่อผู้กระทำผิดทุกราย  รวมทั้งติดตามนำผู้เสพมาเข้ารับการบําบัด โดยเฉพาะในชุมชน สถานศึกษา สถานบริการและสถานประกอบการ จะสุ่มตรวจตามวงรอบ ปิดล้อมตรวจค้นชุมชนอย่างต่อเนื่อง ค้นหาผู้ติดยาเสพติดที่มีอาการทางจิตประสาทในพื้นที่ จัดทำฐานข้อมูลเพื่อพิจารณาจัดลําดับความรุนแรงของอาการ เพื่อนําเข้าบําบัดรักษา ค้นหาและนําผู้เสพ เข้าสู่กระบวนการบําบัดโดยสมัครใจโดยเร็ว

 

นายกฯสั่งเร่ง แก้ไขปัญหาที่ต้นตอป้องกันเกิดเหตุซ้ำกราดยิงหนองบัวลำภู

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำผู้บังคับบัญชาทุกระดับต้องลงไป ให้ขับเคลื่อนนโยบายตามที่ได้สั่งการลงไป รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบ และควบคุมความประพฤติของผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ให้ไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยเด็ดขาด หากพบการกระทําความผิด จะต้องดําเนินการทางกฎหมายอาญา ทางวินัย และการปกครองอย่างเฉียบขาดทุกราย ยืนยันว่ารัฐบาลเดินหน้าในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังมาโดยตลอด ทั้งนี้ ประชาชนสามารถช่วยกันแจ้งเบาะแสยาเสพติดมาได้ที่สายด่วน 1386 ซึ่งจะได้รับรางวัลนำจับด้วย โดยขอให้ประชาชนมั่นใจเรื่องความปลอดภัยเพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลข้อมูลของคนแจ้งเบาะแสได้รับความปลอดภัยอยู่แล้ว

 

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้ให้ กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการตามนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเสริมสร้างความเข้มแข็ง ให้การป้องกันและเเก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมอย่างยั่งยืน ผ่านกลไกการทำงานในทุกระดับและทุกพื้นที่ ภายใต้การนำของผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และภาคีเครือข่ายที่มีความตั้งใจ และ Passion ในการ Change for Good เพื่อสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ให้กับสังคมไทย ในการทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคง และนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกพื้นที่ลด Demand และ Supply ของยาเสพติด รวมถึงการมองผู้เสพหรือติดยาเสพติดเป็นผู้ป่วยยาเสพติดที่ต้องได้รับการบำบัดรักษาฟื้นฟู พร้อมทั้งพัฒนาทักษะและฝึกอาชีพ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตอย่างปกติสุขได้ในสังคม ถือเป็นการคืนคนดีสู่สังคม โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

นานอนุชาฯ กล่าวต่อ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญในการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังมาโดยตลอด โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบนโยบายให้กระทรวงยุติธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจังให้เกิดผลเป็นรูปธรรม กำหนดให้การปราบปรามยาเสพติดเป็นนโยบายเร่งด่วน และวาระแห่งชาติที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง ควบคู่กับการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่กำหนด รวมทั้งนายกรัฐมนตรีมีบัญชาให้ตำรวจเร่งรัดปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอย่างเร่งด่วน แบบครบวงจรและต่อเนื่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

 

โดยได้เน้นย้ำประเด็นสำคัญในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างยั่งยืน ยึดหลักมติที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติสมัยพิเศษว่าด้วยปัญหายาเสพติดโลก ค.ศ. 2016 ที่ได้มีมติในการแก้ไขปัญหายาเสพติดแนวใหม่ 3 แนวทาง คือ 1) ผู้เสพ คือ ผู้ป่วยที่ควรได้รับการบำบัดรักษาตามวิธีการทางสาธารณสุข 2) การนำพืชเสพติดมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ สาธารณสุข และส่งเสริมเป็นพืชเศรษฐกิจ และ 3) ผู้ค้ายาเสพติด ถือว่าเป็นอาชญากรที่จะต้องได้รับโทษตามพฤติการณ์การกระทำความผิด

 

รวมทั้งรัฐบาลได้ปรับปรุงกฎหมายยาเสพติด เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยมุ่งเน้นการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศที่สร้างความสมดุลระหว่างการปราบปรามยาเสพติด การป้องกันและการบำบัดรักษา ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงกฎหมายต่าง ๆ ได้อย่างสะดวก เข้าใจง่าย และปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการทำงาน เพื่อประโยชน์ในการบังคับกฎหมายอย่างเป็นระบบ สิ่งสำคัญคือมาตรการในการป้องกันผู้เสพรายใหม่ การสร้างการรับรู้เพิ่มภูมิคุ้มกันให้ตนเอง พร้อมทั้งส่งเสริมให้ผู้ที่ผ่านการบำบัดรักษายาเสพติดมีทักษะอาชีพ เพื่อที่จะหารายได้โดยสุจริตเพื่อใช้ในการดำรงชีพ ตลอดจนเพื่อให้การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดสามารถตอบสนองต่อความต้องการและความคาดหวังของประชาชนและสังคมได้ครบถ้วนในทุกมิติ

 

สำหรับผลการดำเนินงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ประจำปี 2565  รัฐบาล สำนักงาน ป.ป.ส. กระทรวงยุติธรรม เดินหน้าแก้ปัญหายาเสพติด ด้วยการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 24 ฉบับ มาเป็นฉบับเดียว คือประมวลกฎหมายยาเสพติด ซึ่งมีผลบังคับใช้ 9 ธ.ค. 2564 โดยจะเน้นอายัดทรัพย์ ซึ่งเมื่อมีกฎหมายใหม่ สามารถยึดทรัพย์ย้อนหลังได้ถึง 10 ปี ทำให้ปี 2565 สามารถบูรณาการยึดอายัดทรัพย์ของเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดได้ถึง 10,820 ล้านบาท และจากนี้ไปคาดจะสามารถยึดทรัพย์ได้มากขึ้นอีก

 

โดยในปี 2566 ตั้งเป้าหมายยึดทรัพย์คดียาเสพติดให้ได้มากกว่าเดิมถึง 10 เท่าที่ 100,000 ล้านบาท เพื่อเป้าหมายสุดท้าย คือ ลดความเดือดร้อนของประชาชนตามนโยบายรัฐบาล เพราะเมื่อมีกฎหมายใหม่จะทำให้มีหน่วยงานเข้ามาช่วยตรวจสอบย้อนหลังมากขึ้น อีกทั้งมีแนวทางการป้องกันยาเสพติดจากแหล่งผลิตรอบประเทศ โดยได้มีการประสานความร่วมมือประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา และลาว ทำให้มีการจับกุมผ่านเมียนมาได้จำนวนมากขึ้น รวมถึงยังได้มีการบูรณาการร่วมกับทหาร ทั้งทางบก น้ำ อากาศ และตำรวจ เพื่อช่วยเฝ้าระวังการลักลอบขนยาเสพติดเข้าประเทศด้วย

 

นายกฯสั่งเร่ง แก้ไขปัญหาที่ต้นตอกันเกิดเหตุซ้ำกราดยิงหนองบัวลำภู

 

ส่วนนโยบายการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 สำนักงาน ป.ป.ส. มีภารกิจสำคัญในด้านต่าง ๆ ได้แก่

 

1) ด้านการป้องกันยาเสพติด เน้นการพัฒนาหลักสูตรและกิจกรรมการป้องกันให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเสี่ยงเสพ ให้มีการสร้างการรับรู้ โดยบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนแบบถาวร เสริมสร้างการให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง กลุ่มเสี่ยงค้า เน้นถึงโทษที่ได้รับและการยึดทรัพย์ รวมทั้งการพัฒนาเครือข่ายเยาวชนระหว่างในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Youth Network on Drugs Prevention Program: YNDPP)

 

2) ด้านการปราบปรามยาเสพติด สืบสวนขยายผลเครือข่ายการค้ายาเสพติดและดำเนินการตามกฎหมายอย่างเข้มงวด โดยมีเป้าหมายยึดอายัดทรัพย์สินผู้มีส่วนเกี่ยวข้องไว้ที่ 100,000 ล้านบาท มุ่งเน้นคิดแบบมูลค่า (Value- Based Confiscation) ทำสำนวนให้มีคุณภาพ ขยายการยึดทรัพย์สินที่มีอยู่

 

3) ด้านการบำบัดรักษาผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด เน้นการบำบัดรักษาตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในระบบศาล และแก้ปัญหาผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติด

 

4) ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งได้มีความร่วมมือกับ 25 ประเทศ 4 องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อร่วมกันสกัดกั้นยาเสพติดและสืบสวนขยายผลเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ และเพื่อให้การทำงานยาเสพติดมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ได้มีการจัดตั้งศูนย์บูรณาการฐานข้อมูลด้านยาเสพติดแห่งชาติ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านยาเสพติดของประเทศอีกด้วย

logoline