svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"เลือกตั้ง66" แต้มต่อ"เพื่อไทย" โอกาสและความน่าจะเป็น ของคำว่า"รัฐบาล"

04 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โอกาสของ"พรรคเพื่อไทย"ในการเป็นรัฐบาล จากการประเมินกันในหมู่นักการเมือง และคนในแวดวงการเมือง รวมทั้งกลุ่มทุน เริ่มชัดว่า มีโอกาสสูงมาก ติดตามในเจาะประเด็นร้อน "โพลิกทิกส์พลัส"

โอกาสของ"พรรคเพื่อไทย"ในการเป็นรัฐบาล จากการประเมินกันในหมู่นักการเมือง และคนในแวดวงการเมือง รวมทั้งกลุ่มทุน เริ่มชัดว่า มีโอกาสสูงมาก 

โดยโอกาสที่ฝ่าย "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและแคนดิเดตนายกฯของ"พรรครวมไทยสร้างชาติ" จะได้รับชัยชนะ กวาด ส.ส.เข้ามาจำนวนไม่น้อยเกินไป และจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิม เพื่อตั้งรัฐบาลใหม่ เป็นรัฐบาล "ตู่ 3" นั้น มีน้อยกว่ามาก กูรูการเมืองหลายค่าย ประเมินตรงกันดังนี้ 

 

พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  บนเวทีประกาศตนเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ

1.เรื่องจำนวน ส.ส. ไม่มีทางสู้เพื่อไทยได้เลย ทั้งพรรคต่อพรรคแบบเดี่ยวๆ ( รวมไทยสร้างชาติ กับเพื่อไทย) และพรรคหลัก+พรรคพันธมิตร 

2.คาดหมายกันว่า เพื่อไทยชนะเลือกตั้งแน่ๆจุดต่างมีแค่จะ "แลนด์สไลด์"หรือ "แลนด์สลาย" เท่านั้น 

3.ความเชื่อนี้ทำให้เกิดข่าวลือต่างๆ นานา ที่จะเอื้อให้เกิดปรากฏการณ์ "ลุงตู่ได้กลับมา" ทำ"แฮตทริก"เป็นนายกฯรอบ 3 เช่น

-ไม่มีเลือกตั้ง => โอกาสน้อยมาก

-เลื่อนเลือกตั้งออกไป => มีข้อถกเถียงกันว่า กกต.มีอำนาจเลื่อนได้หรือไม่ และอะไรคือสาเหตุของการเลื่อน ข่าวลือมีมากมาย แต่จะจริงหรือไม่ ไม่มีใครทราบ 

-ลือกันไปถึงขั้นจะหยุดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราชั่วคราว เพื่อให้การเมืองอยู่ในมือขั้วอำนาจเดิม => เหตุผลเพื่ออะไร อธิบายสังคมได้หรือไม่ หรือจะมีการสร้างสถานการณ์อะไรให้เป็นไปแบบนั้น 

-มีอำนาจพิเศษ ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลเข้าทาง “บิ๊กตู่” 

จะเห็นได้ว่า โอกาสที่ “บิ๊กตู่” จะกลับมาทำ “แฮตทริก” ต้องมีปาฏิหาริย์ทางกฎหมาย หรือปาฏิหาริย์ที่เหนือธรรมชาติการเมืองปกติเท่านั้น 

ประเด็นต่อมาที่ "กูรูการเมือง" นำมาวิเคราะห์ถึงโอกาสของเพื่อไทยในการเลือกตั้งปี 66 ก็คือ สาเหตุที่เพื่อไทยไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ในปี 62 แม้จะได้ ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 ก็ตาม 

1."พรรคไทยรักษาชาติ"ถูกยุบก่อนเลือกตั้ง ทำให้จำนวน ส.ส.ที่ "แตกแบงก์พัน" ออกไป , หายไปหลักร้อย หรือเกือบร้อย 

2.เพื่อไทยเองไม่ได้ส่ง 100 เขต คือส่งแค่ 250 เขต จาก 350 เขต และได้กลับมา 136 เขต  แม้จะได้ ส.ส.มาเท่านี้ แต่ก็คิดเป็นร้อยละ 54.4 ของจำนวนเขตที่ส่ง ถือว่าเกินครึ่ง

 

"เลือกตั้ง66" แต้มต่อ"เพื่อไทย" โอกาสและความน่าจะเป็น ของคำว่า"รัฐบาล"

3."เพื่อไทย"เจอระบบการเลือกตั้งที่ไม่คุ้นเคย "บัตรใบเดียว" กลายเป็น "โอเวอร์แฮงก์" ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย ทำให้จำนวน ส.ส.รวมอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำลงไปอีก ถ้าเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ

-ระบบการเลือกตั้งทำให้เกิดพรรคเล็ก 1 เสียง 2 เสียง หรือต่ำกว่า 5 เสียงจำนวนมาก กลายเป็นฐานให้พลังประชารัฐตั้งรัฐบาลได้ โดยเฉพาะ "พรรคเล็ก 1 เสียง" ที่เรียกกันว่า "พรรคเล็กเอื้ออาทร"

4. พรรคพันธมิตรฝ่ายเดียวกันที่เรียกตัวเองว่า "พรรคประชาธิปไตย"รวมเสียงแล้วไม่ถึง 250 เสียง หรือเกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร 

-ฝั่ง "ลุงตู่" รวมเสียงได้ก่อน จึงได้ตังรัฐบาลได้ 

-พรรคแทงกั๊ก ไม่ประกาศว่าอยู่ฝ่ายประชาธิปไตยชัดเจน (ยกเว้นประชาธิปัตย์ที่เปลี่ยนหัวหน้าพรรคหลังเลือกตั้ง) พากันเข้าร่วมรัฐบาลทั้งหมด 

4 มี.ค.66 ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าตรวจอาการปวดบวมที่มือด้านขวา แพทย์เข้าเฝือกอ่อนให้ และให้พักดูอาการ งดภารกิจไปต่างจังหวัด 5-7 วัน

5.การมี ส.ว.250 เสียงอยู่ในมือ เป็น "แต้มต่อ" ของ "3ป." และพลังประชารัฐ ทำให้พรรคการเมืองต่างๆ ไหลมาจับขั้วด้วย เพราะมี ส.ว.รอหนุน เมื่อได้เสียง ส.ส.เกิน 250 เพียงเล็กน้อย ก็จองเก้าอี้นายกฯได้เลย และตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ 

มาหนนี้"เพื่อไทย"สรุปบทเรียน และไม่บุ่มบ่ามแตกแบงก์พัน โดยพรรคที่แตกไปก็ไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร แต่พยายามดึงทุกคน ทุกกลุ่มก๊วน กลับมารวมกันเป็นพรรคใหญ่ 

 

เงื่อนไขที่จะทำให้เพื่อไทยชนะเลือกตั้ง ก็คือ 

 

1.ผลักดันให้กติกาการเลือกตั้งกลับมาเป็น "บัตร 2 ใบ" ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นสูตรถนัด "พรรคชินวัตร" ไม่ว่าจะใช้ชื่ออะไร ประสบชัยชนะมาทุกครั้ง 

2.ระวังอย่างเคร่งครัดไม่ให้ถูกยุบพรรค หรือสร้างเงื่อนไขให้เกิดการยุบพรรค 

3.พรรคเล็ก 1 เสียง หรือต่ำกว่า 5 เสียง น่าจะเหลือน้อยมาก หรือสูญพันธุ์ ทำให้ไม่มีปรากฏการณ์พรรคเล็ก 10 กว่าพรรคไปหนุนตั้งรัฐบาลเหมือนปี 62 

4.ส.ว.อ่อนแรงลงไประดับหนึ่ง 

5.พรรคที่เรียกตัวเองว่า "ฝ่ายประชาธิปไตย" มีคะแนนนิยมสูงกว่าฝ่าย "ลุงตู่" กับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมล้วน"แทงกั๊ก"ไม่ยอมเลือกข้าง ยกเว้น "รวมไทยสร้างชาติ" หรือ "พรรคลุงตู่" เท่านั้น ซึ่งสถานะก็ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลเดิมด้วย 


แต่ประเด็นที่น่าสนใจสำหรับการเมืองไทยก็คือ แม้พรรคการเมืองอย่าง"พรรคเพื่อไทย"จะชนะเลือกตั้ง ก็ไม่ได้การันตีว่าจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเสมอไป แต่วันนี้ "กูรูการเมือง" จากหลายค่ายเห็นตรงกันว่า จุดอ่อนหรือเงื่อนไขที่จะทำให้เพื่อไทยไม่ได้ตั้งรัฐบาล เหลือน้อยเต็มที 

"เลือกตั้ง66" แต้มต่อ"เพื่อไทย" โอกาสและความน่าจะเป็น ของคำว่า"รัฐบาล"

ที่สำคัญปาฏิหาริย์ทางกฎหมายใช้ไปเยอะแล้ว อาจจะหมดคลังและหมดความขลังแล้วก็ได้ 

1.ขั้วการเมืองที่จะตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้ ต้องรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น คือได้ ส.ส.รวมกันเกิน 250 เสียง 

เพราะภารกิจแรกหลังตั้งรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะมีรัฐบาลใหม่ราวๆ เดือน ก.ค.- ส.ค.66 คือ เร่งจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

ถ้ารัฐบาลไม่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ย่อมไม่สามารถทำให้งบผ่านได้ ถ้างบถูกคว่ำ ต้องรับผิดชอบด้วยการลาออก

ส่วนการแถลงนโยบาย ถ้าไม่ผ่าน แม้จะเป็นประเพณีปฏิบัติว่ารัฐบาลต้องลาออก (เพราะแถลงนโยบายยังไม่ผ่าน จะบริหารได้อย่างไร) แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้มีเขียนเอาไว้ (มีเขียนในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517) ก็อาจ "ดื้อตาใส" ไปได้ แต่ถ้างบถูกคว่ำ อยู่ไม่ได้แน่ๆ เพราะงบไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ 

ฉะนั้นการจะตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย แล้วให้ ส.ว.ร่วมโหวตชิงเก้าอี้นายกฯมาครองก่อนเพื่อ "เคาะกะลา" ให้ ส.ส.พรรคอื่นตามไป แม้จะทำได้ ก็บริหารประเทศต่อไม่ได้ เนื่องจากงบไม่ผ่าน ก็ต้องล่มตั้งแต่แรก 

 

"เลือกตั้ง66" แต้มต่อ"เพื่อไทย" โอกาสและความน่าจะเป็น ของคำว่า"รัฐบาล"

2.สูตรการ "ซื้องูเห่า" หลังเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาล เกิดขึ้นยาก เนื่องจาก 

-เพิ่งผ่านการเลือกตั้งมาสดๆ ร้อนๆ ใครย้ายฝั่ง ย้ายค่าย จะตอบประชาชนอย่างไร 

-การซื้อ"งูเห่า" ทำได้ยาก เพราะต้องเข้าใจว่า "งูเห่า" ที่เลื้อยเพ่นพ่านอาละวาดหนักในสภาชุดที่กำลังจะหมดวาระ มาแผลงฤทธิ์ราวๆ ปีที่ 2 ของสภาแล้ว ยกเว้นการย้ายพรรคเพราะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เปิดช่อง เช่น ยุบพรรคอนาคตใหม่ 

พิธา  ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลลงพื้นที่หาเสียง

3. เสียง ส.ส.ระหว่างฝ่ายที่เรียกตัวเองว่า "ประชาธิปไตย" กับอีกฝ่าย น่าจะห่างกันมากกว่าปี 62 ไม่ปริ่มน้ำจนทำให้เกิดการพลิกขั้ว หรือสร้างแต้มต่อทางการเมืองได้ 

4.พรรคก้าวไกลจะโหวตให้พรรคเพื่อไทย แม้ตัวเองไม่ได้ร่วมรัฐบาล เพราะ

-ปี 62 เพื่อไทยโหวตให้ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" เป็นนายกฯ (ทั้งๆ ที่เพิ่งเข้ามาเล่นการเมืองสมัยแรก) แม้จะพ่ายแพ้ก็ตาม

 -จุดยืนก้าวไกลไม่มีทางโหวตให้ "พล.อ.ประยุทธ์" กลับมาเป็นนายกฯอีก เลวร้ายสุดคืองดออกเสียง แต่เชื่อกันว่าจะโหวตหนุนให้แคนดิเดตของเพื่อไทยเป็นนายกฯไปเลย เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. และหยุดอำนาจ 3ป. 

นี่คือแต้มต่อแบบสุดๆ ของพรรคเพื่อไทยที่"กูรูการเมือง "  ประเมินกัน ณ วันนี้ ว่าเพื่อไทยน่าจะมีโอกาสตั้งรัฐบาลได้ ไม่ว่าจะแลนด์สไลด์หรือไม่ก็ตาม มีเพียงเงื่อนไขเดียวเพื่อลดความเสี่ยงเรื่องพลิกขั้วของอีกฝ่าย คือหากไม่แลนด์สไลด์ , ต้องได้ ส.ส.ข้ามเส้น 200 เสียง

 

"เลือกตั้ง66" แต้มต่อ"เพื่อไทย" โอกาสและความน่าจะเป็น ของคำว่า"รัฐบาล"

logoline