svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

เส้นทางเลือดสู่การเลือกตั้งเมียนมา 2023 "ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"

14 กุมภาพันธ์ 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การประกาศให้การเลือกตั้งเป็นทางลงจากอำนาจของรัฐบาลทหารมักจะถูกใช้ในหลายประเทศแต่ก็ไม่ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จในทุกกรณี ติดตามเจาะประเด็น โดย "ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"

เงื่อนไขของการรัฐประหารก่อให้เกิดการต่อต้านและความรุนแรงใน หลากหลายรูปแบบแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับสัดส่วนและหุ้นส่วนในอำนาจของประเทศนั้น 

 

ในกรณีของ"เมียนมา"สงครามกลางเมืองกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ยืดเยื้อมาเป็นระยะเวลา 70 กว่าปี ผนวกกับการลุกฮือขึ้นต่อต้านในยุคใหม่ที่กลายเป็นสงครามสองสงครามซ้อนทับกันนั่นคือ "สงครามกลางเมือง" ว่าด้วยความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์และสงครามกลางเมืองว่าด้วยการปฏิวัติ ซึ่งมีจุดมุ่งหมายขับไล่กองทัพออกไปจากการเมือง ทั้งสองสงครามนี้มีจุดเด่นที่สำคัญสะท้อนได้ว่าทางออกของความขัดแย้งในยุคใหม่ ไม่สามารถที่จะแก้ไขด้วยการเลือกตั้งและและหากแข็งขืนจัดการเลือกตั้งต่อไป จะทำให้การเลือกตั้งคือการปูพื้นฐานและขยายเส้นทางออกไปสู้ความขัดแย้งใหม่ที่ไม่รู้จบ!!!

ในอีกด้านหนึ่ง การเลือกตั้งที่ฝ่ายกองทัพและรัฐบาลทหารพยายามสร้างขึ้นมานั้นยังมีความน่าสนใจอีกเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะ "การผนวกรวมกฎหมายว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้ายและการปราบปรามองค์กรนอกกฎหมายเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกฎหมายว่าด้วยการลงทะเบียนพรรคการเมือง"  ที่มีความสนใจในการเลือกตั้ง

 

ทั้งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการห้ามพรรคการเมืองหรือกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านฝ่ายรัฐบาลมาจดทะเบียนพรรคการเมือง รวมทั้งการออกข้อกำหนดว่าด้วยการควบคุมเส้นทางการเงินของพรรคการเมือง ซึ่งในประเด็น 2 ข้อข้างต้นนี้ คือการออกกฎระเบียบสกัดกั้นฝ่ายต่อต้านเป็นการเฉพาะ และเป็นการบังคับใช้กฎหมายต่อเนื่องจากการปราบปรามผู้สร้างความไม่สงบภายในประเทศ

 

ในเชิงหลักการแล้ว การเลือกตั้งมักจะถูกตั้งความหวังไว้ว่าจะต้องเป็นการเลือกตั้งที่เปิดเสรี ยุติธรรมและเปิดกว้างให้ทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งได้อย่างหลากหลาย การผนวกรวมกฎหมายต่อต้านการก่อการร้ายกับกฎหมายการเลือกตั้งของเมียนมาจึงเป็นการเริ่มต้นแบบผิดขั้นตอนและไม่ก่อให้เกิดการยุติความขัดแย้งแต่ประการใด

ในแง่ของกระบวนการสันติภาพ การใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการยุติความขัดแย้งนั้นมักจะเป็นเครื่องมือชิ้นสุดท้ายภายหลังที่มีการเจรจาและสร้างข้อตกลงหยุดยิงที่เกี่ยวข้องเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ในกรณีของเมียนมานั้นความขัดแย้งได้เกิดขึ้นและรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั่วทั้งประเทศ การเจรจาใดๆหรือแม้แต่กระทั่งการเข้าไปทำหน้าที่ของผู้แทนพิเศษของอาเซียนเองก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าแม้แต่น้อย

 

โดยเฉพาะประเด็นการหยุดยิง นอกจากนั้นแล้วหากพิจารณาบริบทของเมียนมาเองการเลือกตั้งอาจจะนำพาไปสู่สิ่งที่เลวร้ายมากกว่าเดิมโดยเฉพาะการออกกฎหมายสกัดฝ่ายตรงกันข้ามที่กล่าวถึงในขั้นต้น นอกจากจะทำให้ฝ่ายตรงกันข้ามไม่สามารถสมัครลงรับการเลือกตั้งแล้ว ยังก่อให้เกิดการต่อต้านการเลือกตั้งต่อเนื่อง

 

การมองว่าการเลือกตั้งคือการ สืบทอดอำนาจของกองทัพ ปรากฏการณ์ต่อต้านการเลือกตั้งในทางปฏิบัติจึงเกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่นับตั้งแต่การโจมตีสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง การก่อกวนการเก็บรายชื่อจำนวนผู้มีสิทธิ์ออกเสียงการเลือกตั้งของฝ่ายรัฐ และได้อนาคตเองฝ่ายต่อต้าน ยังวางแผนในการบอยคอตหรือรณรงค์ให้ประชาชนไม่ออกเสียงไปเลือกตั้ง ด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย

 

บริบทดังกล่าว จึงอาจจะทำให้เห็นภาพในอนาคตได้ว่าหากรัฐบาลยังแข็งขืน ใช้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการยุติความขัดแย้งไปอนาคตของเมียนมาจึงไม่ได้เดินก้าวออกไปสู่อนาคตที่ดี แต่คือการเดินเข้าไปสู่อนาคตที่ไร้ความหวังมากยิ่งขึ้น
 

ในอีกด้านหนึ่ง กองทัพเมียนมาและรัฐบาลทหารก็ยังกังวลใจอยู่เช่นเดียวกัน ว่าการเลือกตั้งในอนาคตจะสามารถบรรลุผลตามความต้องการของตนเองได้หรือไม่ จึงตัดสินใจขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายควบคุมสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีก 6  เดือน ซึ่งแต่เดิมจะต้องถูกยุติภายในวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา

 

แต่การขยายออกไปนั้น หากมองในแง่ยุทธศาสตร์แล้ว คือการสร้างความมั่นใจว่าตัวเองสามารถควบคุมเสถียรภาพ และพื้นที่ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ผลกระทบที่สำคัญของการสร้างความมั่นใจดังกล่าวนี้ นั่นก็คือ กระบวนการปราบปรามและทำลายฝ่ายตรงข้ามจะดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งจำนวนผู้เสียชีวิต ผู้ถูกทรมานในสงครามกลางเมืองย่อมเพิ่มขึ้นมากมายด้วยเช่นเดียวกัน

 

ท่าทีของอาเซียนต่อไปในอนาคตจึงไม่ได้เป็นเพียงการพยายาม ทำให้การยุติความรุนแรงในเมียนมาเกิดขึ้นแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากแต่ยังต้องชี้ชวนให้เมียนมาเห็นได้ว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทางออกแรกและเป็นทางออกสำคัญ แต่ทางออกอื่นควรได้รับการปฏิบัติก่อน โดยเฉพาะการยุติการใช้ความรุนแรงหรือทำให้การเจรจาหยุดยิงนั้นบรรลุผล

 

นอกจากนั้นแล้ว หากต่อไปในอนาคต ท่าทีของประเทศมหาอำนาจ กลุ่มอาเซียน หรือแม้แต่กระทั่งประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะประเทศไทยเองยอมรับการเลือกตั้ง สภาพการณ์จะกลับกลายเป็นสิ่งตรงกันข้ามนั่นก็คือ กลุ่มอาเซียนและประเทศเพื่อนบ้านจะกลายเป็นประเทศที่สนับสนุนการใช้ความรุนแรง และในทางเลวร้ายที่สุดก็จะกลายเป็น "กลุ่มประเทศที่สนับสนุนการก่ออาชญากรรมสงคราม" ไปโดยปริยาย 
    
 

logoline