svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

ความท้าทายของ"อินโดนีเซีย" กับวิกฤต"เมียนมา"โดย"ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"

16 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความท้าทายของ"อินโดนีเซีย" ย่อมปรากฏอยู่ในรูปแบบของฐานะที่เรียกได้ว่า เป็นทั้ง หนังหน้าไฟและเป็นทั้งหน่วยทะลวงฟัน ของอาเซียนในการยุติความรุนแรงในเมียนมา ติดตามในเจาะประเด็น โดย "รศ.ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร"

การก้าวขึ้นมาสู่การเป็นประธานอาเซียนของประเทศอินโดนีเซียในปีนี้มาพร้อมกับความท้าทายในการแก้วิกฤตสถานการณ์เมียนมา โดยเฉพาะการทำให้ข้อตกลง 5 ประการของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนในการเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาแก้ไขปัญหาวิกฤสงครามกลางเมืองภายในประเทศให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม

 

ตลอดระยะเวลาวิกฤตการสองปีที่ผ่านมาจะพบว่าบทบาทของอินโดนีเซียมีความกระตือรือร้นในการกดดันให้ประเทศเมียนมายอมรับข้อตกลงของอาเซียน อย่างไรก็ตามวิกฤตการณ์หนึ่งที่อินโดนีเซียจะต้องตระหนัก กับสิ่งที่เกิดขึ้นในเมียนมานั้นก็คือ ภาวะการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลทหารกับฝ่ายต่อต้านนั้นมีมิติการแข่งขันของประเทศมหาอำนาจปรากฏขึ้นมาเป็นระยะ

 

ความท้าทายของ\"อินโดนีเซีย\" กับวิกฤต\"เมียนมา\"โดย\"ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร\"

 

ทั้งนี้ อินโดนีเซียก็ทราบดีว่า ในกรณีของวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทุกประเทศมหาอำนาจใช้แนวนโยบาย อินโดแปซิฟิก หรือแม้แต่กระทั่งการทำให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งในการสร้างสัมพันธ์ในทุกมิติโดยเฉพาะการขยายขอบเขตความร่วมมือด้านความมั่นคง จากลักษณะที่เกิดขึ้นในข้างต้นนี้การเป็นผู้นำ อาเซียนของอินโดนีเซียในการแก้ไขวิกฤตการณ์เมียนมาจึงไม่ใช่เฉพาะการทำให้ความรุนแรงในสงครามกลางเมืองยุติลงแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้นแต่ยังหมายความว่าไม่ทำให้เกิดแนวร่วมการสร้างสงครามเย็นขึ้นอีกครั้งใหม่ในพื้นที่ของเมียนมาโดยใช้กลไกของอาเซียนเป็นเครื่องมือ

การตอกย้ำบทบาทของอินโดนีเซียโดยเฉพาะการเน้นหลักการและค่านิยมร่วมกันของอาเซียน ทั้งในเรื่องของหลัก นิติธรรม ธรรมาภิบาล หลักการประชาธิปไตยและรัฐบาลที่มาพร้อมกับการปกครองโดยรัฐธรรมนูญนั้น ย่อมต้องตระหนักให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า แรงกลไกขับเคลื่อนของสงครามกลางเมืองในปัจจุบันของเมียนมานั้นมีความต้องการการแทรกแซงจากประเทศมหาอำนาจ แม้ว่าความต้องการทางด้านมนุษยธรรมเป็นจุดประสงค์หลัก

 

ความท้าทายของ\"อินโดนีเซีย\" กับวิกฤต\"เมียนมา\"โดย\"ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร\"

แต่ในอีกด้านหนึ่งอินโดนีเซียยังต้องตระหนักด้วยอีกเช่นกันว่าความต้องการสนับสนุนทางด้านอาวุธเพื่อโค่นล้ม รัฐบาลทหารยังกลายเป็นอีกปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่อาเซียนเองจะต้องตระหนักและต้องรู้ในเนื้อแท้ว่า การสร้างศักย์สงครามในการต่อสู้ของสงครามกลางเมืองนั้นมิใช่เฉพาะการให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม แต่หากต้องการให้เกิดการเจรจาในมิติของความมั่นคงระหว่างประเทศแล้วจะพบว่าการแทรกแซงความขัดแย้งในประเทศใดประเทศหนึ่งหากต้องการให้เกิดการเจรจากันเพิ่มศักยภาพสงครามในสงครามกลางเมืองย่อมมีความต้องการหรือจำเป็นเช่นเดียวกัน

แฟ้มภาพ  สถานการณ์สู้รบภายในเมียนมามีผลกระทบต่อชายแดนไทย

 

ในประเด็นดังกล่าวนี้จึงทำให้อาเซียนตกอยู่ภายใต้ข้อถกเถียงหลักว่า จะสร้างสมดุลทำให้เกิดศักย์สงครามกลางเมืองได้อย่างไร หากในอีกด้านหนึ่งมีความจำเป็นต้องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแต่ในความเป็นจริงแล้ว ยังต้องการการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนทางด้านอาวุธด้วย โดยเฉพาะข้ออ้างสำคัญว่าในปัจจุบัน ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเมียนมาถูกโจมตีด้วยเครื่องบินอย่างหนักและสิ่งหนึ่งที่จะสามารถสกัดการโจมตีด้วยเครื่องบินได้คือระบบการต่อสู้ป้องกันทางอากาศหรือแม้แต่กระทั่งการมีจรวดต่อสู้อากาศยาน ซึ่งจะต้องได้รับความช่วยจากภายนอกประเทศ

 

อาจกล่าวได้ว่ากระแสต้องการการแทรกแซงจากนานาชาติย่อมมาพร้อมกับความต้องการได้รับการสนับสนุนทางด้านอาวุธซึ่งในประเด็นดังกล่าวนี้อาเซียนจึงต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างยิ่งและอินโดนีเซียคือตัวแทนของอาเซียนที่จะต้องสร้างให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า การให้ความช่วยเหลือหรือแทรกแซงเมียนมานั้นจะต้องปราศจากการสร้างมิติพื้นที่ของสงครามเย็นขึ้นมาใหม่ แต่ในการสกัดกั้นไม่ทำให้เกิดสงครามเย็นนี้

 

ย่อมหมายความว่า "บทบาทของอาเซียนจะต้องป้องกันไม่ให้เกิดทุ่งสังหาร" เกิดขึ้นในเมียนมาด้วยเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการปิดล้อมสังหารหมู่ประชาชนทั้งในพื้นที่เขตเมือง พื้นที่ชนบท รวมทั้งพื้นที่ ที่ถูกปกครองโดยกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบันในกรณีของทุ่งสังหารยุคใหม่ในเมียนมานี้อาจจะพบเห็นได้จากปรากฏการณ์ทั้งในพื้นที่ของเขตสะกายและเขตมะกวยซึ่งประชาชนถูกโจมตีโดยเครื่องบินอย่างต่อเนื่อง

 

สถานการณ์ดังกล่าวนี้จึงเป็นเหตุสำคัญจะต้องทำให้อินโดนีเซียในฐานะของประธานอาเซียนจะต้องตระหนักว่า การกดดันเมียนมาให้ดำเนินนโยบาย ตามข้อตกลงของอาเซียนจะต้องผนวกรวม การยุติการสังหารหมู่ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ทำให้เกิดการยุติความรุนแรง และหากต้องการสร้างความกระจ่างชัด ให้เพิ่มเติมขึ้นไปอีก นั่นย่อมหมายความว่า อาเซียนจะต้องยกระดับตัวชี้วัด ว่า การโจมตีเป้าหมายพลเรือนโดยเฉพาะการใช้เครื่องบินโจมตีสังหารหมู่ประชาชน การเผาบ้านเรือนประชาชนรวมทั้งการปล้นสะดมประชาชน โดยกองทัพนั้นจะต้องสามารถถูกตรวจสอบได้หรือในหลายปฏิบัติจะต้องถูกระงับ


ในอีกด้านหนึ่งหากอินโดนีเซียต้องการสร้างคณะผู้แทนการเจรจา หรือตัวแทนพิเศษของอาเซียนในการติดตามความคืบหน้าการปฏิบัติตามนโยบายของอาเซียนของเมียนมาแล้ว ตัวแทนคณะดังกล่าวจะต้องสามารถสร้างความกระจ่างในระดับท้องถิ่นให้ชัดว่าสามารถเข้าถึงในทุกพื้นที่หรือแม้แต่กระทั่งสามารถเข้าไปตรวจสอบการใช้ความรุนแรงได้ในหลายระดับ และจะต้องพิสูจณ์ว่าตัวแทนของอาเซียนเองไม่ได้เป็นตัวแทนของความเงียบงัน หรือแม้กระทั่งตัวแทนของพิธีการทูตเท่านั้น หากแต่ยังต้องหมายถึงการเป็นตัวแทนในการระงับยับยั้งการใช้ความรุนแรงเพื่อก่อให้เกิดการสร้างทุ่งสังหารรูปแบบใหม่ในเมียนมาด้วย

แฟ้มภาพ  การสู้รบชนกลุ่มน้อยในเมียนมา

หากพิจารณาอย่างรอบด้าน ความท้าทายของอินโดนีเซีย ย่อมปรากฏอยู่ในรูปแบบของฐานะที่เรียกได้ว่า เป็นทั้ง "หนังหน้าไฟและเป็นทั้งหน่วยทะลวงฟัน" ของอาเซียนในการยุติความรุนแรงในเมียนมา ซึ่งในอีกด้านหนึ่งนั่นก็หมายความว่าไม่ทำให้ความรุนแรงของสถานการณ์ในเมียนมาลุกลามสะเทือนความมั่นคงของอาเซียน อินโดนีเซียจึงต้องตอบโจทย์คำถามสำคัญที่ระบุไว้ในข้างต้นนั่นก็คือ ต้องทำให้บทบาทของอาเซียนทำให้เกิดการยุติการโจมตีพลเรือนที่ออกมาในรูปแบบของทุ่งสังหาร และหากไม่สามารถยุติสถานการณ์ในข้างต้นได้แล้ว ความต้องการการช่วยเหลือทางด้านอาวุธของฝ่ายต่อต้านเมียนมาอาจจะกลายเป็นปรากฏการณ์สะท้อนกลับที่จะย้อนมากดดันประเทศอาเซียนเองในอนาคต  
 

logoline