svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เจาะประเด็นร้อน

"ที่ปรึกษานายกฯ"ขบวนสุดท้าย"นายกฯ"จัดให้ สมนาคุณรทสช."เลือกตั้ง66"

09 มกราคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่ค่อยปรากฎเท่าไหร่ การทำงานของผู้นำประเทศด้วยการลงนามแต่งตั้ง"ที่ปรึกษานายกฯ"สามฉบับรวดในช่วงใกล้เข้าสู่ฤดูกาล"เลือกตั้ง66" แถมเป็นวันเดียวกับที่นายกฯไปเปิดตัวสังกัด "พรรครวมไทยสร้างชาติ" ติดตามในเจาะประเด็นร้อน

9 มกราคม 2566  ไม่เพียงแต่เป็นวันราชาฤกษ์ตามที่ "พล.อ.ประยุทธ์​  จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม วางกำหนดการ ก้าวเท้าเข้าสังกัด "พรรครวมไทยสร้างชาติ" อย่างเป็นทางการ 


หากแต่ ยังเป็นวันที่ "พล.อ.ประยุทธ์" ลงนามในคำสั่งสำนักนายกฯถึงสามฉบับรวด 

 

บรรยากาศ การเปิดตัว พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกฯในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


ได้แก่ คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 3/2566 แต่งตั้ง"นายชัชวาลล์ คงอุดม" เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย 

 

คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 4/2566 แต่งตั้ง "นายชุมพล กาญจนะ" เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย 

 

และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 5/2566 แต่งตั้ง"นายเสกสกล อัตถาวงศ์"เป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการให้คำปรึกษาและพิจารณาเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535 มาตรา 4 ข้อ 8 ....กำหนดตำแหน่ง"ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี" จำนวนอัตรา มีได้ทั้งสิ้น 5 คน เช่นเดียวกับ ที่ปรึกษารองนายกฯ มีได้ 5 คน ที่ปรึกษารมต.สำนักนายกฯ มีได้ 5 คน เช่นกัน 

 

"ตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ" มีอัตราเงินเดือน 57,660 บาท บวกเงินประจำตำแหน่ง 15,000 บาท ศักดิ์และสิทธิ์หมายรวมไปถึงการได้รับพิจารณาเสนอชื่อรับพระราชทานเครื่องราชฯ อีกด้วย 

 

รัฐบาล"พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี เคยแต่งตั้ง"ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี"  ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการการเมือง พ.ศ. 2535  ไปแล้ว 1 คน นั่นคือ " นายพีระพันธุ์  สาลีรัฐวิภาค " แต่ต่อมา นายพีระพันธุ์ ได้ลาออกเพื่อไปรับตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี   ในขณะที่ นายกฯลงนามคำสั่งสำนักนายกฯวันนี้  กลับเป็นคำสั่งแต่งตั้งที่ปรึกษานายกฯ ตาม"พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดินพ.ศ.2534" ประหนึ่งเป็นที่ปรึกษานายกฯส่วนตัว ไม่มีอัตราเงินเดือน 

\"ที่ปรึกษานายกฯ\"ขบวนสุดท้าย\"นายกฯ\"จัดให้ สมนาคุณรทสช.\"เลือกตั้ง66\"

ก่อนหน้านี้  "พล.อ.ประยุทธ์" ได้ลงนามแต่งตั้ง "นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการการเมือง ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์โยกย้ายสลับตำแหน่ง ด้วยการให้"ดิสทัต โหตระกิตย์"  ลาออกจากเลขาธิการนายกฯ และให้"พีระพันธุ์" ลาออกจากที่ปรึกษานายกฯขึ้นไปดำรงตำแหน่ง"เลขาธิการนายกฯ"แทน  ส่วน"ดิสทัต" ไปรับตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯแทน โดยดิสทัตได้เป็นที่ปรึกษานายกฯ ตามพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน 

 

\"ที่ปรึกษานายกฯ\"ขบวนสุดท้าย\"นายกฯ\"จัดให้ สมนาคุณรทสช.\"เลือกตั้ง66\"

 

การแต่งตั้ง "พีระพันธุ์" ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ เกิดขึ้นท่ามกลางข้อครหาทางการเมือง เพราะ"พีระพันธุ์"เป็น"หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ" มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในการใช้กลไกทางราชการเอื้อต่อการหาเสียงเลือกตั้งหรือไม่ แต่ดูเหมือน"พล.อ.ประยุทธ์" เมินเฉยต่อข้อวิจารณ์ดังกล่าว 

 

"ไตรรงค์  สุวรรณคิรี" เป็นที่ปรึกษานายกฯอีกราย ที่ "พล.อ.ประยุทธ์" อ้างว่า แต่งตั้งเพื่อมาให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ  แต่เส้นทางการแต่งตั้งของ"ไตรรงค์" เริ่มต้นมาจาก"ไตรรงค์" ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ช่วงนั้น "นิพนธ์  บุญญามณี" รองหัวหน้าพรรคปชป. กล่าวไว้ว่า "นายไตรรงค์เคยมาเล่าให้ฟังว่า ที่ต้องขอลาออกจากปชป. เพราะได้รับการทาบทามจากนายกฯ ให้มาเป็นที่ปรึกษาในรัฐบาล"  ขณะที่ "ไตรงค์" เคยโพสต์ข้อความทำนองกสนับสนุนการทำงานของ"พรรครวมไทยสร้างชาติ"  ซึ่งไม่เหนือความคาดหมาย ต่อมา"นายไตรรงค์"ได้มาเป็นสมาชิก"พรรครวมไทยสร้างชาติ"ในที่สุด    

 

ชุมพล กาญจนาะ  อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ย้ายเข้ามาสังกัดรวมไทยสร้างชาติพร้อมได้รับแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ

 

กรณีของ"ชัชชาลล์ คงอุดม - ชุมพล กาญจนะ - เสกสกล  อัตถาวงศ์" หรือแรมโบ้อีสาน คือ สามกุนซือในรถไฟขบวนสุดท้าย ช่วงเวลาสามเดือนที่เหลือก่อนสภาครบวาระ   

 

โดยเฉพาะ "แรมโบ้อีสาน" มีการเผยแพร่คำสั่งสำนักนายกฯที่ 5 /2566  ออกมาทางหน้าสื่อมวลชน ก่อนที่จะมีการเผยแพร่คำสั่งสำนักนายกฯที่ 3/2566  และคำสั่งสำนักนายกที่ 4 /2566 ตามมา นั่นแสดงให้เห็นว่า "พล.อ.ประยุทธ์" เตรียมการเซ็นคำสั่งไว้ล่วงหน้า 

 

"เสกสกล" หรือ "แรมโบ้อีสาน"เคยได้รับแต่งตั้งเป็น"ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี" และได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลการแก้ไขปัญหาสลากกินแบ่งรัฐบาลมีราคาแพง จนเกิดเหตุคลิปฉาวเกี่ยวกับการเจรจาโควต้าหวยทำให้ "เสกสกล" ได้ตัดสินใจลาออก 

 

เสกสกล อัตถาวงศ์  หรือ แรมโบ้อีสาน กับการได้รับตำแหน่งชนิดชักเข้าชักออกทำเนียบรัฐบาล

 

ไม่เพียงเท่านั้น "แรมโบ้อีสาน" ยังได้ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ก่อนขายไอเดีย ชื่อ"พรรครวมไทยสร้างชาติ"มอบให้กลุ่ม"พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค" เข้ามาดูแล  โดยเจ้าตัวไปร่วมตั้ง"พรรคเทิดไท" แต่ประเมินแล้วพรรคขนาดเล็กกระสุนน้อย ยากไปต่อ จึงลาออกจากพรรคเทิดไทกลับมาร่วมลงเรือ "รวมไทยสร้างชาติ" ในวันที่ "พล.อ.ประยุทธ์" เปิดตัวเข้าสังกัด พร้อมนำพากองทัพ"รวมไทยสร้างชาติ"สู้ศึกเลือกตั้ง66

 

ฉะนั้น บุคคลทั้ง 3 ราย ที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษานายกฯ ต่างเป็นนักการเมืองไปร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติทั้งสิ้น

 

หากเทียบกับรัฐบาลในอดีต ในช่วงรัฐบาลใกล้ครบวาระ มักไม่ค่อยปรากฎ"ผู้นำรัฐบาล"แต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีแบบเทกระจาด อีกทั้งไม่เคยปรากฎ การลงนามคำสั่งสำนักนายกฯแต่งตั้งที่ปรึกษานายกฯในช่วงวันเดียวกับที่ "ผู้นำประเทศ"ไปสมัครเข้าสังกัดพรรคการเมืองเหมือนอย่าง "พล.อ.ประยุทธ์" เข้าสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ 

 

"ถ้าจะมองว่าเป็นเหตุบังเอิญหรือไม่ ตอบได้เลยเป็นความตั้งใจให้เกิดขึ้นมากกว่า "

 

เชิงนิตินัยอาจไม่ผิดตามหลักข้อกฎหมายถูกต้องครบถ้วนทุกประการ แต่ทางพฤตินัยอาจไม่เป็นที่ถูกใจหลายต่อหลายคนทางการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายที่จับจ้องตรวจสอบ  เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาล"เลือกตั้ง66" อันใกล้นี้ มองเป็นอื่นไม่ได้ว่า 

 

"นี่คือการแต่งตั้งเพื่อสมนาคุณทางการเมือง" 

logoline