svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ประชาสัมพันธ์

อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูกเร่งพัฒนา 20 ล้านไร่

25 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อบก. ไฟเขียว ต้นยางพารา สามารถนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูก เร่งขับเคลื่อนพัฒนาสวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กว่า 20 ล้านไร่ทั่วประเทศ มั่นใจจะสร้างรายได้เสริม ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า กยท. ได้วางแผนที่จะพัฒนาสวนยางพารา ที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. ไว้ประมาณ 20 ล้านไร่  ให้เป็นสวนยางที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ที่กำหนดเป้าหมายนำประเทศไทย ก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป็นประเทศผู้นำของอาเซียน ในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตลอดจนบรรลุเป้าหมาย การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ได้ในปี ค.ศ. 2065  

ซึ่งขณะนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. ได้ยืนยันแล้วว่า ยางพาราเป็นไม้ยืนต้น ที่สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ และสามารถนำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตได้ เนื่องจากเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนในเชิงเศรษฐกิจสูง มีรอบตัดฟันที่ยาว มีอายุนานหลายปี มีคุณสมบัติเหมือนไม้ยืนต้น และมีปริมาณเนื้อไม้เป็นหลัก จึงมีคุณสมบัติในการกักเก็บคาร์บอน
อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูกเร่งพัฒนา 20 ล้านไร่

และเพื่อเป็นการส่งเสริม และสนับสนุนพัฒนาสวนยางพารา ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ให้เป็นสวนยาง Carbon neutrality ล่าสุด กยท.ได้ลงนามบันทึข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ อบก. ในการพัฒนาโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต เพื่อให้สามารถนำต้นยางพารา ที่อยู่ในพื้นที่สวนยาง นำมาผ่านกระบวนการซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิต สร้างรายได้เสริมให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกยางพารา
อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูกเร่งพัฒนา 20 ล้านไร่
 

นายณกรณ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กยท. ได้นำร่องดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต และยื่นขึ้นทะเบียนกับ อบก. เพื่อทำเป็นสวนยางต้นแบบ ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน ในพื้นที่ 3 จังหวัด คือ จันทบุรี  เลย และสุราษฎร์ธานี มีสวนยางของเกษตรกร เข้าร่วมโครงการ จำนวน  2,299 รายกว่า 50,000 ไร่ คาดว่า โครงการนำร่องในช่วง 7 ปีแรก จะสามารถสะสมปริมาณคาร์บอนเครดิตได้กว่า 1.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (tCO2e) คิดเป็นมูลค่ากว่า 390 ล้านบาท 

โดยหากเกษตรกรมีสวนยาง 1 ไร่ จะสามารถกักเก็บปริมาณคาร์บอนเครดิตได้ประมาณ 4 ตัน สร้างรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเฉลี่ย 1,200 บาท/ไร่  ถือเป็นรายได้เสริมที่เกษตรกร จะได้รับจากพื้นที่สวนยาง นอกเหนือจากการขายผลผลิตยางเพียงอย่างเดียว  

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวต่อว่า ภายใต้ MOU ดังกล่าว ยังจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง มาใช้ในการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยาง เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุด เช่น เทคโนโลยี LiDAR อากาศยานไร้คนขับ และดาวเทียม

ตลอดจนกำหนดแนวทางและกิจกรรม เพื่อยกระดับการจัดการสวนยางให้ดียิ่งขึ้น โดยการยืดอายุสวนยางด้วยวิธีการกรีดยางหน้าสูง การใช้แก๊สเอทธิลีนเร่งน้ำยาง และการกรีดยาง ด้วยระบบกรีดความถี่ต่ำ ซึ่งจะช่วยยืดอายุการโค่นได้อีก 5-10 ปี และเพิ่มปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในสวนยางมากขึ้น ควบคู่ไปกับการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยตามค่าวิเคราะห์ดิน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดทุน ยังเป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร  โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่ระดับราคายางมีการปรับตัวสูงขึ้นอีกด้วย 

นอกจากนี้ กยท. ยังได้วางแนวทางในการหาตลาดรองรับจากภาคเอกชน ที่มีความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต รวมถึงสร้างความร่วมมือกับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ในการพัฒนาแพลตฟอร์มกระดานซื้อขายแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตในอนาคต ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้ 

ส่วนราคาที่จะใช้ในการซื้อขายคาร์บอนเครดิตนั้น ถ้าเป็นสวนยางพารา จะซื้อขายในราคาที่ต่ำว่าสวนป่าที่ปลูกไม้ยืนต้น ที่ไม่ได้เก็บเกี่ยวผลผลิต ในขณะที่เกษตรกรชาวสวนยาง ยังมีรายได้หลักจากการขายผลผลิต คือ น้ำยางและไม้ยางอยู่แล้ว การขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้เสริม ซึ่งจะซื้อขายในราคาประมาณ 100-3,000 บาท/tCO2e  

นายณกรณ์ ย้ำว่า ขณะนี้เป็นการซื้อขายแบบสมัครใจ ยังไม่มีการบังคับอย่างเป็นทางการ ดังนั้น หากมีการบังคับด้วยกฎหมาย การจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกก่อนข้ามพรมแดน หรือกำหนดเป็นเงื่อนไขสำหรับสิบค้านำเข้าเป็นการทั่วไปแล้ว ราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิต จะสูงขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน  ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางจะมีรายได้เพิ่มขึ้น สร้างความมั่นคงให้กับอาชีพการทำสวนยางอย่างยั่งยืน  

"หลังจาก กยท. นำร่องดำเนินโครงการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่สวนยางต้นแบบทั้ง 3 จังหวัดดังกล่าวแล้ว ก็จะขยายผลไปยังไปสวนยางในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความพร้อม โดยตั้งเป้าพัฒนาให้เป็นสวนยาง Carbon neutrality ให้ใด้ 10 ล้านไร่ ภายในปี 2573 และภายในปี 2593 สวนยางที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. ที่มีอยู่ประมาณ 20 ล้านไร่ จะเป็นสวนยาง Carbon neutrality ทั้งหมด ซึ่งจะทำให้เกษตรกรชาวสวนยางได้รับประโยชน์จากซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้ง กยท. จะพัฒนาองค์กรให้เป็นผู้ตรวจสอบประเมินคาร์บอนเครดิต ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ อบก. อีกด้วย" 
อบก. ไฟเขียว สวนยางพาราขายคาร์บอนเครดิตได้ กยท. รับลูกเร่งพัฒนา 20 ล้านไร่

logoline