svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ราชกิจจาฯ"ประกาศใช้ กม. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานใน"กระบวนการยุติธรรม"

26 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ราชกิจจาฯ" ประกาศใช้ "พ.ร.บ. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม" คลอบคลุมทุกองค์กรตามกระบวนการยุติธรรม สตช. ศาล กกต. ปปช. โดนหมด หวังแก้ปัญหาดองคดี ยื้อคดี ต่อไปต้องแจ้งระยะเวลาการทำคดีให้ประชาชนทราบ ไม่แจ้งมีความผิดทางวินัย

 

 

เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 65  "ราชกิจจาฯ" เผยแพร่  พระราชบัญญัติ กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕  โดยมีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรมีกฎหมายว่าด้วยกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยคำแนะนำและยินยอม ของรัฐสภา ดังต่อไปนี้

"ราชกิจจาฯ"ประกาศใช้ กม. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานใน"กระบวนการยุติธรรม"

มาตรา ๑ พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า "พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงาน ในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕"

 

มาตรา ๒ พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศ ในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

"ราชกิจจาฯ"ประกาศใช้ กม. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานใน"กระบวนการยุติธรรม"

มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้ "หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม" หมายความว่า หน่วยงานหรือองค์กรซึ่งมีหน้าที่ และอำนาจตามกฎหมายที่เกี่ยวกับการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมตามพระราชบัญญัตินี้  "การดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม" หมายความว่า การดำเนินงานทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง รวมทั้งการด าเนินงานในกระบวนการยุติธรรมของศาลรัฐธรรมนูญ"ศาล" หมายความว่า ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง ศาลทหาร และศาลรัฐธรรมนูญ "ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง" หมายความว่า คู่ความ คู่กรณี ผู้ต้องหา และผู้เสียหาย ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงผู้มีสิทธิกระทำการแทนบุคคลนั้น ๆ ตามกฎหมายหรือในฐานะทนายความ

"ราชกิจจาฯ"ประกาศใช้ กม. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานใน"กระบวนการยุติธรรม"

มาตรา ๔ พระราชบัญญัตินี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม กำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมทุกขั้นตอนให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับ ความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้โดยผ่าน ช่องทางที่หลากหลาย แต่ทั้งนี้จะกำหนดระยะเวลาดังกล่าวเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอิสระ ในการอำนวยความยุติธรรมหรือการดำเนินงานโดยสุจริตของบุคคลใดไม่ได้ไม่ว่าทางใด


"ราชกิจจาฯ"ประกาศใช้ กม. กำหนดระยะเวลาดำเนินงานใน"กระบวนการยุติธรรม"

มาตรา ๕ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมดังต่อไปนี้มีหน้าที่ดำเนินการ ตามพระราชบัญญัตินี้

 

(๑) กระทรวงกลาโหม

(๒) กระทรวงมหาดไทย

(๓) กระทรวงยุติธรรม

(๔) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

(๕) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

(๖) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ

(๗) คณะกรรมการการเลือกตั้ง

(๘) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ

(๙) ศาล

(๑๐) องค์กรอัยการ

(๑๑) หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา

 

มาตรา ๖ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๕ กำหนดระยะเวลา แล้วเสร็จในการพิจารณาเรื่องในขั้นตอนต่าง ๆ ของการดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจ ของตนตามแต่ลักษณะ สภาพ หรือประเภทคดี รวมทั้งปริมาณงานที่อยู่ในความรับผิดชอบ เว้นแต่ มีกฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้เป็นอย่างอื่น กำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ให้ประกาศและเผยแพร่ในรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าถึง และเข้าใจได้โดยง่าย

 

มาตรา ๗ ให้ผู้รับผิดชอบดำเนินงานที่อยู่ในความรับผิดชอบของตนให้แล้วเสร็จภายใน กำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๖ หากไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว ให้บันทึกเหตุแห่ง ความล่าช้าให้ปรากฏ ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด พร้อมทั้งรายงาน ให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้งเพื่อพิจารณาสั่งการ แล้วให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมแจ้งให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบถึงเหตุแห่งความล่าช้า ตลอดจนกำหนดระยะเวลาที่คาดว่าจะแล้วเสร็จโดยเร็วที่สุด

 

ทั้งนี้ การรายงานและการแจ้งให้เป็นไปตามวิธีการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมกำหนด ซึ่งต้องมี หลักฐานที่สามารถตรวจสอบได้ ในกรณีที่ไม่รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ หรือในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาเห็นว่าความล่าช้านั้น เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่มีเหตุอันสมควร หรือไม่แจ้งให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ ให้ผู้บังคับบัญชา พิจารณาดำเนินการทางวินัยต่อไป

 

มาตรา ๘ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๕ จัดให้มีระบบเทคโนโลยี สารสนเทศหรือวิธีการอื่นใดที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว เพื่อให้ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถทราบหรือตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมได้ ในคดีใดที่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมจัดให้มี ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศหรือวิธีการอื่นใด เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมนั้นก าหนด

 

มาตรา ๙ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๕ จัดให้มีผู้รับผิดชอบ เป็นการเฉพาะเพื่อรับเรื่องในกรณีที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อนอันเนื่องมาจากความล่าช้า  และให้ตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินงาน แล้วแจ้งผลการตรวจสอบไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง พร้อมทั้งรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบทุกครั้ง

 

มาตรา ๑๐ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๕ เก็บรวบรวมข้อมูลสถิติ ระยะเวลาของการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมในแต่ละขั้นตอน วัดผลการดำเนินงานเทียบกับ ขั้นตอนและกำหนดระยะเวลาดำเนินงานตามมาตรา ๖ พร้อมทั้งเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชน ทราบทุกปี

 

มาตรา ๑๑ ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมตามมาตรา ๕ ตรวจสอบขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๖ ว่าเป็นขั้นตอนและระยะเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ให้มีมาตรการเพื่อพัฒนา หรือปรับปรุงหน่วยงานหรือระบบการปฏิบัติราชการของหน่วยงานโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้รับ ความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า ซึ่งอย่างน้อยต้องดำเนินการทุกสามปี

 

มาตรา ๑๒ ให้นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธาน ศาลรัฐธรรมนูญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงยุติธรรม ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และอัยการสูงสุด รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ทั้งนี้ ในส่วนที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของตน

 

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำหรับ  เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่มาตรา ๒๕๘ ง. ด้านกระบวนการ ยุติธรรม (๑) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการ ยุติธรรม โดยให้มีการกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในทุกขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรมที่ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยไม่ล่าช้า สมควรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดระยะเวลา ดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรมขึ้น เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบได้ว่าหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม จะพิจารณาเรื่องที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานเสร็จสิ้นเมื่อใด รวมทั้งตรวจสอบความคืบหน้าได้ อันจะยังประโยชน์ ให้ประชาชนได้รับความยุติธรรมโดยสะดวกและรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้

 

คลิกอ่านฉบับเต็ม >>>

พระราชบัญญัติกำหนดระยะเวลาดำเนินงานในกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ๒๕๖๕

logoline