svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ศรีสุวรรณ"ถูกทำร้ายเพราะความเห็นต่างสะท้อนสังคมไทยยังรับมือได้ไม่ดีพอ

19 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จากเหตุการณ์มีชายบุกทำร้ายนักร้องทางการเมือง อย่าง "ศรีสุวรรณ จรรยา" ถึงภายในสถานที่ราชการเมื่อวานนี้ จนเกิดการตั้งคำถามต่อความรุนแรงในสังคมไทย

โดย "ดร.นิชานท์ สิงหพุทธางกูร" อาจารย์สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ได้กะเทาะถึงปัจจัยความรุนแรง พร้อมยกตัวอย่างระทึกขวัญจากเหตุการณ์ "ศรีสุรรณ" ถูกชก เอาไว้แบบนี้

 

\"ศรีสุวรรณ\"ถูกทำร้ายเพราะความเห็นต่างสะท้อนสังคมไทยยังรับมือได้ไม่ดีพอ

 

แม้ ศรีสุวรรณ อาจะไม่บาดเจ็บมีแผล แต่ถือว่าเสียหน้าและเจ็บใจมากกว่า โดยเฉพาะสังคมไทยเสียหน้าไม่ได้ (losing face) ซึ่งศรีสุวรรณ มีพื้นที่ทางการเมืองมากขึ้น เพราะไม่ควรมีใครถูกใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะมีความขัดแย้งกันเพียงใด

 

"พี่ศรีแม้จะเป็นนักร้องแต่ไม่เคยทำร้ายใครโดยใช้ความรุนแรง พี่ศรีเน้นย้ำสังคมประชาธิปไตย ควรเจรจารับฟังกัน แต่พี่ศรี อยากฟ้องเรื่องเล็กใหญ่ต้องฟ้องได้ ทำได้ทุกครั้งที่อยากทำ ไม่ต้องไปพูดจากันให้เสียเวลา" 

 

อย่างไรก็ตาม จุดยืนของศรีสุวรรณ ยังคงตั้งหน้าตั้งตาฟ้องเก่าฟ้องใหม่และฟ้องต่อไปเรื่อยๆ ถนัดและสะดวกแบบนี้ ซึ่งมีผลต่ออารมณ์ของสังคม 

ส่วนลุงเสื้อแดง ซึ่งสะใจดี ยิ้ม มันส์ ภูมิใจกับสิ่งที่ทำลงไป และชี้ให้เห็นความกล้าหาญครั้งนี้ พร้อมยอมรับใช้ความรุนแรง แต่ลุงเสื้อแดงได้ตอบสนอง needs อารมณ์ ความรู้สึกของตัวเองอย่างถึงที่สุด แม้จะพลาดเป้าสำคัญ ลุงเสื้อแดงรู้สึกได้ทำหน้าที่สำคัญแทนกลุ่มก้อนของตนเองที่เป็นที่รัก และ "เป็นการบอกพี่ศรีว่าทนไม่ไหวแล้วด้วยความรุนแรง เพราะมันเกินไป ร้องเฉพาะด้านคนอื่น"

 

แม้จุดยืนลุงเสื้อแดงใช้ความรุนแรงอย่างมันส์ ตอบสนองตัวเองและกลุ่ม ยอมรับกับสิ่งที่ทำ แต่ก็อาจจะกังวลเรื่องการหาเงินสำหรับการถูกฟ้อง

 

ขณะที่ สังคมไทยแม้มีจุดยืนทางการเมืองที่แตกต่างกัน จนนำมาสู่ความขัดแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องปกติ เมื่อสังคมไทยมีความขัดแย้งทางการเมือง ทหารจึงทำรัฐประหารและบอกว่า จะสร้างสังคมสงบสุขให้ ซึ่งคือเหตุผลในการทำรัฐประหาร แต่ผ่านมาผ่านไปไม่มีแม้แต่ครั้งเดียว ที่จะ "แก้ไขความขัดแย้งให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้" (conflict resolution)

 

ทั้งนี้ ทำเพียงการระงับความรุนแรง (crisis management) ไม่ให้เกิดและเรียกสิ่งนี้ว่า "ความสงบสุข" ซึ่งมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนอย่างมาก ระหว่างความคิดเรื่อง "ความขัดแย้ง" กับ "ความรุนแรง" มันสัมพันธ์กันแต่ไม่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม ทหารระงับความรุนแรงในสังคมใหญ่ได้ดี แต่ในสังคมเล็กๆ ความขัดแย้งได้พัฒนาไปสู่ความรุนแรงจากทั้งของเดิมที่แฝงไว้ และที่สะสมเพิ่มเติมขึ้นใหม่ในโครงสร้างทางสังคมต่างๆ มันกระจายตัวมากขึ้น และกว้างออกไปทุกสถาบันของสังคม เพราะความขัดแย้งใจกลางที่ไม่ได้รับการรับมือจึงพัฒนาไปสู่ความรุนแรงย่อยๆ 

 

นอกจากนี้ สังคมไทยเป็นสังคมแห่งอารมณ์ (emotionalize ) มากกว่า สังคมแห่งเหตุผล (rationalize) ซึ่งทำให้คนไทยบางคน เป็นคนแบบศรีสุวรรณ และเป็นคนแบบลุงเสื้อแดง หรือ อีกหลายคนๆ ในแบบของตัวเอง ผ่านมุมมอง ประสบการณ์ชีวิตและวัยที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติที่นำมาสู่ความไม่ลงรอยกัน และมีอารมณ์แต่ก็ไม่ควรพัฒนาไปสู่การใช้ความรุนแรง 

 

ดร.นิชานท์ มองว่า อย่างน้อยหลักเหตุผลเรื่องการไม่ใช้ความรุนแรง ต้องเป็นพื้นฐานการสอนในโรงเรียน ซึ่งความคิดเห็นที่แตกต่างกัน หากบอกว่าเราคือสังคมประชาธิปไตย ที่ให้ความสำคัญกับหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมเพื่อคุ้มครอง และส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข เราก็ไม่ควรใช้ความรุนแรงต่อกันเมื่อเราเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งมันก็เป็นตัวบอกระดับประชาธิปไตยของสมาชิกในสังคมเป็นอย่างไร (infantcy) ทุกฝ่ายเชื่อว่าตัวเองมีสิทธิ ทำได้ โดยไม่ต้องคิดถึงคนอื่นในสังคม

 

สังคมไทยยังรับมือกับความขัดแย้งไม่ดีพอ ไม่ได้เป็นสังคมที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่นจริง (sympathy and empathy) ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ การออกแบบการรับมือความขัดแย้งทางการเมืองไม่ดีพอ ล้มเหลว เลือกใช้วิธีการที่ไม่ควรใช้ และทำให้ความขัดแย้งลุกลามและลงเอยเป็นความรุนแรงทางตรง โครงสร้างและวัฒนธรรมในสถาบันต่างๆ ทางสังคม 

 

สังคมไทยมีความรู้น้อยในการรับมือความขัดแย้งไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงและการสร้างการอยู่ร่วมกันในสังคมแห่งความหลากหลายที่มีความขัดแย้ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ก็จะเกิดขึ้นต่อไปและถี่ขึ้นเรื่อยๆ ในสังคม ซึ่งเราได้ความรู้จากเรื่องความขัดแย้งและความรุนแรงครั้งนี้พอสมควรอยู่

logoline