svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ปชป."ย้ำอีก 10 ปี กทม.จมบาดาล หากไม่รีบหาทางแก้ไขปัญหา"น้ำท่วมซ้ำซาก"

16 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ปชป."ถอดบทเรียนแก้น้ำท่วม "สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" ชี้ สถานการณ์น้ำท่วมจากน้ำฝนที่เกิดขึ้นกรุงเทพฯในปี2565 หนักหนาสาหัสกว่าสถานการณ์ในปี 2554 ต้องยกเครื่องและปฏิรูปแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบของกรุงเทพฯ และปริมณฑล

 

ทีมยุทธศาสตร์ กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ได้จัดให้มีกิจกรรม ซีรีส์เสวนา…ถอดบทเรียนปัญหาคนกรุงฯ ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำนโยบายสำหรับกรุงเทพมหานคร โดยการเสวนาในวันนี้ เป็นการพูดคุยในหัวข้อ "ถอดบทเรียน…ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก" นำโดย ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ปชป. และอดีตนายกสภาวิศวกร ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการบริหารจัดการน้ำ และเคยเสนอนโยบายการแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพอย่างเป็นระบบในการเลือกตั้งผู้ว่า กทม. ครั้งที่ผ่านมา

 

ปชป.จัดเวทีเสวนา…ถอดบทเรียนปัญหาคนกรุงฯ ครั้งที่ 2 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำนโยบายสำหรับกรุงเทพมหานคร

 

ร่วมด้วย รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน กรรมการจรรยาบรรณ สภาวิศวกร และ ดร.พลพัฒน์ นิลอุบล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี โดยมีนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค กรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงาน และดำเนินรายการโดย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค

 

"ดร.สุชัชวีร์" เผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมจากน้ำฝนที่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2565 หนักหนาสาหัสกว่าสถานการณ์ในปี พ.ศ. 2554 การแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเดิม ไม่ช่วยให้แก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน แต่ต้องยกเครื่องและปฏิรูปการแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งระบบของกรุงเทพฯ และปริมณฑล พร้อมกับย้ำว่า ปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาของทุกคน ไม่ใช่แค่ของส่วนใดส่วนหนึ่ง ต้องอาศัยการร่วมมือของทุกฝ่ายจึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืน

 

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในฐานะประธานคณะทำงานนโยบาย กทม. ปชป.

 

"วันนี้กรุงเทพฯ กำลังใช้หลอดยาคูลท์ดูดน้ำออกจากกะละมัง ถ้าเราคิดแบบเดิม ทำแบบเดิม ยังไงก็จม ... ปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่แค่ปัญหาของ กทม. ของกรมชลประทาน ของจังหวัด แต่เป็นปัญหาของทุกคน ทุกคนต้องช่วยกัน"

 

ดังนั้นจึงสนับสนุนการทำแก้มลิงใต้ดินเพื่อกักเก็บน้ำรอระบายไว้ใต้ดิน และการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการบริหารจัดการน้ำเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งวิธีบริหารจัดการน้ำเหล่านี้ทำสำเร็จแล้วในต่างประเทศทั้งญี่ปุ่นและเนเธอร์แลนด์  

 

อีกทั้งนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญก็ยืนยันในแบบเดียวกัน และยังต้องบูรณาการประสานงานร่วมกันกับพื้นที่ปริมณฑลด้วย พร้อมเตือนกรุงเทพฯ ไม่ได้เจอแค่น้ำฝน ยังมีน้ำเหนือกับน้ำทะเลหนุน โดยเฉพาะน้ำทะเลหนุนที่ต้องรีบหาทางป้องกัน ซึ่งต้องใช้เวลาเตรียมการ หากไม่รีบเริ่มดำเนินการจะไม่สามารถป้องกันได้อย่างทันท่วงที

 

"ปชป."ย้ำอีก 10 ปี กทม.จมบาดาล หากไม่รีบหาทางแก้ไขปัญหา"น้ำท่วมซ้ำซาก"

พร้อมกับได้ยืนยันว่า การแก้ปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นเรื่องซับซ้อนและเป็นเรื่องเชิงเทคนิค ต้องมีแผนทั้งระยะสั้น-กลาง-ยาว ซึ่งในระยะสั้นเร่งด่วนจะต้องเปลี่ยนเครื่องสูบน้ำดีเซลเป็นเครื่องสูบน้ำไฟฟ้าอัตโนมัติ ระยะกลางต้องสร้างบ่อพักน้ำใต้ดิน เพื่อนำน้ำฝนไปพักไว้ใต้ดิน ลดปริมาณน้ำรอระบายบนท้องถนน และระยะยาวต้องทำโครงการป้องกันน้ำทะเลหนุน

 

เพราะหากกรุงเทพฯ ยังไม่คิดเรื่องการป้องกันน้ำทะเลหนุนจากปากแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่วันนี้ อีก 10 ปีวันนั้นมันสายเกินไป และที่สำคัญต้องอาศัยความรู้ทางด้านวิศวกรรมโดยวิศวกรผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยแก้ปัญหาและดูโมเดลของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม

 

ด้าน รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน กรรมการสภาวิศวกร มองว่าปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทย เมื่อปี 2554 นั้นเกิดจากปัญหาน้ำเหนือไหลบ่า ขณะที่ปัจจุบันสาเหตุที่น้ำท่วมเป็นเพราะมีปริมาณน้ำฝนที่ตกหนัก และมีปริมาณมาก นอกจากนี้กรุงเทพฯ และบริเวณภาคกลางตอนล่าง ยังต้องผจญวิกฤติน้ำทะเลหนุนทุกปีอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเริ่มคิดและลงมือแก้ปัญหาดังกล่าวทันที และปัญหาน้ำท่วมนั้นไม่สามารถใช้ยาเม็ดเดียวรักษาทุกโรค ที่สำคัญที่อยากเน้นคือเรื่องน้ำท่วมไม่ใช่มาจากปริมาณน้ำฝนแต่เพียงอย่างเดียว ยังมีเรื่องของน้ำเหนือและน้ำหนุนซึ่งต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน 

 

"ปชป."ย้ำอีก 10 ปี กทม.จมบาดาล หากไม่รีบหาทางแก้ไขปัญหา"น้ำท่วมซ้ำซาก"

 

ขณะที่ ดร.พลพัฒน์ นิลอุบล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี กล่าวว่า กรุงเทพฯ นั้น นอกเหนือจากการคิดเรื่องการมุ่งไปสู่มหานครสีเขียวแล้ว ควรมีแนวคิดให้คนกรุงเทพฯ อยู่ร่วมกันกับน้ำด้วย เพราะในอดีต กรุงเทพฯ เองก็ผูกพันกับสายน้ำมาอย่างยาวนาน และขณะที่ในต่างประเทศกำลังคิดเรื่อง Re-Design แต่ประเทศไทยนั้นได้เริ่ม Design การบริหารจัดการน้ำกันแล้วหรือไม่อย่างไร

 

นอกจากนี้ยังมองไปถึงเรื่องกฎหมาย และระเบียบของ กทม. ที่มีลักษณะเป็นข้อเสนอ หรือทางเลือกให้กับเอกชน มากกว่าที่จะออกเป็นข้อกำหนด หรือเป็นข้อบังคับ เช่น การอนุญาตก่อสร้างอาคารสูงที่เมื่อสร้างที่เก็บน้ำใต้ดินแล้ว จะอนุญาตให้สร้างอาคารสูงขึ้นได้ เป็นต้น และภาครัฐจำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ทุกคนเห็นภาพรวม และเห็นแผนงาน วิสัยทัศน์ของผู้บริหารด้วย

 

"ปชป."ย้ำอีก 10 ปี กทม.จมบาดาล หากไม่รีบหาทางแก้ไขปัญหา"น้ำท่วมซ้ำซาก"

 

สำหรับ"นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค กล่าวว่า ท้ายที่สุดแล้วปัญหาน้ำท่วมไม่ใช่เป็นปัญหาของคนใดคนหนึ่ง ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่คนกรุงเทพฯ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม พร้อมกับเชิญชวนให้ติดตาม ซีรีส์เสวนา…ถอดบทเรียนปัญหาคนกรุงฯ ที่จัดโดยพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งจะนำเสนอประเด็นปัญหาที่อยู่ในความสนใจของสาธารณะหรือประเด็นที่ยังต้องได้รับการแก้ไข พร้อมกับเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันคิดและหาทางออกไปด้วยกัน 

 

"พรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคที่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านเป็นจำนวนมาก สามารถให้มุมมองในเรื่องต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และเห็นความสำคัญของการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จึงได้จัดให้มีกิจกรรมนี้ขึ้น มั่นใจได้ว่าเนื้อหาที่เกิดขึ้นจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำไปเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบนโยบายที่ตรงกับความต้องการของคนกรุงเทพฯ"  นางดรุณวรรณ กล่าว
 

logoline