svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ไทยสร้างไทย จี้สำนักนายกฯ ถอนฟ้อง วลพ. ไฟเขียว ขรก. แต่งกายตามเพศสภาพได้

11 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ไทยสร้างไทย” ส่งสารถึงสำนักนายกรัฐมนตรี จี้ถอนฟ้อง วลพ. พร้อมเปลี่ยนกฎระเบียบให้ข้าราชการแต่งกายตามเพศสภาพได้

วันนี้ (11 ต.ค.) นายทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย กล่าวถึงการเคลื่อนไหวในประเด็นการแต่งกายข้าราชการ ของสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ในขณะที่ภาคประชาสังคมกำลังเรียกร้องให้สำนักนายกฯ รับรองสิทธิข้าราชการแต่งกายตามเพศสภาพ (ลงชื่อได้ที่ http://Change.org/KruGolf) แต่ความเคลื่อนไหวจากสำนักนายกรัฐมนตรี กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม สั่งฟ้องคดีคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) ต่อศาลปกครอง 

 

นายทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทย
 

นายทวีชัย กล่าวว่า การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการไม่ตอบรับ ต่อหลักการสิทธิมนุษยชน และเพิกเฉยต่อการถูกเลือกปฏิบัติของข้าราชการครู ที่ต้องถูกบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิด แต่การแต่งกายตามเพศสภาพ เป็นสิทธิมนุษยชน และไม่มีใครควรต้องเลือก ระหว่างหน้าที่การงาน และตัวตนของตัวเอง คำวินิจฉัย วลพ. ที่ให้สำนักนายกรัฐมนตรี เปลี่ยนแปลงกฏระเบียบเพื่อให้ข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของรัฐ แต่งกายตามเพศสภาพ คือการผลักดันรัฐไทยให้ก้าวสู่ความเสมอภาค เป็นยุติการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ

 

ถือเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐต้องตระหนัก โดยเฉพาะในวันที่กฎหมายรับรองอัตลักษณ์ทางเพศยังมาไม่ถึง รัฐยิ่งต้องคุ้มครองสิทธิ ในการแต่งกายตามเพศสภาพ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยืนยันอัตลักษณ์ทางเพศให้เร็วที่สุด ไม่ใช่ชะลอให้ช้าลงโดยสำนักรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบตาม พ.ร.บ.เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน พ.ศ.2478 เสียเอง
 

 

ครูกอล์ฟ ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ ข้าราชการครูข้ามเพศ

นายทวีชัย กล่าวว่า เมื่อสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบรับต่อเสียงเรียกร้อง จากการขับเคลื่อนของประชาชนเช่นนี้ ต้องถามว่า เมื่อสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพของข้าราชการ ที่ถูกพรากไปโดยหน่วยงานของรัฐ ที่ทำหน้าที่ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ใครจะเป็นผู้ดูแลคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

 

เมื่อรัฐไทยที่ต้องรักษาหลักการไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ ตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (CEDAW) เป็นผู้สนับสนุนการเลือกปฏิบัติเสียเอง และการฟ้อง วลพ. ในครั้งนี้ของสำนักนายกรัฐมนตรี ยังขัดต่อเจตจำนงของ พ.ร.บ. ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ที่ระบุชัดเจนว่า ห้ามหน่วยงานของรัฐกำหนดนโยบาย กฏ ระเบียบ มาตรการ โครงการ หรือวิธีปฏิบัติในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ

 

ทั้งที่เมื่อได้รับคำสั่งโดยตรงแล้ว รัฐควรเร่งแก้ไข เพื่อคืนสิทธิให้แก่ข้าราชการผู้มีความหลากหลายทางเพศให้เร็วที่สุดไม่ใช่หรือ การไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศต้องทำให้เห็น ไม่ใช่แค่การลงนาม และสำหรับกรณีนี้ สิ่งที่รัฐต้องทำให้เร็วที่สุด คือยุติคดีความต่อ วลพ. เพื่อเพิกถอนคำวินิจฉัย และดำเนินการเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ เพื่อรับรองสิทธิในการแต่งกายตามเพศสภาพ ของข้าราชการ พนักงาน และลูกจ้างของรัฐให้เร็วที่สุด

 

รายงานระบุว่า ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ วลพ. ได้มีคำวินิจฉัย ต่อกรณีการแต่งกายตามเพศสภาพของข้าราชการระบุว่า “ให้สำนักนายกรัฐมนตรีกำหนดมาตรการและวิธีปฏิบัติ เพื่อรับรองสิทธิของบุคคลที่มีการแสดงออกทางเพศแตกต่างจากเพศโดยกำเนิด” ซึ่งคำวินิจฉัยนี้ สืบเนื่องจากคำร้องของ ครูกอล์ฟ ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ ข้าราชการครูข้ามเพศ ที่ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากไม่สามารถออกบัตรประจำตัวข้าราชการได้ จากการปฏิเสธของสำนักงานเขตพื้นที่มัธยมศึกษาเขต 2

 

โดยอ้างระเบียบจากสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ในเขตพื้นที่การศึกษาอื่นมีข้อมูลระบุว่า มีข้าราชการครูข้ามเพศ ได้รับอนุญาตให้ใช้รูปที่แต่งกายตามเพศสภาพได้ ท้ายที่สุดแล้วการเคลื่อนไหวของครูกอล์ฟได้รับคำวินิจฉัยของคณะกรรม วลพ. ให้สามารถใช้รูปในชุดขาว ที่ตรงตามเพศสภาพได้ เพราะไม่ใช่แค่การคืนสิทธิพึงมีต่อครูกอล์ฟ แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติการเลือกปฏิบัติโดยรัฐด้วย 

 

ทั้งที่คำวินิจฉัยมีส่วนที่ส่งถึงสำนักนายกฯ โดยตรง แต่แทนที่จะมีการเร่งแก้ไขกฎระเบียบเพื่อยุติช่องโหว่ของกฎระเบียบที่เลือกปฏิบัติ กลับมีข้อมูลปรากฏว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ย. 65 สำนักนายกรัฐมนตรีได้ยื่นฟ้องคณะกรรมการ วลพ. ต่อศาลปกครอง เพื่อเพิกถอนคำวินิจฉัยที่ให้แก้ไขระเบียบการแต่งกายของข้าราชการ
 

 

ครูกอล์ฟ ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ ข้าราชการครูข้ามเพศ

ครูกอล์ฟ ปัณณภัสร์ สวัสดิ์ภัสร์ ข้าราชการครูข้ามเพศ ในอดีต

logoline