svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ทวี สอดส่อง"แจงเลิกดอกเบี้ย-เบี้ยปรับเพื่อความเท่าเทียมทางการศึกษา

17 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลายเป็นประเด็นที่กำลังถูกตั้งคำถาม หลังจากที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านร่างพ.ร.บ.เงินให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ไปเมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา โดยมีใจความสำคัญ คือ ยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ ให้กับลูกหนี้ กยศ. รวมถึงมีผลย้อนหลังก่อนกฎหมายนี้ใช้บังคับ

"พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง" ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะเป็นหนึ่งผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษา ได้ชี้แจงถึงประเด็นดังกล่าว ผ่าน "เนชั่นทีวี" โดยเฉพาะการไม่คิดดอกเบี้ยหรือเบี้ยปรับ จะทำให้กองทุนอยู่ไม่ได้ 

 

โดย พ.ต.อ.ทวี ระบุว่า การคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับนั้น จะขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องการศึกษาในรัฐธรรมนูญปี 60 สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ มาตรา 45 (6) "ให้จัดตั้งกองทุนเพื่อใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษา และเพื่อเสริมสร้าง และพัฒนาคุณภาพ และประสิทธิภาพครู โดยให้รัฐจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุน หรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินธ์เข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย…"

 

พ.ต.อ.ทวี อธิบายต่อว่า สำหรับผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ในเรื่องการศึกษา ได้มีการพัฒนาเป็น "รัฐสวัสติการ" ที่เป็นทุนตั้งแต่เด็กเล็กและประชาชนทุกระดับแบบถ้วนหน้า หรือสิทธิเสมอกัน ทั้งการศึกษาภาคบังคับ ระดับปริญญาตรี ปริญญาโท หรือปริญญาเอก ถ้าเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ หากมีปัญญาเรียน เมื่อรัฐธรรมนูญ เป็นกฎหมายสูงสุด ผู้กู้เงิน กยศ. ทั้งหมดเป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ ผลของรัฐธรรมนูญนับแต่วันที่ 6 เม.ย. 2560


 

 

"การที่ กยศ. คิดดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ จึงเป็นการฝ่าฝืนและขัดรัฐธรรมนูญ ความจริงจะต้องยกเลิกหนี้กู้ยืม กยศ. ด้วยซ้ำ ดังนั้น ถ้ารัฐและกองทุน กระหายจะคิดมีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ รัฐบาลต้องไปแก้รัฐธรรมนูญปี 2560 ให้ยกเลิก มาตรา 45 วรรคห้าและวรรคหก เสียก่อนจึงคิดดอกเบี้ยและเบี้ยปรับได้"

 

สำหรับในเรื่องการศึกษา พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่ประเทศไทยลงนามรับรองไว้ ข้อ 13 ว่ารัฐภาคีแห่งกติกานี้ รับรองสิทธิของทุกคนในการศึกษาการศึกษาขั้นประถม จะต้องเป็นการศึกษาภาคบังคับ และจัดให้ทุกคนแบบให้เปล่า การศึกษาขั้นมัธยม และการศึกษาขั้นอุดมศึกษาอย่างเท่าเทียมกันบนพื้นฐาน ของความสามารถโดยการนำการศึกษาแบบให้เปล่ามาใช้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

 

สำหรับนโยบายพรรคประชาชาติในเรื่องการศึกษาเป็นแนวรัฐสวัสดิการ คือ มีนโยบายเรียนฟรี อย่างมีคุณภาพ ตามความสามารถของผู้เรียนถึงระดับอุดมศึกษา สอดคล้องกับรัฐ หลักการสิทธิมนุษยชนและเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

 

ทั้งนี้ ความเป็นจริงกองทุน กยศ. มีรายได้ดอกเบี้ยจากเงินกองทุนที่มีสินทรัพย์จำนวนประมาณ 450,000 ล้านบาท หากคิดดอกเบี้ยร้อยละ 1 ต่อปี จะเป็นเงินรายได้ดอกเบี้ยประมาณ 4,500 ล้านบาทต่อปี เงินจำนวนนี้ เท่ากับงบประมาณที่รัฐอุดหนุนกองทุนเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งควรนำมาควบรวมกับ กยศ.

 

นอกจากนี้ ตาม พ.ร.บ. กยศ. มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น และเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 54 ที่รัฐมีหน้าที่ต้องจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนหรือใช้มาตรการหรือกลไกทางภาษีรวมทั้งการให้ผู้บริจาคทรัพย์สินเข้ากองทุนได้รับประโยชน์ในการลดหย่อนภาษีด้วย 

แม้ กยศ. มีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ แต่ไม่มีรายได้ พ.ต.อ.ทวี อธิบายต่อว่า ซึ่งตาม พ.ร.บ. กยศ. มาตรา 10 ให้รัฐมนตรีดำเนินการขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อสมทบเข้ากองทุนในแต่ละปีงบประมาณตามความจำเป็น และมาตรา 12 เงินของกองทุนให้นำไปหาผลประโยชน์ได้ โดยการฝากกับธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจหรือธนาคารพาณิชย์ หรือซื้อหลักทรัพย์ของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ

 

พ.ต.อ.ทวี ได้ตัวอย่างเช่น กยศ. สามารถนำเงินสดและเงินลงทุนระยะสั้น จำนวน 30,000 ล้านบาท เปลี่ยนจากเงินฝากธนาคาร ไปเป็นการลงทุนในหุ้น หรือหุ้นกู้รัฐวิสาหกิจ เช่น หุ้นกู้ ปตท. มีอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3.25 ต่อปี กองทุนจะมีรายได้จากเงินลงทุนปีละ 975 ล้านบาทต่อปี ซึ่งเพียงพอต่อค่าใช้จ่ายดำเนินการในแต่ละปี    

 

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบวินัยการเงินการคลังนั้น ซึ่งประเด็นนี้ต้องใช้กับรัฐบาล และผู้บริหาร กยศ. สำหรับผู้กู้ยืมกองทุน เป็นผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์หรือผู้ยากไร้ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ รัฐต้องมีทุนให้ ที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิ ไม่ใช่เรื่องวินัยการเงินการคลัง

 

"วินัยการเงินการคลังต้องใช้กับรัฐบาลและผู้บริหารกองทุน ซึ่งจากงบการเงินที่ปรากฏตาม สตง. รายงาน พบว่า กยศ. ที่นำเงินจากการใช้การชำระเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับ ไปใช้น่าจะผิดวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของกฎหมาย กยศ. โดยนำไปใช้เป็นค่าจ้างทนายความ การดำเนินคดีเฉลี่ยปีละมากกว่า 1 พันล้านบาท มีค่าใช้จ่ายที่ทำการถนนรัชดา ที่ราคาที่ดินแพงมากๆ ค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเงินของผู้ยากไร้ทั้งสิ้น"

 

ขณะเดียวกัน จากการศึกษาของกรรมาธิการศึกษาปัญหาหนี้ กยศ. ผู้กู้ที่ผิดนัดชำระหนี้ส่วนใหญ่ เกิดจากสถานะทางการเงิน ที่มีรายได้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย จบแล้วไม่มีงานทำ หรือขาดแรงจูงใจในการชำระหนี้ เนื่องจากเบี้ยปรับมีอัตราสูงมาก ชำระเท่าไรเงินต้นก็ไม่ลดลง ซึ่งในส่วนวินัยการเงินการคลัง ควรเป็นสิ่งที่กองทุนควรถูกตรวจสอบ และคำนึงถึงการใช้จ่ายที่ผิดวัตถุประสงค์หลักของกองทุน 

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมมองที่แตกต่าง การแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กยศ. ลูกหนี้ต้องคืนเงินต้นที่กู้ยืม ไม่ไช่ยกหนี้ไป การยกเลิกดอกเบี้ยและเบี้ยปรับทั้งหมด จะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ผู้กู้กลับมาชำระเงินเพื่อปลดหนี้ เมื่อมีรายได้เพียงพอ เงินต้นที่ค้างชำระกว่า 90,000 ล้านบาทจะกลับมาเป็นหนี้ปกติทันที มีการคาดการณ์ว่าลูกหนี้ที่ผิดนัดชำระกว่า 2 ล้านคน จะสามารถกลับมาชำระหนี้เงินต้น เป็นเงินอย่างน้อย 2,400 ล้านบาทต่อปี หรือชำระเดือนละ 100 บาท หรือ 1,200 บาทต่อปี โดยไม่ต้องเสียค่าทนายในการฟ้องร้องลูกหนี้ และบังคับคดี  

 

สำหรับผลกระทบภาระภาษีในอนาคต เพราะรัฐบาลต้องให้เงินอุดหนุนกองทุนเพิ่มนั้น โดยนักศึกษาที่เรียบจบในระดับที่สูงขึ้น ที่มีมากขึ้น จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ในเรื่องความพร้อมของกำลังแรงงานในประเทศ (Skilled Labour) สามารถสร้างเศรษฐกิจให้เติบโต และขยายฐานภาษีและรายได้ของรัฐบาลให้มากขึ้นหลายเท่าตัว 

 

ส่วนที่มองว่าคนจ่ายตรงเวลา กลับไม่ได้ประโยชน์นั้น โดยคณะกรรมการ กยศ. ร่วมกับกระทรวงการคลัง สามารถออกมาตรการเยียวยา และสร้างแรงจูงใจในการชำระหนี้ตรงเวลา โดยการลดหนี้เงินต้นทันที ให้แก่ผู้กู้ที่ไม่เคยผิดนัด หรือคืนดอกเบี้ย และเบี้ยปรับเป็นเครดิตภาษี ให้ผู้กู้ที่เคยชำระหนี้ และได้ปิดบัญชีไปแล้ว เป็นต้น

 

ขณะเดียวกัน ที่มีการมองกันว่าพรรคการเมืองใช้เรื่อง กยศ. เพื่อหาเสียง หรือเป็นนโยบายประชานิยม พ.ต.อ.ทวี ย้ำว่า รัฐต้องเปลี่ยนมุมมองกองทุน กยศ. จากเป็นเงินกู้ยืม ให้เป็นเงินลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ โดยได้รับผลตอบแทนเป็นภาษีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากเศรษฐกิจที่จะเจริญเติบโตขึ้น มากกว่าเดิมหลายเท่า พรรคประชาชาติมีอุดมการณ์ในการส่งเสริมสวัสดิการของประชาชน ได้แก่ การศึกษา การรักษาพยาบาล ที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและด้านต่าง ๆ

 

ส่วนการปรับปรุงกฎหมายใหม่ และผลกระทบกับลูกหนี้ที่ชำระไปแล้ว พ.ต.อ.ทวี อธิบายว่า จะเห็นได้จากกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น ให้รัฐจัดตั้งกองทุนเพื่อการศึกษา มาเพื่อช่วยเหลือคนขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งรัฐธรรมนูญประกาศ เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2560 แต่รัฐบาลไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ การให้มีดอกเบี้ยและเบี้ยปรับหลัง วันที่ 5 เม.ย. จึงไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และการแก้ปัญหาของรัฐ ถือว่าไม่มีประสิทธิภาพ แม้ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินของเอกชนที่หวังกำไร ได้มีการจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ ซึ่งให้ชำระคืนแต่เงินต้นเท่านั้น ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างดีเยี่ยม

 

ซึ่งการกู้เป็นเรื่องส่วนตัวทั้งสิ้น ในขณะที่หนี้เพื่อการศึกษา กลับมีปัญหาหนี้เสีย ที่สูงกว่า กลับไม่สามารถแก้ไข โดยคณะกรรมการอ้างว่าไม่มีอำนาจตาม พ.ร.บ. ซึ่งการศึกษาเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ ที่รัฐควรส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียม จึงเป็นที่มาทำให้ทางพรรคส่งเสริมให้เป็นการกู้เรียนโดยปลอดดอกเบี้ยและภาระอื่น แต่ยังคงสร้างวินัยให้ผู้กู้ชำระคืนในส่วนเงินต้นเท่านั้น ซึ่งปัญหาของ กยศ. นั้น มาจากโครงสร้างทางการเงิน จึงต้องแก้ไขตรงนี้ ที่เป็นปัญหาหลักใหญ่

logoline