เพิ่ม nation online
ลงในหน้าจอหลักของคุณ
เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ที่ผ่านมา ส.ส.ฝ่ายค้านเตรียมอภิปรายเรื่องนี้ โดยเสนอเป็นญัตติด่วน เพราะมองว่าเป็นปัญหาเฉพาะหน้า ที่กระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน หากศาลชี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งครบวาระ 8 ปีแล้ว แต่ปรากฏว่า โดนรัฐบาลเบรก ไม่ได้อภิปราย แถมสภาล่ม บ้างก็ว่าล่มเนื่องจากไปร่วมเบิร์ธเดย์ "หัวหน้าป้อม"
ข้อมูลที่ว่ากันว่าเป็น "หมัดเด็ด" ของฝ่ายค้าน เช่น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ และ ส.ส.ก้าวไกลบางคน ก็คือ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ที่วางบรรทัดฐานไว้แล้วว่า ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี หรือ นายกรัฐมนตรี ของคณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งคร่อมรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ จะเริ่มนับที่ตรงไหน และการยกเว้นคุณสมบัติบางประการ จะพิจารณาอย่างไร
ประเด็นแรก : คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 20/2544 วางหลักการเอาไว้ว่า "การที่รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ยังคงเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้ใหม่ต่อไป จะต้องถือเอาวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ เป็นวันเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่ง"
ประเด็นนี้ ค่อนข้างชัดเจนว่า ถ้ายึดตามหลักการนี้ วาระของ นายกฯประยุทธ์ จะเริ่มนับตั้งแต่ 6 เม.ย.ปี 60 ซึ่งเป็นวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้บังคับ และวาระของ "บิ๊กตู่" หากได้ดำรงตำแหน่งต่อเนื่อง คือ ชนะเลือกตั้งปีหน้ากลับมา ก็จะอยู่ได้ถึงปี 68 ตามที่ "บิ๊กป้อม" หลุดปากไว้ก่อนหน้านี้
ประเด็นที่ 2 : การยกเว้นคุณสมบัติบางประการของรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรีที่ได้รับการแต่งตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อน แล้วดำรงตำแหน่งคร่อมมาจนถึงรัฐธรรมนูญนี้
โดยเทียบเคียงคดีคู่สมรสของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ต่างประเทศ คำวินิจฉัยที่ 5/2561 กรณีถูกร้องว่ายังถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด เข้าข่าย "ผลประโยชน์ทับซ้อน" ตามรัฐธรรมนูญปัจจุบันมาตรา 187 หรือไม่
ศาลชี้ว่า นายดอน เป็นรัฐมนตรีมาตั้งแต่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 60 บังคับใช้ และเป็นต่อเนื่องมา จึงต้องมีคุณสมบัติตามที่รัฐธรรมนูญปี 60 กำหนดไว้ด้วย แต่มาตรา 264 บทเฉพาะกาล มียกเว้นคุณสมบัติบางประการเอาไว้ ทว่า "ไม่ได้ยกเว้นมาตรา 187" ว่าด้วยผลประโยชน์ทับซ้อน และห้ามถือครองหุ้นเกิน 5% ทั้งตัวรัฐมนตรีและคู่สมรส จึงต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติว่าด้วยหุ้นรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงคู่สมรส
คดีนี้ "รัฐมนตรีบัวแก้ว" รอด เพราะแสดงหลักฐานว่า คู่สมรสโอนหุ้นไปจนเหลือต่ำกว่า 5% ซึ่งเป็นอัตราที่กฎหมายกำหนดแล้ว แต่ไฮไลท์คือ ศาลระบุว่า มาตรา 264 ไม่ได้ยกเว้นมาตรา 187 ซึ่งมาตรา 158 วรรคท้าย เรื่องวาระนายกฯ 8 ปี ก็ไม่ได้ยกเว้นไว้เช่นกัน
สรุปจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเอง 2 ฉบับนี้ คำพิพากษาที่ดีที่สุดสำหรับนายกฯลุงตู่ คือ วาระการดำรงตำแหน่งนับตั้งแต่ปี 60 อยู่ได้ถึงปี 68 แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชี้ว่า วาระการดำรงตำแหน่งเริ่มปี 62 ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง
ส่วนการนับวาระย้อนไปถึงปี 57 ซึ่งจะทำให้ครบวาระ ต้องหลุดเก้าอี้หลังวันที่ 24 ส.ค.65 แนวทางนี้ยังต้องลุ้น