svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

DSIแจงตั้ง"สราวุธ"นั่งบอร์ดคดีพิเศษ ก่อนป.ฎีกาตั้งกรรมการสอบวินัย

27 มกราคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

DSI ชี้แจง การแต่งตั้ง "สราวุธ เบญจกุล" ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิเศษ (กคพ.) เป็นไปตามมติครม. 25 พ.ค.64 ก่อนประธานศาลฎีกา จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง นายสราวุธ วันที่ 19 ส.ค.64

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีเอกสารข่าวชี้แจง ตามที่ปรากฏข่าวสื่อมวลชน มีผู้ยื่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวหาว่าฝ่ายบริหาร แทรกแซงการบริหารงานบุคคลของศาลยุติธรรม กรณีแต่งตั้ง นายสราวุธ เบญจกุล ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม และอดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ปฏิบัติหน้าที่สำคัญในหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่ประธานศาลฎีกา มีการตั้งกรรมการสอบสวนทางวินัย นั้น

 

DSI ชี้แจงว่า นายสราวุธ เบญจกุล ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ในคณะกรรมการคดีพิเศษ (ด้านการเงินการธนาคาร) ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 25 พ.ค.64 ก่อนที่ประธานศาลฎีกา จะมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยอย่างร้ายแรง เมื่อวันที่ 19 ส.ค.64 ตามที่ปรากฏข่าว

DSIแจงตั้ง"สราวุธ"นั่งบอร์ดคดีพิเศษ ก่อนป.ฎีกาตั้งกรรมการสอบวินัย

ทั้งนี้ ในการเสนอแต่งตั้งนั้น กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้ตรวจสอบแล้วว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 6 เนื่องจากตำแหน่งปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม และตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เป็นตำแหน่งด้านธุรการศาลยุติธรรม มิได้เป็นผู้ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลยุติธรรม อันจะต้องห้ามดำรงตำแหน่ง

 

นายสราวุธ เป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย รวมทั้งด้านการเงินการธนาคาร เนื่องจากเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการธุรกรรม คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 

DSIแจงตั้ง"สราวุธ"นั่งบอร์ดคดีพิเศษ ก่อนป.ฎีกาตั้งกรรมการสอบวินัย

อย่างไรก็ตาม การดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคดีพิเศษ มีวาระดำรงตำแหน่งวาระละ 2 ปี และมิให้ดำรงตำแหน่งรวมกันเกินสามวาระ 

 

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ.2547 มาตรา 7 โดยการดำรงตำแหน่งครั้งนี้เป็นการแต่งตั้งวาระที่สามแล้ว ซึ่งวาระแรกเป็นการแต่งตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พ.ย.59 และวาระที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ม.ค.62

 

ศาลปกครองกลางไม่รับฟ้อง “สราวุธ” ฟ้อง ปธ.ศาลฎีกา

 

ก่อนหน้านี้นายสราวุธ ยื่นฟ้องนางเมธินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา และนายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม รวมทั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย 3 คน ขอให้เพิกถอนคำสั่งของประธานศาลฎีกา ที่ตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงนายสราวุธ เรื่อง การทุจริตจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง อาคารศาลจังหวัดตลิ่งชัน และอาคารศาลจังหวัดมีนบุรี โดยอ้างว่า คำสั่งตั้งของประธานศาลฎีกา ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.64 ศาลปกครองกลาง มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนายสราวุธ เป็นคดีหมายเลขดำที่ บ.271/2564 คดีหมายเลขแดงที่ บ.188/2564 เนื่องจากเห็นว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง

 

ขณะที่การประชุม ก.ต.วันที่ 6 ก.ย.64 ประธานศาลฎีกา ไม่ได้นำเรื่องขอความเห็นชอบให้พักราชการนายสราวุธ เข้าสู่การพิจารณาของ ก.ต. และยังไม่มีการพิจารณาเรืองที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ศาลยุติธรรม ควรอนุญาตให้นายสราวุธ ออกไปดำรงตำแหน่งหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตในหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไปหรือไม่ แต่อย่างใด และ ปธ.ฎีกา ไม่ได้กำหนดวันนัดประชุมในเดือนก.ย.64 ในวันอื่นอีก จึงต้องรอให้ประธานศาลฎีกาคนใหม่ ซึ่งจะมารับตำแหน่งแทนดำเนินการต่อไป

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลขาธิการป.ป.ช.เผยมีเรื่องร้องเรียน "นายกฯ-วิษณุ"ผิด157

logoline