svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ผลิตผ้าทอผสมเส้นใย 'ใบอ้อย' ทำเงินสู้โลกร้อน!

22 ธันวาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านหนองโกวิทย์ จ.สระแก้ว พัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้าน ผลิตผ้าทอมือผสมเส้นใยใบอ้อย ใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น สร้างมูลค่า ใส่แล้วเย็น ลด PM2.5 ลดการเผาใบอ้อยในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยเข้าโรงงาน

"บ้านหนองโกวิทย์" กลุ่มทอผ้าชุมชนอนุรักษ์ภูมิปัญญาพื้นบ้านด้วยกี่กระตุกโบราณ ที่ถ่ายทอดสืบต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น โดยยึดการรวมกลุ่มที่เหนียวแน่น บริหารจัดการทรัพยากรที่มีอยู่กันในท้องถิ่นอย่างลงตัวของชาวบ้านในพื้นที่ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ จังหวัดสระแก้ว จนเกิดเป็นกลุ่มชุมชนมีแต่ความรัก ความสามัคคี และความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน ก่อให้เกิดรายได้ มีการแปรรูปผลิตภัณฑ์ด้วยเอกลักษณ์การทอที่โดดเด่นเฉพาะตัว จนแตกต่างจากพื้นที่อื่นชัดเจน ล่าสุด ได้พัฒนาการผลิตเส้นใยผ้า โดยการนำเอาเส้นใยจากใบอ้อยมาเป็นส่วนผสมในการผลิตเส้นใย ก่อนนำมาก่อถักทอ ซึ่งมีคุณสมบัติที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของตนเองคือ ผ้าจะมีความเย็นใส่สบาย บวกกับสีผ้าที่สกัดจากวัตถุดิบที่มีในท้องถิ่น 100% ไม่ใช้สีสังเคราะห์ จึงสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน

ทีมข่าวลงพื้นที่หมู่บ้านดังกล่าว พบว่า บ้านหนองโกวิทย์ มีการจัดแบ่งโซนพื้นที่คุ้มต่าง ๆ กับพื้นที่สาธารณะไว้อย่างชัดเจน วิถีชีวิตของชาวบ้านที่นี่มีการประกอบอาชีพดั้งเดิม ทำไร่ ทำนา ควบคู่กันไปอาชีพทอผ้า ปัจจุบันมีลวดลายที่โดดเด่นหลายอย่าง อาทิ ลายสก๊อต ทั้งลายใหญ่และลายเล็ก คุณลักษณะเด่นอีกอย่างคือ ผ้าทอที่่นี่สีไม่ตก เนื้อผ้ามีความแน่น เกือบทุกบ้านไม่ต้องกว่า 28 ครัวเรือน มีกี่โบราณ ที่ปู่ย่า ตายาย นำติดมาด้วยตั้งแต่อพยพมาจากภาคอีสาน มีการสืบทอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มทอผ้าตลอดเวลา โดยมีหน่วยงานราชการ ร่วมเป็นพี่เลี้ยงกว่า 10 ปี ปัจจุบันผ่านการฝึกอบรม เผยแพร่ให้ความรู้ แก่เยาวชนและเครือข่ายกลุ่มทอผ้าในพื้นที่อำเภอเขาฉกรรจ์ ได้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันอย่างต่อเนื่อง

น.ส.สุวรรณะ ประไพ ผู้ใหญ่บ้านหนองโกวิทย์ ม.7 ต.เขาสามสิบ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว และประธานกลุ่มศูนย์เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนทอผ้าบ้านหนองโกวิทย์ กล่าวว่า กลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านหนองโกวิทย์ ต้องการให้งานที่มีคุณภาพออกไปสู่ลูกค้า ผ้าแต่ละชิ้นจะมีขั้นตอนที่ยากและใช้การย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งต่างจากผ้าทอโรงงานธรรมดาราคาเมตรละ 75 บาท แต่ผ้าทอมือที่มีการผสมใยอ้อย ราคาเมตรละ 200 บาท ราคาต่อผื่นจะเพิ่มขึ้นจากผ้าปกติเท่าตัว ซึ่งใยอ้อยมีคุณสมบัติพิเศษคือ ทำให้ผ้าเย็น ซึ่งจะมีรูพรุน เมื่อนำไปตัดเสื้อผ้า หมวก จะทำให้เย็น และที่สำคัญคือ สามารถช่วยลดภาวะโลกร้อน ลดการเผาใบอ้อยของเกษตรกร ถือว่า เป็นส่วนหนึ่งเล็ก ๆ ที่ไปช่วยตรงนี้ได้ ซึ่งวิธีการทำคือ จะไปจัดหาใบอ้อยสดนำมาหมักครั้งละ 200 กก.เป็นเวลา 4 เดือน แบบธรรมชาติไม่ใช้สารเคมี จากนั้นนำมาซักให้เป็นใยอ้อย

น.ส.สุวรรณะ กล่าวว่า ภูมิปัญญานี้เป็นการนำมาประยุกต์รวมกับสิ่งที่ทางชุมชนเล็กเห็นว่า ใบอ้อยมีใย และได้รับความอนุเคราะห์จากคณะอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี เข้ามาส่งเสริมและให้ความรู้กระบวนการทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการหมัก การซัก และนำกากใยใบอ้อยประมาณ 20 % ไปปั่นผสมฝ้ายเป็นด้ายสำหรับทอผ้า โดยแกนด้ายสำหรับทอผ้า ทางชุมชนก็ใช้ปล้องของต้นเพกาแทนพลาสติก ปัจจุบันนี้ชาวบ้านสามารถทำได้เองทุกขั้นตอน ซึ่งจากภูมิปัญญาที่เราทอกันมา 20-30 ปี จึงได้นำใยจากใบอ้อยมาทอผ้าเมื่อประมาณ 2 ปี ถือเป็นการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ และสิ่งที่เราภาคภูมิใจที่สุดคือ เราได้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน จากเดิมที่เกษตรกรจะตัดอ้อย มักจะใช้วิธีการเผา จึงไปนำใบอ้อยส่วนหนึ่งมาใช้เพื่อช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนหนึ่งก็เป็นการทอผ้าด้วยกี่โบราณ ทำด้วยมือ ซึ่งสังเกตจากลูกค้าที่มาซื้อสินค้าชุมชน แม้ว่าจะขายในราคาที่สูงกว่าผ้าปกติ 1 เท่าตัว แต่ลูกค้าก็ประทับใจ เมื่อบอกราคาไปลูกค้าจะไม่ต่อเลย ถ้าเปรียบเทียบกับสีเคมีส่วนใหญ่จะต่อรองราคาลงมา แต่ผ้าที่มาจากสีธรรมชาติและจากใยอ้อย ลูกค้าจะพอใจในราคาที่เราขาย

 

 

 

"ปัจจุบันกลุ่มทอผ้าชุมชนบ้านหนองโกวิทย์มีสมาชิกที่ทอผ้าทั้งหมด 28 ครัวเรือน ทำงานร่วมกับกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ โดยทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการไปนำใบอ้อยมา การแปรรูป มีเยาวชนลูกหลานบ้านหนองโกวิทย์เข้ามามีส่วนร่วมเยอะ ยิ่งในช่วงภาวะโควิด-19 มีเยาวชนที่กลับมาอยู่บ้าน ได้เข้ามาช่วยกลุ่ม นำความรู้ที่ได้มาจากโรงงานมาฝึกสอนแนวทางการแปรรูปเพิ่มเติมได้ ทำให้ปัจจุบัน การทำผ้าทอมือฯ สร้างรายได้เป็นอาชีพหลักให้กับชุมชนได้แล้วในปัจจุบัน จากเดิมที่ทำนาทำไร่ แต่ก่อนก็ทำกันแค่ทอผ้าออกใสเป็นผืนแล้วนำไปขาย ตอนนี้มีการแปรรูปเป็นเสื้อผ้า หมวก ตุ๊กตา กระเป๋า เสื้อ และอีกหลายผลิตภัณฑ์ สามารถนำไปออกงานต่าง ๆ ได้

สำหรับผลิตภัณฑ์ผ้าที่ทางกลุ่มฯ ผลิตออกมานั้น ได้ส่งเข้าประกวดคัดสรรดาว ตอนนี้ได้ 4 ดาว และได้รับมาตรฐานเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งปัจจุบันได้รับโอกาสจากหน่วยงานราชการเข้ามาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ ปัจจุบันมีหลายหน่วยงานมาสั่งผลิตภัณฑ์แปรรูปไปสมนาคุณลูกค้า เช่น ธกส., บริษัทผลิตอะไหล่รถยนต์ เป็นต้น สำหรับสีที่นำมาใช้กับผ้าทอมือนั้น น.ส.สุวรรณะ บอกว่า สีที่นำมาย้อมฝ้ายก่อขึ้นทอ โดยใช้สีธรรมชาติในชุมชน เช่น สีน้ำตาล ได้มาจากเปลือกต้นนนทรีหรือ ต้นอาราง ผ้าที่ย้อมออกมาจะออกสีน้ำตาลอ่อน , หรือสีน้ำตาลได้มาจากต้นเพกา หรือลิ้นฟ้า ซึ่งแต่ละต้นจะได้สีไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับดินที่ขึ้น ,สีเขียว ได้จากย้อมใบย่านาง ,สีเหลือง ได้จากแก่นขนุน , สีน้ำตาลเข้ม จะใช้เปลือกประดู่ผสมกับน้ำขี้เถ้า ได้สีน้ำตาลเข้ม ๆ ซึ่งสีทุกสีเราเอามาจากชุมชนเราทั้งสิ้น

ทางด้าน นางบุญหลัด สุขสมร อายุ 56 ปี สมาชิกกลุ่มผ้าทอมือบ้านหนองโกวิทย์ ม.7 ต.เขาสามสิบ กล่าวว่า ฝึกหัดและทอผ้าด้วยมือได้ ตั้งแต่อายุ 15 ปี ปัจจุบันทอผ้ามานานกว่า 40 ปี ซึ่งก็ยากพอสมควร ซึ่งกว่าจะได้ผ้าแต่ละผืน ต้องใช้เวลาประมาณ 2 วันกว่าจะทอผ้าเสร็จ 1 ผืน ซึ่งก็มีรายได้เมตรละ 200 บาท ดีกว่าทำนาทำไร่ แต่ถึงอย่างก็ก็ต้องทำนาไว้กิน รายได้ต่อเดือน ประมาณ 3,000-4,000 บาท ตอนนี้ที่บ้านก็ยังหาคนมาสืบทอดภูมิปัญญานี้ได้ เพราะมีแต่ลูกและหลานชาย จึงยังหาคนที่มาสืบทอดภูมิปัญญานี้ของตนเองไม่ได้ ตอนนี้กลุ่มทอผ้าในหมู่บ้านมีสมาชิก 28 ราย ยังคงรับทอผ้าด้วยกี่โบราณกันอยู่ สำหรับการนำใยอ้อยมาเป็นส่วนผสมเพื่อทอผ้านั้น ก็ทำให้การทอผ้ายากขึ้นบ้าง แต่ก็ภาคภูมิใจที่ได้ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ได้ทำเสื้อผ้าดี ๆ ให้คนได้ใส่ และยังภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ผลิตผ้าดี รักษาสิ่งแวดล้อมให้คนได้ใส่กัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับชุมชนบ้านหนองโกวิทย์ ตำบลเขาสามสิบ อำเภอเขาฉกรรจ์ ถือเป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่อยู่กินกันอย่างพอเพียง ชาวบ้านโดยส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ที่มีภูมิปัญญาที่ตกทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้ คือ การทอผ้าด้วยกี่ทอผ้าโบราณ ซึ่งผ้าทอมือที่บ้านหนองโกวิทย์มีชื่อเสียงได้รับการชื่นชมโดดเด่นอีกอย่างคือ ผ้าขาวม้าหมักโคลน ที่เป็นการนำเส้นด้ายไปหมักโคลน เพื่อสร้างสีสันให้กับเส้นด้ายก่อนนำไปถักทอด้วย

logoline