svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ถอดบทเรียน "หุ้น MORE" เขย่าตลาด จี้ปิดช่องโหว่ก่อนโดน "ปล้นซ้ำรอย"

27 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หุ้น MORE กลายเป็นเรื่อง “ทอล์ค ออฟ เดอะทาวน์” หลังเกิดปฏิบัติการโหดตั้ง "นอมินี" ซื้อขายหุ้นกลายเป็นจุดอ่อนของตลาดทุน  ขณะที่ปปง. สั่งอายัดทรัพย์นักธุรกิจดังจำนวน 36 รายการ มูลค่าประมาณ 5,395 ล้านบาท  

สั่นสะเทือนทั้งวงการตลาดทุน หลังจากวันที่ 10 พ.ย. เกิดปฏิบัติการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น  เมื่อมีการส่งคำสั่งซื้อขายหุ้น  MORE หรือ บริษัท มอร์ รีเทิร์น จำกัด (มหาชน) ผ่าน 11 โบรกเกอร์  ด้วยปริมาณหุ้นจำนวนมหาศาลกว่า 1,500 ล้านหุ้น ที่ราคาเปิด 2.90 บาท หลังจากเปิดตลาดได้ ไม่นานหุ้นก็ถูกถล่มถลายอย่างหนัก จนทำให้ราคา "ดิ่งติดฟลอร์" ที่ราคา 1.95 บาท ลดลง 30% ด้วยปริมาณการซื้อขายกว่า 7 พันล้าน  

หลังจากนั้นวันที่ 11 พ.ย.ราคาหุ้น MORE ยังคงถูกเทขาย ก่อนเปิดตลาด (ATO) ลงมาติดฟลอร์ที่ราคา 1.37 บาท  ซึ่งราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรง โดยอาจเป็นความตั้งใจของนักลงทุนรายใหญ่ที่ตั้ง "นอมินี" มารับซื้อหุ้นที่ขาย

โดย "นอมินีขาใหญ่" วางหลักทรัพย์คำประกันกับโบรกเกอร์ประมาณ 11 แห่ง มีจำนวนประมาณ 500 ล้านหุ้น หรือมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาท แต่เงินจากการขายหุ้น MORE ผ่านนอมินีมีจำนวนประมาณ 4,500 ล้านบาท

ซึ่งหากหักส่วนต่างแล้วจะเหลือ 3,000 ล้านบาท  เป็นกำไรที่เกิดขึ้นมหาศาล แต่ทำให้โบรกเกอร์ต้องเสียหายอย่างหนัก จนเรียกว่าเป็นปฏิบัติการ “ปล้นโบรก”

ทันทีที่มีกระแสข่าวเกิดขึ้น ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) แจ้งว่า ได้หยุดพักการซื้อขายหุ้น MORE  ในวันที่ 15-18 พ.ย.ที่ผ่านมา   เนื่องจากพบการซื้อขายที่ผิดปกติไปจากช่วงก่อนหน้า  

โดยปฏิบัติการณ์ครั้งนี้อาศัยช่องของกฎ T+2   ซึ่งเป็นการการรับเงินค่าขายหลักทรัพย์และการหักเงินค่าซื้อหลักทรัพย์จากบัญชีจะดำเนินการใน 2 วันทำการ หลังจากทำรายการซื้อขาย หรือ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง”  

โดยโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะดูวงเงินการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับนักลงทุนแต่ละราย ตามฐานะทางการเงิน หลักประกัน และความสามารถในการชำระหนี้ เมื่อได้รับการอนุมัติวงเงินแล้ว นักลงทุนต้องวางหลักประกัน 15% ของวงเงินดังกล่าวไว้กับโบรกเกอร์ หลักประกันจะเป็นเงินสดหรือหลักทรัพย์ก็ได้

ซึ่งจะต้องชำระราคาค่าซื้อขายหุ้นในวันที่ 14 พ.ย. โบรกเกอร์ฝั่งซื้อจะต้องชำระราคาภายใน 12.00 น. และโบรกเกอร์ฝั่งขายจะต้องชำระเงินให้ลูกค้าที่สั่งขายภายในเวลา 15.00 น.

แต่รายการซื้อขายหุ้นที่ผิดปกติ ที่เกิดขึ้นในวันที่ 10 พ.ย. บรรดาโบรกเกอร์ ประมาณ 11 ราย ฝั่งซื้อได้เรียกร้องให้ตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการชำระราคา ทั้งซื้อและขายหุ้น MORE ชั่วคราว ทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลเรื่องระบบซื้อขาย อ้างว่าไม่มีอำนาจสั่งระงับการชำระราคาค่าซื้อขาย หุ้น MORE และถ้าระงับอาจถูกฟ้องดำเนินคดีได้  
 

เมื่อหันหน้าไปพึ่งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในฐานะกำกับดูแลตลาดทุน ขอให้คำสั่งซื้อดังกล่าวเป็น "โมฆะ"  เนื่องจากหุ้น MORE มีสภาพการซื้อขายที่ผิดปกติ แต่ ก.ล.ต. ไม่ยอมให้ยกเลิก โดยระบุว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของโบรกเกอร์เอง และถ้ายอมให้โมฆะได้นักลงทุนอื่นที่ทำรายการซื้อ-ขาย อย่างถูกต้องจะได้รับผลกระทบไปด้วย

สุดท้ายแล้วได้รับความช่วยเหลือจากปปง. เพื่อขอข้อมูลและเข้าไปตรวจสอบโบรกเกอร์หลายแห่ง จนพบข้อมูลสงสัยได้ว่าธุรกรรมการซื้อขายหุ้น MORE ที่มีประเด็นเกิดขึ้น อาจเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย "ฟอกเงิน" จึงมีคำสั่ง Freez บัญชีซื้อขายหุ้นที่มีวอลุ่มเทรดตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไปต่อบัญชีทุกบัญชีที่ทำธุรกรรมในวันที่ 10 พ.ย. ไว้ก่อน 7 วัน เพื่อเร่งตรวจสอบให้ผลออกมาเร็วที่สุด

ล่าสุดปปง. สั่งอายัดทรัพย์สินนักธุรกิจชื่อดังของเมืองไทยเข้าข่ายฉ้อโกงหุ้น MORE จำนวน 36 รายการ มูลค่าประมาณ 5,395 ล้านบาท ตามประมวลกฏหมายอาญา

ทั้งนี้พบว่าในวันเกิดเหตุมี "นายอภิมุข บำรุงวงศ์" และบุคคลที่เกี่ยวข้องตั้งคำสั่งซื้อหุ้น MORE เป็นจำนวนมากก่อนที่ตลาดฯ จะเปิดทำการ โดยเป็นการส่งคำสั่งซื้อหุ้นผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (โบรกเกอร์) ประมาณ  11 แห่ง โดยพบวอลุ่มสูงผิดปกติจำนวน 1,500 ล้านหุ้น ในช่วงเปิดตลาด(ATO) ที่ราคาหุ้นละ 2.90 บาท คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4,400 ล้านบาท

ขณะที่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาการชำระค่าหุ้น "นายอภิมุข" ไม่สามารถชำระค่าซื้อหุ้นได้ ซึ่งเห็นว่าการซื้อขายหุ้นดังกล่าวทำให้ประชาชนและนักลงทุนทั่วไปเข้าใจผิดว่าหุ้น MORE เป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงในการลงทุน ส่งผลให้ภาระการจ่ายเงินทั้งหมดตกอยู่กับโบรกเกอร์ที่เป็นผู้ส่งคำสั่งซื้อหุ้นของ "นายอภิมุข"  ขณะที่ฝั่งผู้ขายมีการตั้งคำสั่งขายลักษณะเหมือนกัน โดยมีผู้เกี่ยวข้องประมาณ 24 ราย

เหตุการณ์ครั้งนี้เป็นบทเรียนให้กับโบรกเกอร์จะต้องระมัดระวังการปล่อยกู้ให้มากขึ้น จากเดิมโบรกเกอร์จะมีแผนธุรกิจยึดแหล่งรายได้มาจากค่าคอมมิชชั่นและการปล่อยกู้ยืมเงินแก่นักลงทุน และบางโบรกเกอร์ใช้แผนกดค่าคอมมิชชั่นตนเองให้ต่ำ ซึ่งจากรายได้ค่าคอมน้อย ก็จะไปหวังพึ่งมูลค่าการปล่อยกู้ยืมเงินปริมาณสูง

โดยจะทำให้การธุรกิจดังกล่าวอยู่บนความเสี่ยงมาก  โดยเฉพาะโบรกที่ไม่ได้มีบริษัทแม่ทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ หากมีปัญหา เรื่องการตั้งสำรองอาจทำให้ต้องถึงขั้นปิดการหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไปว่าสุดท้ายแล้ว ภาครัฐจะลากไส้กลุ่ม "นอมินีขาใหญ่" เข้ามาปฏิบัติการปล้น "โบรกเกอร์ "ด้วยการฉ้อโกง มาดำเนินคดีตามกฏหมายได้หรือไม่  

นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับหุ้น MORE  สะท้อนจุดอ่อนของตลาดทุนไทยที่เต็มไปด้วย “หุ้นปั่น” ซึ่งในระดับโครงสร้างอาจจะเอื้ออำนวยให้มีการเก็งกำไรหรือปั่นราคาหุ้นได้ง่าย  ดังนั้นต้องปรับโครงสร้างใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เหล่านี้ซ้ำรอยขึ้นมาอีก  

 ด้วยความที่ บริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ส่วนใหญ่มีขนาดเล็กและฟรีโฟลตต่ำ รวมไปถึงไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดเข้าไปป้องกัน จึงเกิดช่องว่างที่นักเล่นหุ้นรายใหญ่สบช่องเข้าไปหาผลประโยชน์

ซึ่งจะทำอย่างไรป้องกันรายใหญ่ทำ CONNER  หรือการที่นักลงทุนเข้ามากวาดซื้อหุ้นในจำนวนมาก จนหุ้นที่ซื้อขายหมุนเวียนในตลาดนั้นเกือบหมดตลาด  ซึ่งเป็นเรื่องที่หน่วยงานกำกับต้อง "แอคชั่น" และมีมาตรการออกมาควบคุมดูแลอย่างรวดเร็วป้องกันไฟลามทุ่ง เพราะหากตัดสินใจล่าช้าจะยิ่งฉุดความเชื่อมั่นในตลาดทุนและความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจเกินเยียวยาที่จะแก้ไข...

 

logoline