svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อานิสงส์ 'เอเปค' ภูเก็ตลุยเพาะพันธุ์กุ้งมังกร 7 สี

22 พฤศจิกายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมประมงพร้อมผลักดันส่งเสริมเพาะพันธุ์กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ตอบสนองความต้องการตลาด หลังได้รับเลือกเป็นหนึ่งในวัตถุดิบขึ้นโต๊ะอาหารต้อนรับผู้นำในการประชุมเอเปค 2022

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง พร้อมด้วยนางพิชญา ชัยนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง, นางสุทธินี ลิ้มธรรมมหิศร ผู้อำนวยการกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง กรมประมง และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานของหน่วยงานกรมประมงในจังหวัดภูเก็ต โดยมีนายสิทธิพล เมืองสง ประมงจังหวัดภูเก็ต นำคณะลงตรวจเยี่ยมติดตามผลการดำเนินงานด้านการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในกระชังขององค์กรชุมชนประมงพื้นบ้านคลองมุดงและบ้านป่าหล่าย อ.เมือง จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นกระชังเลี้ยงสัตว์น้ำและกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ของนายปวริศน์ ราชรักษ์ หรือแพโกปาน หนึ่งในสิบห้าสมาชิกองค์กรชุมชนประมงพื้นบ้าน วิสาหกิจชุมชนประมงชายฝั่ง และการท่องเที่ยวบ้านป่าหล่าย ที่มีการเลี้ยงปลากระชังและกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ซึ่งได้รับคัดเลือกเป็น 1 ในวัตถุดิบเมนูงานเลี้ยงกาลาดินเนอร์ APEC 2022 เมนู Salad (สลัด) ยำใหญ่ผักออร์แกนิก 9 อย่าง จากวิสาหกิจชุมชนทั่วทุกภาคของเมืองไทย ทำให้กุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต เป็นที่รู้จักเพิ่มมากขึ้น จากก่อนหน้านี้จะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ส่งผลต่อการเพาะเลี้ยง เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านลูกพันธุ์ซึ่งมีเฉพาะในธรรมชาติเท่านั้น จึงต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำการช่วยเหลือเพาะพันธุ์มังกร เพื่อลดต้นทุนการนำเข้าลูกพันธุ์จากต่างประเทศ และควบคุมการผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาดที่เติบโตขึ้นในอนาคต

นายประพันธ์ ลีปายะคุณ รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า กรมประมง ได้ทำการเพาะพันธุ์กุ้งมังกรมาได้แล้ว แต่การอนุบาลให้มีขนาดใหญ่ยังต้องใช้เวลาอีกเล็กน้อย เนื่องจากต้องใช้เทคนิคขั้นสูงในการอนุบาลให้มีขนาดใหญ่ ก่อนนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง โดยในการเพาะพันธุ์ได้มีการอนุบาลไว้ 30 วัน จึงนำไปปล่อยเสริมในธรรมชาติ เพื่อเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ และเพิ่มผลผลิตในแหล่งน้ำในทะเล ปัจจุบันได้ทำการปล่อยไปแล้ว 3 รุ่นๆ ละประมาณ 1 ล้านตัว ทำให้ประชากรกุ้งมังกรในทะเลภูเก็ตมีความสมบูรณ์มากขึ้น และพี่น้องชาวประมงสามารถจับกุ้งวัยรุ่นมาเลี้ยงในกระชังสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้จำนวนมาก

      ส่วนความกังวลของเกษตรกรในการนำเข้าลูกพันธุ์กุ้งนั้น นายประพันธ์ กล่าวว่า เนื่องจากความต้องกุ้งมังกรมีสูง จึงมีการนำเข้ามาเลี้ยงเป็นกุ้งเนื้อ ซึ่งกรมประมงดูแลไม่ให้เกิดปัญหาภายใน เช่น โรคระบาด เป็นต้น แต่เนื่องจากเป็นการเพิ่มมูลค่าของการค้าเสรี จึงไม่ได้มีการกีดกันปล่อยให้เป็นไปตามกลไกทางการตลาด โดยกรมประมงจะเฝ้าระวังในเรื่องของโรคระบาด ทั้งนี้ทางกรมประมงจะยังเดินหน้าต่อยอดเพาะพันธุ์ลูกกุ้งมังกรเพื่อนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ เพิ่มความอุดมสมบูรณ์และผลผลิตสัตว์น้ำ เพื่อให้เกษตรกรสร้างรายได้จากการจับกุ้งมังกรในขนาดที่สามารถนำไปเลี้ยงในกระชัง เพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต ควบคู่กับการส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาการเพาะพันธุ์ลูกกุ้งมังกร จนสามารถควบคุมการผลิตและเอกลักษณ์ของกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต จนสามารถรองรับตลาดกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ตที่จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

ขณะที่นายปวริศน์ ราชรักษ์ หรือโกปาน เจ้าของแพโกปานป่าหล่าย กล่าวว่า หลังจากกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในวัตถุดิบสลัดยำใหญ่ผักออแกนิคเมนูขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค ปรากฏว่าสื่อ และร้านอาหารที่มีชื่อเสียงในกรุงเทพฯ ติดต่อเข้ามาพอสมควร โดยเป็นร้านอาหารที่ไม่เคยติดต่อมาก่อน และมีบางร้านที่ขอเข้ามาดูวัตถุดิบเพื่อเสนอให้กับร้านอาหารในกรุงเทพฯ รวมถึงจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งในแง่ของผลผลิตที่มีอยู่นั้นได้เคยมีการพูดคุยกับทางประมงจังหวัดและประมงชายฝั่งว่าจะมีการทำงานร่วมกันอย่างไร โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงซึ่งปัจจุบันใช้ลูกพันธุ์ในธรรมชาติเป็นหลัก เพราะเราไม่สามารถเพาะพันธุ์ได้เอง ในส่วนผลผลิตที่ได้จากแพของตนนั้นจะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 100-200 กิโลกรัม โดยยังไม่ได้รวมของกระชังอื่นๆ ขณะนี้ตลาดจีนยังไม่เข้ามา ผลผลิตที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการ เนื่องจากกุ้งมังกร 7 สีภูเก็ต เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก

logoline