svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

วันนี้ จับตา TRUE - DTAC ควบรวมได้หรือไม่ รู้ก่อนใครรวมข้อมูลมาให้แล้วที่นี่

20 ตุลาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ จับตาบิ๊กดีลยักษ์ใหญ่สื่อสาร TRUE - DTAC ควบรวมสำเร็จหรือไม่ "บอร์ดกสทช." จะเคาะออกมาอย่างไร เช็กเลยข้อมูลเหตุผล รวมมาให้แล้ว

20 ตุลาคม 2565  ที่ "กสทช." เวลา 09.30 น. คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. มีนัดประชุมวาระพิเศษลงมติอนุญาตหรือ ไม่อนุญาตให้ 2 กลุ่มทุนสื่อสารยักษ์ใหญ่ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  TRUE กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ควบรวมธุรกิจได้หรือไม่

 

นอกจากนี้ สภาองค์กรผู้บริโภค ได้โพสต์ข้อความ เชิญชวนให้คนใช้มือถือไปพบกันที่ กสทช. 9 โมงเช้า วันนี้(20 ต.ค.) โดยระบุว่า ประกาศด่วน ! พรุ่งนี้รวมพลคนใช้มือถือ เจอกันที่ กสทช. 9 โมงเช้า เราจะไปรอฟังคำตอบ กสทช. จะเคาะปิดดีลทรูดีแทคยังไง ดีลนี้กระทบคนทั่วประเทศ ดังนั้น กสทช. ต้องเปิดเผยรายงานที่ปรึกษา และเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน

 

ทั้งนี้ ฐานเศรษฐกิจ ได้สรุปฝ่ายสนับสนุน และ ฝ่ายคัดค้าน ของดีลมโหฬาร “TRUE-DTAC” เอาไว้ว่า

“TRUE-DTAC” ร่ายยาวเหตุควบรวม

“TRUE” และ “DTAC” ตกลงที่จะรวมธุรกิจระหว่างกันเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ด้วยเหตุผลดังนี้

  • เป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการโทรคมนาคมที่ปัจจุบันต้องเผชิญกับความกดันหลายด้าน โดยเฉพาะการถูกทดแทนถูกแย่งส่วนแบ่งโดยกลุ่มผู้เล่น OTT  ที่ไม่ต้องลงทุนเครือข่าย ไม่มีต้นทุนค่าคลื่นความถี่
  • เครือข่ายจะเชื่อมโยงครบทุกคลื่นความถี่เกือบ 50,000 สถานีครอบคลุมทั่วประเทศ และเป็นโครงสร้างพื้นฐานการสื่อสารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
  • เมื่อรวมกันแล้วเทคโนโลยีจะช่วยผู้ประกอบการหลายล้านคนประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจ
  • คนไข้ที่ลำบากแม้อยู่ห่างไกลจะได้รับการดูแล และเยาวชนจะเข้าถึงความรู้อย่างเท่าเทียมด้วยการศึกษาแบบออนไลน์
  • เทคโนโลยีดิจิตอลจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
  • ตั้งศูนย์นวัตกรรมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านดิจิตอลเทคโนโลยีระดับโลก
  • ตั้งกองทุนสตาร์ทอัพกว่า 7,300 ล้านบาท พร้อมกับการได้เข้าถึงคลังข้อมูลบนแพลตฟอร์มแห่งโอกาสที่ครอบคลุมประชากรกว่า 99% ในประเทศ เพื่อเติมเต็มความฝันที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้น

 

จับตาวันนี้ ควบรวม ทรู-ดีแทค ได้หรือไม่

“TDRI” ชี้ “TRUE-DTAC” ผูกขาดธุรกิจ

 

ขณะที่ นายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ยืนยันว่า “TRUE” และ “DTAC” เมื่อควบรวมธุรกิจแล้วทำให้เกิดผูกขาดธุรกิจ โดย TDRI ตั้งข้องสังเกตุ 3 ประเด็นที่ประชาชนควรจับตามองในการพิจารณาควบรวม ทรู-ดีแทค ของ กสทช.

 

  • หากเกิดการควบรวมแล้ว โครงสร้างตลาด โทรศัพท์มือถือและตลาดโทรคมนาคมไทยก็จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างยากที่จะย้อนกลับคืนมาได้อีก

 

การวิเคราะห์ด้านเศรษฐศาสตร์ระบุชัดว่าการควบรวมก่อให้เกิดผลเสีย

 

  • การควบรวมครั้งนี้เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลและเกี่ยวข้องกับกลุ่มทุนใหญ่ ผู้สนับสนุนการควบรวมจึงพยายามโฆษณาชวนเชื่อ โดยอาศัย “นักวิชาการ” จำนวนหนึ่งให้พูดสนับสนุนการควบรวม โดยอ้างถึงประโยชน์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อประชาชน
  • อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ติดตามข่าวจะพบว่า คำกล่าวอ้างดังกล่าวเป็นเพียงคำกล่าวอ้างที่เลื่อนลอย เนื่องจากไม่มีผลการศึกษาวิจัยหรือหลักฐานเชิงประจักษ์ใดๆ รองรับเลย นอกจากนี้ยังไม่เคยปรากฏว่า นักวิชาการเหล่านี้ได้เคยศึกษาวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ หรือศึกษาการแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมมาก่อนเลย
  • ในทางตรงกันข้าม ผลการศึกษาวิจัยที่ได้จัดทำอย่างเป็นระบบ โดยใช้แบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์หลายชิ้นไม่ว่าจะเป็นผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการด้านเศรษฐศาสตร์ของ กสทช. เอง ผลการศึกษาของที่ปรึกษาด้านเศรษฐศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ กสทช.ว่าจ้าง และผลการศึกษาของ 101Pub คลังสมองอิสระน้องใหม่ ต่างชี้ชัดว่า การควบรวมนี้จะทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค โดยผลการศึกษาในภาพรวมชี้ว่าราคาค่าบริการหลังควบรวมอาจสูงขึ้น 2-23% ในกรณีที่ไม่มีการสมคบราคากัน (ฮั้ว) ระหว่างผู้ประกอบการ 2 รายที่เหลืออยู่ แต่หากมีการฮั้วราคากัน อัตราค่าบริการอาจสูงขึ้นถึง 120-244% และ GDP ของประเทศจะหดตัวลง 0.5-0.6%
  • ผลการศึกษาที่หนักแน่นและตรงกันในทุกชุดจึงทำให้ความพยายาม “เล่นกลทางเศรษฐศาสตร์” ว่าการควบรวมมีประโยชน์นั้นไม่ได้รับความเชื่อถือเลย ไม่ว่าจะใช้ “นักวิชาการ” กี่คนออกมาให้ความเห็น กลุ่มผลประโยชน์ที่สนับสนุนการควบรวมจึงต้องหันไป “เล่นกล” ทางอื่น
  • สื่อมวลชนและประชาชนจึงควรจับตามองการประชุมของ กสทช. ใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้อย่างใกล้ชิด โดยระวังว่าจะมีการ “เล่นกล” ในด้านต่างๆ หรือไม่

 

ควบรวม ทรู-ดีแทค วันนี้รู้ชัดได้หรือไม่

 

จับตามองประเด็น 1 “การเล่นกลทางกฎหมายว่า กสทช. ไม่มีอำนาจห้ามควบรวม”

  • ที่ผ่านมา ผู้บริหารสำนักงาน กสทช. และ กสทช. บางคน มีท่าทีที่พยายามชี้นำสังคมให้เกิดความเข้าใจว่า กสทช. ไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม ต้องปล่อยให้เกิดการควบรวมอย่างเดียวเท่านั้น โดย กสทช. ทำได้เพียงกำหนดเงื่อนไขและมาตรการออกมาเพื่อลดผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้นจากการควบรวม
  • การเล่นกลทางกฎหมายครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เนื่องจากศาลปกครองกลางได้เคยพิจารณาในคดีที่เกี่ยวข้องแล้วว่า กสทช. มีอำนาจที่จะพิจารณาให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวมก็ได้ นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการด้านกฎหมายของ กสทช. เองก็เคยยืนยันชัดเจนต่ออำนาจของ กสทช. ในเรื่องดังกล่าวด้วย
  • กระนั้นก็ตาม ยังมีความพยายามในการส่งเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาเพียงใด ทั้งที่กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการผูกขาดและการควบรวมกิจการโทรคมนาคมล้วนเป็นกฎระเบียบที่ กสทช. ประกาศออกมาเอง ผลปรากฏว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาก็ชี้ไปในทางเดียวกันว่า กสทช. มีอำนาจพิจารณาตามกฎหมายของตน
  • ประชาชนจึงควรจับตามองดูว่า ในการประชุมของ กสทช. จะมีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมา “เล่นกล” โดยอ้างว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณา เพื่อให้การควบรวมเกิดขึ้นได้อย่างสะดวกอีกหรือไม่
  • ทั้งนี้ นักเล่นกลทางกฎหมายน่าจะอ้างว่า การควบรวมแบบการรวมธุรกิจ (merger) จนรวมเป็นบริษัทเดียว (amalgamation) แบบที่ทรูและดีแทคดำเนินการ ต้องใช้ประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งมีบทบัญญัติที่เข้มงวดน้อยกว่าประกาศ กสทช. ปี 2549 ซึ่งจะถูกอ้างว่าใช้ได้เฉพาะการซื้อกิจการ (acquisition) เท่านั้น ทั้งที่ประกาศ กสทช. ปี 2549 บัญญัติไว้ชัดเจนว่า รวมถึงการถือครองธุรกิจในบริการเดียวกัน เพื่อควบคุมการบริหาร (control) ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งครอบคลุมการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคอย่างแน่นอน เพราะบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นย่อมต้องสามารถควบคุมผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมทั้งสองราย ไม่โดย “ทางตรง” ก็โดย “ทางอ้อม” มิฉะนั้นก็คงจะไม่มีประโยชน์ที่จะควบรวมกัน

 

จับตามองประเด็น 2 “การเล่นกลกำหนดเงื่อนไขเพื่อให้ควบรวมได้”

  • ดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า การควบรวมครั้งนี้จะส่งผลกระทบในด้านลบต่อผู้บริโภคและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากจะทำให้ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยมีโครงสร้างผูกขาดมากขึ้น จากการที่จำนวนผู้ประกอบการรายใหญ่ลดลงจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย และยากที่จะแก้ไขให้ตลาดกลับมามีผู้ประกอบการ 3 ราย และมีระดับการแข่งขันเช่นเดิมได้อีกในอนาคต เพราะตลาดดังกล่าวเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวแล้ว ไม่น่าจะมีรายใหม่สนใจเข้ามาให้บริการได้อีก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่ในอนาคต กสทช. จะสั่งให้มีการแยกกิจการที่ควบรวมไปแล้ว แม้จะเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการผูกขาด เพราะตนได้ให้อนุญาตควบรวมไปเอง
  • แม้การควบรวมนี้จะก่อให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถแก้ไขกลับมาได้ก็ตาม ก็ปรากฏว่ามีความพยายามที่จะสร้าง “ทางสายกลาง” ซึ่งหมายถึงการอนุญาตให้ควบรวมได้ แต่กำหนดเงื่อนไขควบคุมไว้ ดังปรากฏตามข่าวว่าสำนักงาน กสทช. ได้เตรียมเสนอเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะไว้ 14 มาตรการ เพื่อป้องกันผลกระทบในด้านลบที่จะเกิดขึ้นจากการควบรวม
  • เมื่อวิเคราะห์มาตรการต่างๆ ดังกล่าวดูแล้วจะพบว่า มาตรการส่วนหนึ่งมุ่งหวังให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือไม่ แต่เมื่อตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทยอิ่มตัวแล้ว มาตรการนี้จึงไม่สามารถทำให้ตลาดกลับไปมีผู้ประกอบการ 3 รายได้อีก หากปล่อยให้มีการควบรวมครั้งนี้
  • มาตรการอีกส่วนหนึ่งมุ่งควบคุมราคาค่าบริการไม่ให้สูงขึ้น คุณภาพบริการไม่ให้แย่ลง และสัญญาให้บริการที่ไม่ทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบมากขึ้น ซึ่งเป็นมาตรการที่ กสทช. ก็ประกาศใช้อยู่แล้ว แต่ไม่ปรากฏว่าสามารถกำกับดูแลได้จริง เราจึงไม่สามารถคาดหวังได้ว่า เมื่อตลาดผูกขาดมากขึ้น ซึ่งยิ่งทำให้การกำกับดูแลยากขึ้นไปด้วย จู่ๆ กสทช. จะเก่งขึ้นทันที จนสามารถกำกับดูแลตลาดผูกขาดนี้สำเร็จได้อย่างไร
  • มาตรการอีกกลุ่มหนึ่งเช่น การห้ามผู้ประกอบการที่ควบรวมกันใช้คลื่นร่วมกันในการให้บริการ หรือห้ามใช้แบรนด์เดียวกันในการทำตลาด ยิ่งสร้างผลเสียจากการควบรวม เพราะทำให้ประโยชน์อันน้อยนิดต่อผู้บริโภคที่อาจเกิดขึ้นจากการควบรวมไม่เกิดขึ้นเลย เพราะผู้ประกอบการไม่สามารถลดต้นทุนได้
  • ดังนั้น การกำหนดมาตรการ 14 ข้อออกมาจึงไม่มีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างจับต้องได้ และน่าจะกลายเป็นเพียง “การเล่นกล” เพื่อแสดงให้เห็นให้ว่า การควบรวมจะไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อผู้บริโภค เพื่อปล่อยให้ผู้ประกอบการสามารถควบรวมได้ตามที่ต้องการเท่านั้น

 

จับตามองประเด็น 3 “การเล่นกลในการลงมติในประเด็นต่างๆ ของกสทช.”

  • ที่สำคัญที่สุด ประชาชนควรจับตาดูการลงมติในประเด็นต่างๆ ของกสทช. ทั้งการลงมติของทั้งองค์คณะและการลงมติรายบุคคล
  • คนแรกที่ประชาชนควรจับตามองเป็นพิเศษคือ ประธาน กสทช. เนื่องจากการลงมติของประธานจะบอกทิศทางว่า กสทช. จะถูกนำโดยผู้ที่ยืนอยู่เคียงข้างผู้บริโภคหรืออยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน เนื่องจากประธานจะมีบทบาทอย่างมากในการกำหนดวาระ (agenda) ในการประชุม ตลอดจนมีส่วนสำคัญในการกำหนดวัฒนธรรมองค์กร ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่าประธาน กสทช. มีประวัติในการทำงานที่มีเรื่องมัวหมองใดๆ จึงต้องจับตาดูว่า ท่านจะสามารถรักษาเกียรติประวัติไว้ได้ต่อไปหรือไม่ และจะสามารถนำพาให้ กสทช. เป็นองค์กรที่ได้รับความเชื่อถือจากประชาชนได้หรือไม่
  • อีกคนหนึ่งที่ประชาชนควรจับตามองดูเป็นพิเศษคือ กสทช. ที่มาจากตัวแทนของผู้บริโภคว่าได้ทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของผู้บริโภคสมกับที่ได้รับคัดเลือกมาหรือไม่ หรือเข้ามาในนามผู้บริโภค แต่มีพฤติกรรมที่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ
  • นอกจากนี้ ควรจับตาดูด้วยว่า กสทช. ทั้งองค์คณะซึ่งเคยมีมติ 3-2 ว่า กสทช. มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตให้ควบรวมหรือไม่ก็ได้ เมื่อครั้งไปชี้แจงต่อศาลปกครองกลางในคดีที่เกี่ยวข้อง จะมีการ “เล่นกล” กลับมติของตนที่เคยมีก่อนหน้าหรือไม่ และใครเป็นผู้ที่กลับมติ
  • คงมีแต่สำนึกของ กสทช. และพลังการตรวจสอบของประชาชนและสื่อมวลชนเท่านั้นที่จะทำให้ประเทศไทยรอดพ้นจากการผูกขาดในตลาดโทรคมนาคมในครั้งนี้ไปได้

 

ผลศึกษาระบุชัดประชาชนชนสูญเสียผลประโยชน์

นอกจากนี้  นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาของผู้บริโภค (สภาผู้บริโภค หรือ สอบ.) ได้โพสต์เฟสบุ๊คส่วนตัวว่าจากกรณีที่สำนักงาน กสทช. จ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd. ด้วยงบประมาณสิบล้านบาท ในเรื่องผลกระทบของการควบรวมค่ายมือถือทรู-ดีแทค ที่มีต่อสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โอกาสการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ และสิทธิการเข้าถึงบริการของสังคม ทำให้เห็นหายนะที่สังคมไทยจะต้องเผชิญหน้า หาก กสทช. มีมติอนุญาตให้เกิดการควบรวม ที่ทำให้สามค่ายมือถือยักษ์ เหลือสองค่าย (ทรู+ดีแทค และ เอไอเอส) ซึ่งสรุปโดยสาระสำคัญมีดังนี้

 

     1. พื้นที่คนจน พื้นที่ห่างไกล ที่ที่ไม่สร้างผลกำไรจะไม่มีโครงข่าย หรือบริการใหม่ๆ เข้าไปถึง ซึ่งแปลว่า “คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” โดนละเมิดสิทธิ์การเข้าถึงบริการคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ

 

     2. ในขณะที่กลุ่มรายได้สูง กลุ่มชุมชนเมืองที่จะสร้างกำไรสูงสุดให้สองค่ายที่เหลือในตลาด จะได้รับบริการโดยเฉพาะระบบ 5 จี อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่มคนรายได้ปานกลางและคนจนเมืองต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเกินความจำเป็น กับเทคโนโลยี่ทันสมัย

 

     3. การควบรวมที่มีเหลือสองค่าย หรือ duopoly จะไม่เกิดการแข่งขัน และกลายเป็นระบบร่วมมือกัน หรือ "ฮั้ว" ไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในโครงข่ายสำหรับการให้บริการใหม่ๆ และ ลดการแข่งขันกันเอง

 

     4. การเข้าสู่ระบบสองค่ายหรือ duopoly จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลัง ตามหลังประเทศฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้รั้งท้ายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน

 

     5. จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบปีถึงจะสามารถพลิกฟื้นระบบตลาดสองค่ายนี้ กลับเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน หรือเกิดคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด

 

ที่มาข้อมูล ฐานเศรษฐกิจ

logoline