svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

อพท.ชูชุมชน 'บ้านถ้ำเสือ' แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

09 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชุมชนบ้านถ้ำเสือ เป็นชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์โดยมีโครงการธนาคารต้นไม้ที่ส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาปลูกต้นไม้ ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ พร้อมต่อยอดเป็นชุมชนท่องเที่ยว จัดกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน

จากความสำเร็จของแผนขับเคลื่อนการผลักดันเพื่อการท่องเที่ยวที่ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เข้าไปยกระดับชุมชน ที่ต่อยอด สร้างคุณค่าจากทุนวัฒนธรรม วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น และทุนทางธรรมชาติ เกิดการพัฒนาศักยภาพผ่านกิจกรรมท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์  โดยชุมชนบ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมาย ที่ชุมชนมีความเข้มแข็ง พัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สำคัญที่จะเป็นต้นแบบและพัฒนาไปสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวตามเกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก

 

ประธานคณะกรรมการธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือ สุเทพ พิมพ์ศิริ หรือ พี่น้อย บอกว่า บ้านถ้ำเสือเป็นชุมชนแรกของจังหวัดเพชรบุรี ที่มีการทำเรื่องการปลูกต้นไม้และการวัดการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้อย่างครบวงจร เป็นชุมชนต้นแบบของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส.ที่ทำเรื่องธนาคารต้นไม้ เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของการปลูกต้นไม้เพื่อประโยชน์ในอนาคต เช่น ไม้สัก ไม้พะยูง ตะเคียนทอง ยางนา มะค่าโมง เต็งรัง

ปัจจุบันมีสมาชิกธนาคารต้นไม้ในชุมชนกว่า 70 หลังคาเรือน มีต้นไม้ที่ลงทะเบียนอยู่กับธนาคารมากกว่า 20,000 ต้น ซึ่งต้นไม้แต่ละต้นที่อยู่ในธนาคารจะถูกขึ้นทะเบียนมีมูลค่าแตกต่างกันไปตามชนิด และพันธ์ไม้ สามารถเป็นหลักประกันในการกู้เงิน และยังเป็นมรดกส่งต่อให้ลูกหลานได้

อพท.ชูชุมชน 'บ้านถ้ำเสือ' แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ

ความสำเร็จตอนนี้ไม่เพียงแค่มีต้นไม้จำนวนหลากหลายพันธ์มากขึ้น ชาวบ้านถ้ำเสือร่วมกันสร้างธรรมชาติเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับโลก รวมถึงได้รับคาร์บอนเครดิตในฐานะชุมชนที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 8 สุขสันต์ เพ็งดิษฐ์ ระบุ อพท. ได้ร่วมชุมชนบ้านถ้ำเสือ พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยว ที่ปลดปล่อยคาร์บอนอย่างสมดุล รวมถึงผลักดันการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์ สอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยภายใต้แนวคิด BCG Model

 

ต่อยอดความสำเร็จในการพัฒนาชุมชนจากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปสู่การท่องเที่ยวโดยชุมชนตามมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน ทำให้ชุมชนสามารถบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สะท้อนให้เห็นถึงการเป็นชุมชนท่องเที่ยวที่มีแผนการพัฒนาและการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่ดี มีการพัฒนาอาหารอัตลักษณ์ชุมชน พัฒนานักสื่อความหมาย พัฒนาบุคลากรด้านความปลอดภัย  ตลอดจนพัฒนาช่องทางการเชื่อมโยงตลาดร่วมกับผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยว การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวโดยชุมชน

ปัจจุบันชุมชนบ้านถ้ำเสือเป็นชุมชนต้นแบบในการอนุรักษ์ พัฒนาต่อยอดสู่ชุมชนท่องเที่ยว มีการจัดกิจกรรมเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชน ชาวบ้านมีรายได้เสริมเพิ่มขึ้นจากการให้บริการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีความยั่งยืน ด้วยต้นทุนทางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชุมชนได้ออกแบบกิจกรรมเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ เช่น เรียนรู้ความเป็นมาของธนาคารต้นไม้ ที่สามารถใช้เป็นเงินออม และเป็นหลักประกันให้กับสถาบันการเงินได้ การทำไข่เค็มดินสอพองใบเตยและดอกอัญชัน กิจกรรมเสือคลุกดิน หรือการปั้นกระสุนพันธุ์ไม้เพื่อนำมายิงด้วยหนังสติ๊ก คืนป่าสร้างปอดให้กับชุมชน การล่องแพยางในแม่น้ำเพชรบุรี ไฮไลท์คือการทำทองม้วนกรอบ ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกของหมู่บ้านที่ขึ้นชื่อของชุมชน

 

นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการทำปุ๋ยเบญจคุณ การทำน้ำกลั่นสมุนไพรไล่แมลงจากสมุนไพรท้องถิ่น การเผาถ่านคุณภาพสูงด้วยเตาอิวาเตะ และกิจกรรมชมสวนผลไม้ผสมผสานไร้สารเคมี โดยในชุมชนแห่งนี้ยังมีต้นยางนาอายุกว่า 100 ปี ที่ยังคงยืนต้น ให้นักท่องเที่ยวสายธรรมชาติเข้าไปสัมผัส การพัฒนาพื้นที่บริการลานกางเต็นท์ของชุมชนให้เป็นอีกหนึ่งจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการพักแรมในพื้นที่ธรรมชาติอีกด้วย

logoline