svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

"เห็ดขี้ควาย" ไม่ใช่เห็ดมาริโอ ใครเก็บไว้ครอบครองเจอคุกของจริง

27 มีนาคม 2567
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"เห็ดขี้ควาย" ไม่ใช่เห็ดมาริโอ Nation STORY ชวนรู้จัก "เห็ดวิเศษ" ยาเสพติดประเภท 5 เห็ดที่ใครเก็บไว้ครอบครองเจอทั้งจำทั้งปรับแน่นอน เห็ดชนิดนี้ทำไมถึงถูกขึ้นบัญชียาเสพติด แล้วจะสามารถนำมาใช้ประโยชน์แบบกัญชาได้หรือไม่

เป็นข่าวการจับกุมยาเสพติดอีกชนิด ที่มีความน่าสนใจ และไม่ค่อยพบเห็นกันบ่อยนัก กรณีที่วันนี้ (27 มี.ค. 67) ชุดลาดตระเวนออนไลน์สืบนครบาล จับกุม นายเตชิต อายุ 24 ปี หนุ่มสถาปัตย์ ที่ลักลอบผลิต "เห็ดขี้ควาย" เพื่อจำหน่ายทางออนไลน์ ให้แก่ประชาชนทั่วไป 

เบื้องต้นตำรวจแจ้งข้อหาฐาน “มียาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) ไว้ในครอบครอง โดยผิดกฎหมาย” และ “จำหน่ายเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยผิดกฎหมาย” รวมถึง “ผลิต และ มีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 (เห็ดขี้ควาย) โดยผิดกฎหมาย”
\"เห็ดขี้ควาย\" ไม่ใช่เห็ดมาริโอ ใครเก็บไว้ครอบครองเจอคุกของจริง  

ข่าวดังกล่าวสร้างความสงสัย ให้กับผู้คนจำนวนไม่น้อยว่า แค่การเพาะจำหน่าย "เห็ด" จะสร้างความเสียหาย และมีความผิดขนาดไหน ถึงขนาดต้องมีการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายขนาดนั้น 

Nation STORY จะพาไปทำความรู้จัก "เห็ดขี้ควาย" ชนิดนี้ว่า คือเห็ดอะไร ทำไมถึงได้กลายเป็นยาเสพติดได้ มีคุณและโทษอย่างไร และในอนาคตสามารถนำมาใช้ประโยชน์แบบกัญชาได้หรือไม่....
\"เห็ดขี้ควาย\" ไม่ใช่เห็ดมาริโอ ใครเก็บไว้ครอบครองเจอคุกของจริง

สำหรับประเทศไทย “เห็ดขี้ควาย" หรือ "เห็ดวิเศษ” นั้น ถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565

ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,00 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด

ผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
เห็ดขี้ควาย
 

สำหรับ เห็ดขี้ควาย (psilocybe mushroom) นั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis Sing วงศ์ Strophariaceae ชื่อสามัญ/ชื่อเรียกทั่วไป เห็ดขี้ควาย / Psilocybe mushroom / บางแห่งเรียก เห็ดโอสถลวงจิต ในบรรดานักเที่ยวอาจเรียกเห็ดขี้ควายว่า “Magic Mushroom” / Buffalo dung Mushroom

ลักษณะ หมวกเป็นรูปกระทะคว่ำแล้วแบนลง เส้นผ่านศูนย์กลาง 6.5-8.8 เซนติเมตร ผิวสีฟางข้าวอมเหลือง กลางหมวกมีสีน้ำตาลอมเหลือง มีเกล็ดเล็กๆ กระจายออกไปยังขอบหมวก ขอบมีริ้วสั้นๆ โดยรอบ ครีบสีน้ำตาลดำ ส่วนกลางกว้างกว่า ปลายทั้งสองข้าง ไม่ยึดติดกับก้าน ก้าน ยาว 4.5-8 เซนติเมตรความสูงของลำต้นประมาณ 5.5-8 ซม. โคนใหญ่กว่าเล็กน้อย สปอร์ รูปรี สีน้ำตาลดำ ผนังหนา ผิวเรียบ ด้านบนมีปลายตัดเป็นรูเล็ก ๆ   

โดยพื้นที่ที่พบเห็ดขี้ควายได้ พบมีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย เห็ดชนิดนี้ชอบขึ้นเป็นดอกเดี่ยวกลุ่มละ 4-5 ดอก บนพื้นดินที่มีมูลสัตว์พวกมูลวัว มูลควายแห้ง

ทั้งนี้ แม้ "เห็ดขี้ควาย" จะดูเหมือนเป็นเห็ดที่ไม่น่ามีพิษภัย แต่อันตรายที่แท้จริง คือสารที่อยู่ภายในเห็ดขี้ควาย 2 ชนิด คือ psilocybine หรือ psilocine ซึ่งมีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพลวงตา สิ่งนี้จึงทำให้ "เห็ดขี้ควาย" ถูกกำหนดเป็นยาเสพติดประเภท 5

โดยการเสพ มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือคอกเทลสำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี อย่างไรก็ตามคนทั่วไปมักทราบ และรู้ว่าเห็ดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน

อาการผู้เสพ เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้มและบ้าคลั่งในที่สุด เนื่องจากสาร psilocybine และ psilocine มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่างๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานาน ๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่าง ๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุด
\"เห็ดขี้ควาย\" ไม่ใช่เห็ดมาริโอ ใครเก็บไว้ครอบครองเจอคุกของจริง

อนาคตของ "เห็ดขี้ควาย" กับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

ที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีการสนับสนุนการวิจัยผลิตยาในประเทศ จากพืชที่ยาเสพติด โดยเมื่อวันที่ 8 ส.ค. 66 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติร่าง พ.ร.ฎ. กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูกและสกัดสารสำคัญจากฝิ่น และกำหนดพื้นที่ทดลองปลูก และสกัดสารสำคัญจากพืชเห็ดขี้ควาย เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย ตามนโยบายให้ความสำคัญต่อการสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาในประเทศ เพื่อให้เกิดการผลิตสินค้า ตลอดจนยาและเวชภัณฑ์ทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศ

สาระสำคัญของกฎหมาย ได้กำหนดพื้นที่ทดลองเพาะปลูก และสกัดสารสำคัญจากฝิ่นและเห็ดขี้ควาย ตลอดจนมาตรการควบคุม และตรวจสอบการเพาะปลูก และสารสำคัญจากพืชดังกล่าว โดยกำหนดพื้นที่ทดลองปลูก ในวิทยาลัยป้องกันและปราบปรามยาเสพติดระหว่างประเทศ สำนักงาน ป.ป.ส. ตำบลเวียง อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย ส่วนการทดลองสกัดมอร์ฟีนจากฝิ่น เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์นั้น ให้ดำเนินการในพื้นที่องค์การเภสัชกรรม 2 แห่ง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี

ในร่าง พ.ร.ฎ.ยังได้เพิ่มเติมพื้นที่ทดลองเพาะเห็ดขี้ควาย เพื่อการศึกษาวิจัยให้ครอบคลุมทั้ง 4 ภูมิภาคในพื้นที่ของสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อม เพื่อให้ประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยการนำพืชฝิ่น หรือเห็ดขี้ควาย ไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ที่เป็นยาเพื่อใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ยาต้านการซึมเศร้า หรือผู้ป่วยที่จำเป็นอื่น ภายใต้มาตรการควบคุม และลดการนำเข้ายาประเภทมอร์ฟีนจากต่างประเทศในอนาคต

ขณะเดียวกันยังขาดองค์ความรู้และผลการศึกษาวิจัย ในการนำเห็ดขี้ควายมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เนื่องจากพืชเห็ดขี้ควาย จัดเป็นยาเสพติดให้โทษ และมีการควบคุมที่เข้มงวด ทำให้นักวิจัยไม่สามารถดำเนินการศึกษาวิจัยได้ ซึ่งการออกพระราชกฤษฎีกาฯ นี้ จะเปิดโอกาสให้มีการศึกษา และพัฒนาต่อยอด

ที่สำคัญสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่า มีสารเคมีสำคัญ 2 ชนิดที่อยู่ใน "เห็ดขี้ควาย" คือ สารไซโลไซบิน (Psilocybin) และสารไซโลซีน (Psilocin) ที่มีข้อบ่งชี้และโอาสในการนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อพัฒนายาต้านการซึมเศร้าได้

ทั้งนี้ หากการวิจัยและพัฒนาประสบความสำเร็จ จะนำไปสู่การพัฒนายารักษาโรคได้เองในประเทศ ลดพึ่งพาการนำเข้า รองรับกับแนวโน้มความต้องการยา เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มากขึ้น ตามสถานการณ์ผู้ป่วยด้านสุขภาพจิตในไทย ที่ระหว่างปี 58 - 63  มีผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าเข้ารับการรักษาถึง 1,758,861 คนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องด้วย
\"เห็ดขี้ควาย\" ไม่ใช่เห็ดมาริโอ ใครเก็บไว้ครอบครองเจอคุกของจริง

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง : 
พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 มาตรา 93 มาตรา 104 มาตรา 148 มาตรา 162 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565

กฎหมายน่ารู้ ตอนที่ 418 : “เห็ดขี้ควาย”  เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ขาย หรือ เสพ มีโทษจำคุก ดูแล้ว 81 ครั้ง

เห็ดขี้ควายสิ่งเสพติดต้องห้าม :ยงยุทธ์ สายฟ้า วิรัช ชูบำรุง กองโรคพืชและจุลชีววิทยา กรมวิชาการเกษตร

พืชเห็ดขี้ควาย : วรางค์ บุญช่วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เว็บไซต์  http://www.emcdda.europa.eu/publications/drug-profiles/mushrooms

 

logoline