svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ส่องที่มา “พญาอินทรี กางปีก” เสริมฮวงจุ้ย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

30 ตุลาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"พญาอินทรี กางปีก" รูปปั้นที่ตั้งเด่นเป็นสง่า บนอาคารที่สร้างใหม่ภายในสำนักงานตำรวจ นี่ไม่ใช่ครั้งแรกของการปรับภูมิทัศน์ เพื่อเสริมฮวงจุ้ย ขอเชิญชวนผู้อ่าน ติดตาม การเปลี่ยนเแปลงที่หวังผลทางจิตใจในครั้งนี้และทุกๆ ครั้งที่ผ่านมา

เป็นที่ฮือฮา เมื่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการตั้งรูปปั้นพญาอินทรี ในชั้นดาดฟ้า อาคารสร้างใหม่สำหรับใช้ฝึกอบรมตำรวจ สูงประมาณ 32 ชั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่ปรากฎว่ามีการติดตั้งรูปปั้นใดๆ ทั้งสิ้น

ลักษณะของพญาอินทรี อยู่ในลักษณะกางปีก หันหน้าไปทางฝั่งวัดปทุมวนาราม เป็นพญาอินทรีย์ที่มีขนาดความกว้างของปีกทั้ง 2 ข้างประมาณ 1 เมตร ลำตัวมีความสูงไม่ต่ำกว่า 80 เซนติเมตร ลำตัวมีขนสีเทาสลับสีขาว โดยเกิดหลายคำถามพญาอินทรี มาติดตั้งที่ตึกอาคารนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่ ความหมายในการตั้งรูปปั้นพญาอินทรีคืออะไร และมีความเหมาะสมหรือไม่

ส่องที่มา “พญาอินทรี กางปีก” เสริมฮวงจุ้ย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เมื่อพิจารณาตามหลักการเสริมดวง เสริมฮวงจุ้ย อำนาจ หน้าที่การงาน โดยปกติ จะมีสัตว์มงคลที่เสริมฮวงจุ้ยด้วยกัน 10 ชนิด มีทั้งมังกร ,กิเลน,ปลา,ช้าง,หงส์,ม้า,เต่า,ไก่,เสือ แต่ละชนิดจะเสริมทั้งในแง่ความรุ่งเรือง ความเมตตาปราณี คุณธรรม ความซื่อสัตย์ ความสำเร็จ อำนาจผู้นำ

แต่ในส่วนของนก ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเสริมดวง ฮวงจุ้ย บอกว่า นกอินทรีย์ หมายถึงความสูงส่ง มีอำนาจบารมี ความยิ่งใหญ่ มองการณ์ไกล แต่ถ้าหากเป็นนกกระเรียนจะช่วยเสริมหน้าที่การงานให้ราบรื่นและอายุยืนมีร่างกายแข็งแรง ถ้าเป็นนกยูง ถือเป็นสัญลักษณ์ของความพร้อมพรั่ง มีความเจริญด้านการเงิน ความสุข ความโชคดี

ส่องที่มา “พญาอินทรี กางปีก” เสริมฮวงจุ้ย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เป็นที่รู้กันดีว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เป็นตำรวจสายมูฯ มีความเลื่อมใส ศรัทธาในเส้นทางการทำบุญ ที่เห็นได้ชัด ทันทีที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ตร.คนที่ 14 ภารกิจแรก พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ คือการเป็นประธานพิธีบวงสรวงเบิกเนตรพระศรีอริยเมตไตรย บรมมหาจักรพรรดิ(หลวงพ่อสุขใจ) โดยมีเหล่าบรรดาข้าราชการเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก

ส่องที่มา “พญาอินทรี กางปีก” เสริมฮวงจุ้ย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ไม่เพียงเท่านี้ ยังมีการปรับฮวงจุ้ยภูมิทัศน์ ด้วยการปรับพื้นที่ประตูทางเข้าฝั่งถนนพระราม 1 ให้เล็กลง จากเดิมประมาณ 6 เมตร มาเหลือแค่ 5.8 เมตร ตามคำแนะนำของซินแส และมีการปรับภูมิทัศน์ย้ายศาลพระภูมิ ที่เดิมเคยอยู่ด้านหน้าตรงประตูทางเข้าถนนพระราม 1 ไปไว้ที่ ด้านข้างของอาคารสำนักงานพิสูจน์หลักฐานกลาง

ก่อนหน้านี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจ ที่มีลักษณะเป็นรูปปั้นโลหะทองเหลืองรมดำ องค์ประกอบรูปปั้นมี 3 ส่วน ส่วนที่ 1 รูปปั้นหุ่นตำรวจ (ชาย) มีขนาดเท่าคนจริงยืนอุ้มคนเจ็บ (ชาย) ส่วนที่ 2 รูปปั้นหุ่นประชาชนกำลังได้รับอันตราย และส่วนที่ 3 รูปปั้นเด็ก (ชาย) ยืนเกาะที่บริเวณขาซ้าย แต่ละส่วนมีความหมายแตกต่างกันไป แต่ความหมายโดยรวม ตำรวจจะทำหน้าที่ปราบปรามโจรผู้ร้ายแล้ว ตำรวจยังมีหน้าที่ช่วยระงับทุกข์บำรุงสุข บริการรับใช้ประชาชนในทุกด้าน

อนุสาวรีย์ตำรวจประดิษฐานอยู่บนแท่นฐาน รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ 1.35 เมตร สูง 2 เมตร ทำด้วยหินอ่อน ที่แท่นด้านหน้ามีเครื่องหมายตราโล่เขนและอักษร “ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน” ทำด้วยทองเหลือง และด้านข้างทั้ง 2 ด้านเป็นรูปพวงหรีดทำด้วยทองเหลือง ที่เคยประดิษฐานหน้าอาคาร 1 กรมตำรวจตั้งแต่ปี 2496 จนถึงปี 2535 เป็นการย้าย 3 ครั้งด้วยกัน

ส่องที่มา “พญาอินทรี กางปีก” เสริมฮวงจุ้ย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

การย้ายครั้งแรก ในปีพ.ศ.2535 สมัย พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ย้ายจากหน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ ไปประดิษฐานหน้าอาคารตำรวจสันติบาล ภายในกรมตำรวจ ห่างจากที่ตั้งเดิมไปทางทิศตะวันออก ประมาณ 150 เมตร
สาเหตุการย้าย เนื่องจากว่ากรมตำรวจได้มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 องค์พระผู้สถาปนากิจการตำรวจไทยมาประดิษฐานแทนที่ตั้งอนุสาวรีย์ตำรวจเดิมบริเวณหน้าอาคาร 1 กรมตำรวจ

การย้ายครั้งที่ 2 ปีพ.ศ.2540 สมัย พล.ต.อ.พจน์ บุณยะจินดา เป็นอธิบดีกรมตำรวจ ได้ดำเนินการก่อสร้างสโมสรตำรวจขึ้นที่ด้านหน้าโรงเรียนตำรวจ บางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต และได้ย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจจากหน้าอาคารตำรวจสันติบาล ภายในกรมตำรวจไปประดิษฐานที่หน้าสโมสรตำรวจ บางเขน

การย้ายครั้งสุดท้าย ครั้งที่ 3 ปีพ.ศ.2553 สมัย พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ จเรตำรวจแห่งชาติ รักษาราชการ ผบ.ตร. ได้มีการย้ายอนุสาวรีย์ตำรวจจากบริเวณหน้าสโมสรตำรวจไปประดิษฐานที่หน้าหอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจ อ.สามพราน จ.นครปฐม

ครั้งนั้นเหตุผลที่ต้องย้ายมาประดิษฐานที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจถือว่า มีความเหมาะสม ด้วยเหตุที่ว่าเป็นสถานที่ผลิตนายตำรวจสัญญาบัตรทุกหลักสูตร หล่อหลอมให้มีความรู้ มีคุณธรรม และจริยธรรม เพื่อออกไปปฏิบัติหน้าที่พิทักษ์รับใช้ประชาชนต่อไป

ด้าน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ก.ตร.ผู้ทรงคุณวุฒิ กล่าวถึงการย้ายอนุสาวรีย์ผู้พิทักษ์รับใช้ประชาชน ทั้ง 3 ครั้งนั้น ว่า เป็นการย้ายเพื่อความเหมาะสม ไม่ได้เกี่ยวกับการปรับฮวงจุ้ยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างที่มีการพูดถึงแต่อย่างใด

ส่องที่มา “พญาอินทรี กางปีก” เสริมฮวงจุ้ย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ส่วนข่าวล่าสุดที่มีการย้ายศาลพระภูมิภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และมีการติดรูปปั้นพญานกอินทรี ไว้บนด้านบนของอาคารศูนย์ฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรและสวัสดิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะเกี่ยวข้องกับการปรับฮวงจุ้ยหรือไม่นั้น ผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามไปยังตำรวจระดับผู้บังคับบัญชาระดับสูงหลายคน ระบุตรงกันว่ายังไม่ทราบถึงข่าวนี้ แต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้วยว่า อาคารสูงหลายแห่งในกรุงเทพฯ ก็มีการติดตั้งรูปปั้นนกอินทรีไว้บนอาคารเช่นกัน โดยเป็นกุศโลบายเพื่อป้องกันนกที่มีขนาดเล็ก เช่น นกพิราบ มาขับถ่ายบนอาคารสูงเหล่านี้อีกด้วย

ขณะเดียวกันทีมข่าวยังได้สืบค้นข้อมูล การปรับเปลี่ยนฮวงจุ้ยในสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่มเติม พบว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2559 สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดตั้งเสาธงใหม่ ซึ่งมีความสูงกว่า 36 เมตร โดยพล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร.ชี้แจงเอาไว้ว่า การตั้งเสาธงธาติใหม่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ใช่เป็นการปรับฮวงจุ้ยตามที่มีกระแสข่าว แต่เป็นการดำเนินการของหน่วยงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นเกียรติภูมิและความสง่างามขององค์กรรวมทั้งเป็นการปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม เพราะหน่วยงานหรือสถานที่ราชการทั่วไปก็จะมีการตั้งเสาธงชาติขนาดใหญ่ไว้หน้าองค์กรนั้นๆ

ส่วนความสูงที่มีการระบุว่า เป็นไปตามรุ่น นรต.36 ของตนเองนั้น ปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะสถานปนิกมีการออกแบบ ให้มีความสูงกว่ารางรถไฟฟ้า และเพื่อความสง่างามของธงชาติ ซึ่งในอดีตเสาธงชาติประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งไว้บริเวณหน้าจั่วอาคาร 1 ซึ่งมีอายุยาวนาน จึงเห็นว่าควรมีการปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานที่

พิธีบวงสรวงเพื่ออัญเชิญ พระบรมรูปฯรัชกาลที่ 4 สู่แท่นประดิษฐานหลังการบูรณะ เมื่อ 14 ก.ย.2565


นอกจากนั้น ในสมัยที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข เป็น ผบ.ตร. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 มีการจัดพิธีบวงสรวงเพื่ออัญเชิญ พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช (รัชกาลที่ 4) จากแท่นประดิษฐานด้านหน้าอาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อไปบูรณะซ่อมแซม ณ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

ในขณะนั้นให้เหตุผลว่า เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านพ้นยาวนานหลายสิบปี ทำให้พระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เกิดการสึกหรอตามกาลเวลา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงได้อัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ จากแท่นประดิษฐานเพื่อบูรณะซ่อมแซม ณ สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร

รวมถึงปรับปรุงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบแท่นประดิษฐาน ทั้งนี้ เมื่อบูรณะ เสร็จสิ้นแล้ว จึงได้มีการอัญเชิญพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ มาประดิษฐานยัง ณ จุดเดิมบริเวณด้านหน้า อาคาร 1 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565

logoline