svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

นายกสภาทนายฯ เผยเคส "ทนายดัง" เก็บค่าแถลงข่าว ต้องให้ "กก.มรรยาท" สอบ

29 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกสภาทนายฯ ตั้งข้อสังเกตเคส "ทนายดัง" เก็บเงินค่าแถลงข่าว อาจผิดข้อบังคับสภาทนายฯ เข้าข่ายใช้กลอุบาย รวมถึง ปมปูดเรื่องฉาวคู่ความหรือไม่ อาจเข้าข่ายประพฤติเสื่อมเสียวิชาชีพหรือไม่ ต้องให้ "กก.มรรยาท" สอบ ลั่นไม่ใช่เสือกระดาษเอาผิดได้ แต่ตอนนี้ไม่มีผู้ร้องเรียน

29 มีนาคม 2566 ดร.วิเชียร ชุบไธสง นายกสภาทนายความ พร้อมด้วย นายสุนทร พยัคฆ์ เลขาธิการฯ, นายวีรศักดิ์ โชติวานิช รองเลขาธิการฯ, นายสมพร ดำพริก อุปนายกฝ่ายช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมาย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสภาทนาย ได้ตอบข้อซักถามถึงกรณีที่มีทนายความยอมรับการเรียกเก็บเงินค่าแถลงข่าวจากลูกความ โดยอ้างว่าเป็นป้องกันความเสียหายหากถูกฟ้องร้อง

นายกสภาทนายฯ เผยเคส \"ทนายดัง\" เก็บค่าแถลงข่าว ต้องให้ \"กก.มรรยาท\" สอบ

ดร.วิเชียร กล่าวว่า การฝ่าฝืนมรรยาททนายความในภาพรวมการพิจารณาจะมีบทลงโทษ 3 ระดับ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ห้ามเป็นทนายความ 3 ปี 3.ลบชื่อออกจากสารบบทนายความ ซึ่งความหนักเบาของบทลงโทษขึ้นอยู่กับความผิดที่คณะกรรมมรรยาทของสภาทนายความพิจารณาส่งมาให้คณะกรรมการบริการสภาทนายความพิจารณา โดยทั้ง 2 คณะจะเเบ่งเเยกกันพิจารณาเพื่อเป็นการคานอำนาจ 

สำหรับกรณีดังกล่าวตนให้ข้อสังเกตถึงข้อบังคับสภาทนายความ ว่าด้วยมรรยาททนายความข้อที่ 18 ที่ระบุว่า ทนายความที่ดำเนินธุรกิจหรือประพฤติตนในลักษณะเสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของวิชาชีพ ถือว่าผิดมรรยาททนายความ และข้อ 14 เมื่อได้รับเป็นทนาย ภายหลังใช้อุบายนอกเหนือจากที่ตกลงกันในสัญญาว่าความ ถือว่ามีความผิดมรรยาททนายความ แต่กรณีที่เกิดขึ้นขณะนี้ ยังไม่มีคนมาร้องทุกข์กล่าวโทษ หรือมีผู้เสียหาย หรือข้อความปรากฏชัด ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีใครมาร้องทุกข์ในเรื่องนี้แต่อย่างใด โดยกรรมการมรรยาทจะเร่งตรวจสอบเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริง แต่ยอมรับว่า ขณะนี้ไม่มีกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบ ตอนนี้อยู่ระหว่างพิจารณาเพื่อกำหนดกรอบในการพิจารณามรรยาททนายความรูปแบบใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน ยอมรับว่าตลอดชีวิตที่ประกอบอาชีพทนายความ ยังไม่เคยเจอเหตุการณ์ที่มีการเรียกเก็บค่าเเถลงข่าวเเละเก็บเป็นค่าเสี่ยงภัยที่จะถูกฟ้องในลักษณะนี้มาก่อน 

นายกสภาทนายฯ เผยเคส \"ทนายดัง\" เก็บค่าแถลงข่าว ต้องให้ \"กก.มรรยาท\" สอบ
ดร.วิเชียร กล่าวอีกว่า การรับรู้ที่จะนำมาสู่การพิจารณามรรยาทได้เเก่ 1.ตัวผู้เสียหายร้องต่อสภาทนายความกล่าวหาเป็นคดี มรรยาททนายความ 2.ทนายความด้วยกันเองร้องเป็นคดี มรรยาททนายความ 3.เเละเมื่อความปรากฎ ซึ่งกรรมการมรรยาทมีอำนาจหยิบยกขึ้นมาพิจารณาว่าเข้าข่ายผิดมรรยาททนายความหรือไม่

“สภาทนายความไม่ใช่เสือกระดาษ เป็นนโยบายที่ตนประกาศตั้งเเต่รับตำเเหน่งว่าจะเข้ามาดูเเลเรื่องมรรยาททนายความ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะต้องมีความชัดเจนปรากฏ และเป็นที่ยอมรับของประชาชน แต่ยอมรับว่าไม่มีกรอบระยะเวลาในการพิจารณาของคณะกรรมการมรรยาท ตอนนี้เราเตรียมจัดระเบียบใหม่คือเราจะกำหนดกรอบระยะเวลาคดีมรรยาทให้เเล้วเสร็จภายใต้กรอบที่กำหนด” ดร.วิชียร กล่าว 

ส่วนการกำหนดค่าใช้จ่ายในการปรึกษาทนายความนั้น ดร.วิเชียร กล่าวว่า แต่ละคนไม่มีการกำหนดไว้ถึงราคาขึ้นต่ำหรือเพดานราคาสูงสุด แต่ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่ผ่านมานั้นไม่เหมาะสม  การที่สื่อมวลชนถามในวันนี้เป็นเรื่องที่ดีที่เรื่องจะได้เผยเเพร่ไปถึงกรรมการมรรยาทให้ได้รับรู้อันเป็นเงื่อนไขในการรับพิจารณา

เมื่อถามถึงประเด็นว่า การระบุว่าลงข่าว 3 เเสนบาทเป็นค่าความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องหมิ่นประมาท เเสดงถึงเจตนาของทนายความว่าทราบอยู่เเล้วว่าเนื้อหาเเถลงข่าวดังกล่าวจะไปพาดพิงบุคคลที่ 3 ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งทนายต้องไปสู้กันในศาลหรือไม่นั้น นายกสภาทนายความกล่าวว่า ขอไปดูในรายละเอียดที่จะต้องมีการเเสวงหาข้อเท็จจริงโดยกรรมการมรรยาทความ

ด้าน นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า การเเถลงข่าวให้ลูกความทั่วไปไม่ผิด เเค่ถ้าหากมีการชี้นำหรือการโน้มน้าวศาล เเต่ถ้าไปชี้นำว่ามีหลักฐานที่จะทำให้ศาลต้องตัดสินตามที่พูด จะผิดทั้งเรื่องการโอ้อวดตามมรรยาททนายความเเละผิดในการละเมิดอำนาจศาล ประเด็นที่ร้อนเเรงตอนนี้คือมีการเรียกเก็บเงินเสมือนส่วนหนึ่งเป็นค่าวิชาชีพตนอยู่ในวงการทนายความมา 40 กว่าปีตนไม่เคยเห็นเรื่องเเบบนี้มาก่อน ถ้าถามตน เห็นว่าไม่เหมาะสมเเต่จะถึงขั้นผิดมรรยาทหรือไม่ไม่อาจก้าวล่วงให้เป็นหน้าที่กรรมการมรรยาท

ด้าน นายสุนทร กล่าวว่า ตามหน้าที่ของทนายความ ไม่สามารถนำข้อมูลของลูกความมาเปิดเผยต่อสาธารณะได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความหรือโดยอำนาจของศาล แต่หากเป็นการเอาข้อมูลคู่กรณีลูกความมาเปิดเผย จะเข้าข่ายประพฤติตนอันเป็นการฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดีหรือเสื่อมเสียต่อเกียรติคุณของทนายความ ทั้งนี้ จะต้องสอบข้อเท็จจริงโดยกรรมการมรรยาททนายความ เมื่อวินิจฉัยแล้ว ต้องส่งเรื่องให้นายกสภาฯ พิจารณาภายใน 30 วัน ส่วนกรณีที่ทนายนำข้อมูลของทนายอีกคนมาเปิดเผยว่ามีความผิดต่าง ๆ นั้น อาจเข้าข่ายในฐานะประพฤติตนฝ่าฝืนศีลธรรมอันดี ส่วนการระบุถึงค่าเสี่ยงภัยที่จะถูกฟ้องนั้น ส่วนตัวมองว่าค่าเสี่ยงภัยมีความหมายในตัวของมันอยู่แล้ว เช่นค่าเดินทาง หรือการทำคดีที่มีความเสี่ยง ตรงนั้นจึงจะเรียกว่าค่าเสี่ยงภัย เชื่อว่าสื่อมวลชนเข้าใจได้อยู่แล้วว่า นิยามคำว่าเสี่ยงภัยคืออะไร

นายกสภาทนายฯ เผยเคส \"ทนายดัง\" เก็บค่าแถลงข่าว ต้องให้ \"กก.มรรยาท\" สอบ
ขณะที่ นายสมพร ระบุว่า การที่มีทนายความใช้ถ้อยคำหลีกเลี่ยงบาลีในการเก็บผลประโยชน์ ถือเป็นการหมิ่นเหม่ที่จะผิดมรรยาท ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นใคร แต่ขอเตือนว่าตามปกติ ทนายความห้ามโฆษณาอยู่แล้ว พูดว่าปรึกษาฟรี นอกจากเป็นสภาทนายความ หรือสมาคมทนาย การเลี่ยงบาลีว่าเป็นทนายประชาชน แล้วมาแอบอ้างทำแบบนี้ ค่อนข้างจะหมิ่นเหม่ในเรื่องมรรยาท เรื่องแบบนี้ ในอาชีพเดียวกันก็ถือว่าเป็นการเอารัดเอาเปรียบแล้วยังไม่ต้องพูดถึงประชาชน เพราะบางคนเป็นทนายที่ดีและเก่ง ก็ไม่สามารถทำแบบนั้นได้ ทนายความไม่มีใครเก่งกว่าใคร ทุกอย่างขึ้นอยู่กับข้อมูลและข้อเท็จจริง แต่ชาวบ้านไปเชื่อว่าคนที่ออกสื่อและโฆษณาคือคนเก่ง เอาเรื่องไปกระจุกอยู่นับพันคดี

logoline