svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

เปิดข้อบังคับสภาทนายฯ ปมเรียกเงินค่าแถลงข่าวผิด “มรรยาท”?

28 มีนาคม 2566
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นที่ “ทนายดัง” อ้างว่ารับเงินค่าแถลงข่าวจากลูกความ เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยง จากการถูกฟ้องร้องคดีจากฝ่ายตรงข้ามนั้น สมเหตุสมผลหรือไม่

ทีมข่าวข้นคนข่าว เนชั่นทีวี 22 เปิดข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความ พ.ศ.2529 ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ จะต้องประพฤติปฎิบัติตนและประกอบวิชาชีพตามข้อบังคับนี้

มรรยาททนายความ มีอยู่ 4 เรื่อง คือ

  • มรรยาทต่อศาลและในศาล
  • มรรยาทต่อตัวความ
  • มรรยาทต่อทนายความด้วยกัน ต่อประชาชนผู้มีอรรถคดี
  • มรรยาทในการแต่งกายเป็นต้น

ที่สำคัญคือ มรรยาทต่อตัวความ หลักๆก็คือ

  • ทนายความต้องไม่ยุยงส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องคดี
  • หลอกลวงให้ลูกความหลงว่าจะชนะคดี
  • อวดอ้างว่าตนเองมีความรู้ยิ่งกว่าทนายความอื่น
  • จงใจทอดทิ้งคดี
  • ไม่เปิดเผยความลับของลูกความ ที่ทนายความได้รู้ในหน้าที่ของทนายความ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากลูกความ

เปิดข้อบังคับสภาทนายฯ ปมเรียกเงินค่าแถลงข่าวผิด “มรรยาท”?

คือ ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกความ เก็บรักษาข้อมูลคดี ความลับของลูกความไว้ไปพิสูจน์กันในชั้นศาล ซึ่งจะมีผลต่อการแพ้หรือชนะคดีนั้น, ไม่ให้สัมภาษณ์เกินขอบเขต ซึ่งอาจมีผลต่อรูปคดี ยิ่งเป็นการแถลงข่าวด้วยแล้ว มีโอกาสที่จะถูกสื่อมวลชนซักถาม, ยิ่งชอบจ้อสื่อออกทีวีให้สัมภาษณ์ทุกช่องทุกรายการ โอกาสที่ข้อมูลในคดีหลุดยิ่งมีสูง, ทำใหฝ่ายตรงข้ามนำข้อมูลไปหาพยานหลักฐานมาแก้ต่างในประเด็นนั้น, โอกาสที่จะพ่ายแพ้คดีจึงมีสูง

แต่ในปัจจุบันทนายความดังๆ นอกจากจะมีสำนักงานกฎหมายแล้ว ยังมีสื่อโซเชียลช่องทางต่างๆของตัวเอง ในการเสริมสร้างพลัง เปิดให้ประชาชนสอบถามข้อกฎหมาย หรือแสดงทัศนะต่อกรณีใดกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงการรับเชิญไปออกรายการทีวี เป็นการโฆษณาตัวเองไปในตัว ทำให้ทนายความเหล่านี้มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักมากกว่าทนายคนอื่น ทำให้มีประชาชนที่ต้องการใช้บริการ จ้างให้เป็นทนายช่วยแก้ต่างว่าความให้ แม้ว่าลูกความอาจจะต้องเสียค่าจ้างแพงกว่าก็ตาม แต่ก็ต้องยอมควักสตางค์ เพื่อหวังว่าจะชนะคดี

เปิดข้อบังคับสภาทนายฯ ปมเรียกเงินค่าแถลงข่าวผิด “มรรยาท”?

เมื่อเริ่มต้นรับงาน ทนายดังอาจจะพาไปร้องหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อให้สื่อมวลชนตามไปทำข่าว เมื่อออกข่าวหลายสื่อ หลายสำนักข่าว ลูกความก็มีความมั่นใจว่า คดีจะคืบหน้า เป็นอย่างนี้อยู่หลายคดี เมื่อรับงานว่าความมากขึ้นจนคดีล้นมือ ทำเองไม่ทัน ทำเองไม่ไหว ก็มอบคดีไปให้ทนายความคนอื่นว่าความแทนในชั้นศาล อ้างว่าเป็นทนายความในเครือในสังกัด แต่ไม่ใช่จุดประสงค์ของลูกความ ที่ต้องการให้ทนายดังคนนั้นๆว่าความให้

ดังนั้นการแถลงข่าวแต่ละครั้งของทนายดังแต่ละคดี เราไม่อาจทราบได้ว่า ได้รับความยินยอมจากลูกความหรือไม่ มองในแง่ผลดีกับลูกความก่อน

อันดับแรกคือ มีทนายดังที่มีพลังโซเชียลช่วยเหลือ ทำให้คดีคืบหน้าเร็ว มีโอกาสชนะคดีสูง แต่ทั้งนี้ลูกความจะรู้หรือไม่ว่า อาจจะมีผลเสียในการเปิดเผยข้อมูล ทำให้ฝ่ายตรงข้ามหาทางรับมือแก้ต่างข้อกล่าวหาได้ ที่สำคัญยังต้องเสียสตางค์เพิ่ม ซึ่งเป็นคำถามว่าจำเป็นต้องจ่ายหรือไม่ เพราะที่จริงลูกความต้องจ่ายค่าที่ปรึกษาทนาย ที่ต้องเรียกว่าแพงเอาการอยู่แล้ว ไหนจะค่าขึ้นศาลว่าความ ค่าเดินทาง และอื่นๆอีกจิปาถะ กว่าจะเสร็จสิ้นคดีและการกระทำแบบนี้เข้าข่ายผิดมรรยาททนายความหรือไม่

ทนายความหลายๆคน จึงถูกนำเรื่องเหล่านี้ไปร้องเรียนต่อคณะกรรมการมรรยาท สภาทนายความ พิจารณาตามพฤติการณ์ว่ามีความผิดเรื่องมรรยาทหรือไม่

สำหรับการลงโทษ หากพบว่ามีการทำผิดมรรยาททนายความ ก็คือ ตักเตือน ภาคทัณฑ์ พักใบอนุญาต หนักที่สุดคือ ลบชื่อออกจากทะเบียนทนายความ

เปิดข้อบังคับสภาทนายฯ ปมเรียกเงินค่าแถลงข่าวผิด “มรรยาท”?

ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ เผยข้อมูล

logoline