svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

นักวิชาการยัน กสทช.มีอำนาจฟันธงดีล 'ทรู-ดีแทค'

08 กันยายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อ.นิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์-จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประสานเสียงย้ำ กสทช.มีอำนาจล้นพิจารณาดีล ทรู-ดีแทค ระบุควบรวมส่อทุนนิยมผูกขาด

อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ระบุ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 (11) และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 21 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบกิจการโทรคมนาคมมิให้ผู้รับใบอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจํากัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม

 

ได้แก่ (2) การถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน โดยกรณีนี้ทรูและดีแทคได้มีการยื่นรายงานการควบรวมตามข้อ 5 (1) ของประกาศ กสทช.เรื่องมาตรการกำกับดูแลการควบรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2561 ซึ่งตามข้อ 9 ของประกาศดังกล่าวยังระบุว่า การรายงานตามข้อ 5 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กสทช.มีอำนาจในการสั่งห้ามการควบรวมนี้ได้ หากเข้าข่ายเป็นการผูกขาด ลดหรือจำกัดการแข่งขันส่งผลกระทบมหาศาลต่อเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมองว่าการที่สำนักงานกสทช.หรือตัวบอร์ดกสทช.เองนั้น ส่งเรื่องอำนาจของตัวเองไปให้กฤษฎีกาตีความอำนาจของตัวถึง 2 ครั้ง นับเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่ากสทช.ไม่รับรู้หรือมองเห็นในอำนาจของตัวเองแม้ว่ากฎหมายจะบัญญัติให้มา การกระทำดังกล่าวนี้ไม่ต่างอะไรกับการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

 

อีกทั้ง ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ได้บังคับให้ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง กสทช.ต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สูงสุดของ ประชาชน ความมั่นคงของรัฐและประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันมีให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรมหรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

 

เพื่อป้องกันมิให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของประชาชนทั่วไป ซึ่งนี้คือกฎหมายที่ระบุหน้าของกสทช.ดังนั้น การควบรวมดังกล่าวพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วพบว่าจะก่อให้เกิดการมีส่วนแบ่งทางการตลาดเกิน 50% เข้าข่ายผูกขาดผ่านทรัพยากรคลื่นควาทถี่ที่เป็นสมบัติของชาติ ดังนั้น หากพิจารณาจากสามัญสำนึกก็จะเข้าใจอยู่แล้วว่า กสทช.มีอำนาจหน้าที่สำหรับการพิจารณาว่าจะให้ควบรวมหรือไม่ให้ควบรวม กสทช.ต้องดำเนินหน้าที่ของตัวเองเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของประชาชนไม่ใช่ผลประโยชน์สูงสุดของเอกชน การตีความกฎหมายอำนาจของตัวเองก็รู้อยู่แล้วว่ามีอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัยไม่จำเป็นต้องเอาอำนาจของตัวเองไปให้กฤษฎีกาตีความ

ด้านอาจารย์คณะนิติศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รศ.ดร.ณรงค์เดช สรุโฆษิต ระบุ ประเด็นอำนาจของ กสทช.ต้องแยกเป็น 2 คำถาม คือ กสทช.ทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล (เรกูเลเตอร์) ดังนั้น จึงมีอำนาจกำกับดูแลเต็มที่ในรูปแบบระบบใบอนุญาตอย่างชัดเจน กสทช.มีอำนาจในการออกกฎที่เกี่ยวข้อง เพื่อบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตปฎิบัติตามกฎหมาย ในประเด็น กสทช.มีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่ อนุญาตซึ่งทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

 

นอกจากนี้ หากพิจารณาบนสมมุติฐานว่าไทยมีผู้ให้บริการแค่ 2 เจ้าคือ A และ B ต่อมา 2 เจ้านี้จะถือหุ้นไขว้กันจะควบรวมกัน รัฐมีอำนาจแค่รับรู้และมากำหนดมาตรการภายหลังอย่างนั้นหรือ หากเป็นอย่างนั้นจะเกิดการแข่งขันหรือไม่ หรือรัฐมีอำนาจที่จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ควบรวมหรือถือหุ้นไขว้กัน หากเอกชนอ้างว่าอยู่ที่การตีความของกฎหมาย หากอนุญาตให้ A และ B ควบรวมกันแต่ก็ต้องสร้างให้เกิดการแข่งขันแปลว่าให้แข่งกันระหว่างมือซ้ายกับมือขวาในลักษณะนี้หรือ

 

รวมทั้งในด้านหนึ่ง กสทช.มีหน้าที่คุ้มครองประโยชน์ของรัฐ ต้องดูแลทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ถือเป็นทรัพยากรที่จำกัดของชาติ ยิ่งมันจำกัดน้อยเท่าไร เหตุผลที่ต้องเข้ามากำกับดูแลจะต้องเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น โดยแนวทางกำกับดูแลจะแบ่งคร่าวๆออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย 1.ระบบอนุญาต (ไลเซ่น) หมายความว่า ต้องขออนุญาตถึงจะดำเนินธุรกิจ 2.รายงาน (รีพอร์ท) ทำเพียงแค่แจ้ง ไม่ต้องขออนุญาต 3.การดำเนินการได้ทันทีไม่ต้องขออนุญาตและไม่ต้องแจ้ง แต่ต้องดำเนินการภายใต้กฎหมายที่เขียนกำกับเอาไว้

 

ทั้งนี้ คำถาม คือ ทรัพยากรคลื่นความถี่ที่ในกฎหมายเขียนไว้ว่ามีความสำคัญและเป็นสมบัติของชาติจะต้องดำเนินการเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐและประชาชน หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลจะใช้เพียงแค่การรับทราบรายงานเพียงอย่างเดียวเท่านั้นหรือ เพราะอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเป็นระบบการรับใบอนุญาต หมายความว่าต้องมีใบอนุญาตก่อนดังนั้นไม่ควรอ้างว่า กสทช.มีหน้าที่เพียงแค่รับทราบรายงานจากเอกชน

logoline