6 สิงหาคม 2565 โควิดวันนี้ ยังคงมีการแพร่ระบาดของ “โอมิครอน” อย่างต่อเนื่อง แม้อาการไม่รุนแรง แต่ยังต้องรับยารักษาโควิด-19 ล่าสุด “หมอธีระ” รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” รายงานสถานการณ์โควิด พร้อมเปิดข้อมูลจาก องค์การอนามัยโลก หรือ WHO เกี่ยวกับยารักษาโควิดที่แนะนำจ่ายให้กับกลุ่มผู้ป่วยโควิด มีรายละเอียดดังนี้..
เมื่อวาน (5 ส.ค.) ทั่วโลกติดเพิ่ม 778,355 คน ตายเพิ่ม 1,887 คน รวมแล้วติดไป 587,365,542 คน เสียชีวิตรวม 6,433,100 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐอเมริกา อิตาลี และออสเตรเลีย
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 76.39 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 52.72
...สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
...อัพเดตงานวิจัย Long COVID
งานวิจัยในเนเธอร์แลนด์ พบว่าเกิดภาวะ Long COVID ราว 1 ใน 8
Ballering A และคณะจากเนเธอร์แลนด์ เผยแพร่ผลการศึกษาโดยเปรียบเทียบกลุ่มประชากรที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 4,231 คน และกลุ่มที่ไม่ได้ติดเชื้อ 8,462 คน โดยการติดเชื้อเกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564
พบว่า
กลุ่มที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะพบปัญหาอาการผิดปกติแบบ Long COVID อย่างน้อย 1 อาการ ในช่วงที่ประเมิน ณ 90-150 วัน ราว 12.7% หรือ 1 ใน 8
ผลการศึกษานี้ตอกย้ำให้เห็นว่า Long COVID นั้นมีแน่นอน สอดคล้องกับการศึกษาอื่นๆ ทั่วโลกที่มีมาก่อนหน้านี้ที่พบว่าเกิดขึ้นได้ตั้งแต่ 5-30% การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
...อัพเดตแนวทางการรักษาจากองค์การอนามัยโลก
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ได้อัพเดตแนวทางการรักษาโควิด-19 เมื่อ 14 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมาดังรูป (ภาพที่ 1)
แนวทางการรักษานี้ผ่านการทบทวนหลักฐานวิชาการแพทย์ทั่วโลก และประเมินตามน้ำหนักของหลักฐานวิชาการเหล่านั้นอย่างรอบคอบ
เมื่อพิจารณาจะพบว่า ยาต้านไวรัสที่ได้รับคำแนะนำให้ใช้รักษาในผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 นั้นได้แก่ แพกซ์โลวิด (Paxlovid), โมลนูพิราเวียร์ (Molnupiravir), และ เรมเดซิเวียร์ (Remdesivir)
ยาอื่น ๆ ที่ใช้ ได้แก่ สเตียรอยด์ และยาแอนติบอดี้ ยังไม่มีคำแนะนำให้ใช้ ฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และ ฟ้าทะลายโจร
“สถานการณ์ของไทยเรา ยังมีระบาดต่อเนื่อง การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอระหว่างการออกไปทำงานหรือศึกษาเล่าเรียน เป็นเรื่องสำคัญมากครับ ” หมอธีระ ระบุ
อ้างอิง
1. Ballering A et al. Persistence of somatic symptoms after COVID-19 in the Netherlands: an observational cohort study. The Lancet. 6 August 2022.
2. Therapeutics and COVID-19: Living guideline. WHO. 14 July 2022.