svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ส่องอาชีพ 'ช่างต่อเรือ' ทำเงินหลักแสน!

20 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อาชีพช่างต่อเรือ โชว์ทักษะภูมิปัญญาประสบการณ์และฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ แต่ปัจจุบันเหลือคนสืบทอดน้อยเต็มที “ร้านเสน่ห์งานไม้” จ.พิษณุโลก เดินหน้าสืบสานอนุรักษ์ไว้จากรุ่นสู่รุ่น ยอดสั่งต่อเรือเพิ่มขึ้นสร้างรายได้หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท

ผู้สื่อข่าวพาไปดูอาชีพ “ช่างต่อเรือ” ที่ปัจจุบันเป็นอาชีพที่ใกล้จะสูญหายคนสืบทอดเริ่มเหลือน้อย โดยในวันนี้พาไปที่ “ร้านเสน่ห์งานไม้” ได้พบกับนายเสน่ห์ เพ็งเหมือน อายุ 64 ปี (เจ้าของร้าน) อยู่บ้านเลขที่ 287/2 ม.2 บ้านกระบัง ต.หอกลอง อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก ซึ่งเป็นผู้สืบทอดการต่อเรือมาจากคุณพ่อ ในพื้นที่บริเวณรอบๆบ้านพักจะรายล้อมไปด้วยเรือหลากหลายขนาดที่กำลังขึ้นรูปและอยู่ในระหว่างต่อ ตกแต่ง ทาสี

                นายเสน่ห์ เพ็งเหมือน บอกว่าจุดเริ่มต้นของการต่อเรือก็เรียนรู้มาจากพ่อ พ่อเป็นชาว จ.ราชบุรี ล่องเรือเรื่อยมา มาลงหลักปักฐานอยู่ ต.คันโช้ง อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ยึดอาชีพ ทำงานไม้ ต่อเรือหาเลี้ยงชีพ สร้างครอบครัวเรื่อยมา ตนเรียนรู้มาจากพ่อตั้งแต่อยู่ ป.4 ก็เป็นลูกมือช่วยงานเขาทุกอย่างจนได้ความรู้ และก็ไม่ได้เรียนต่อหันมาช่วยพ่อทำงานไม้ทุกชนิดเรื่อยมาจนมีครอบครัว ได้อาชีพช่างไม้เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง จนมาเมื่อปี พ.ศ.2554 จ.พิษณุโลกมีน้ำท่วมครั้งใหญ่ ประกอบกับเปิดเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปี พ.ศ.2555 ทำให้มีชาวบ้านละแวกนี้ติดต่อเข้ามาสั่งต่อเรือเพื่อไปใช้ช่วงน้ำท่วมและเพื่อนำไปใช้ประกอบอาชีพหาปลา ทำให้ตนได้กลับมายึดงานต่อเรือแบบจริงๆ จังๆ อีกครั้ง

               ลูกสาวก็ได้เปิดเพจ : ขายเรือไม้สัก เรือพาย รับต่อเรือไม้สัก ทำให้มีคนรู้จักตนมากขึ้นจากเดิมแค่หมู่บ้าน ตำบล จังหวัด ตอนนี้มีลูกค้าไปทั่วประเทศ รวมถึงต่างประเทศ อย่างจีน อเมริกา ออสเตเรีย อีกด้วย ทำให้อาชีพช่างต่อเรือตอนนี้สามารถเป็นอาชีพหลักสร้างรายได้เลี้ยงดูครอบครัวได้ ถ้าแบบงานน้อยๆ ก็ต่อเรือไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10 ลำ ช่วงงานเยอะบางทีก็ 3 เดือนประมาณ 80 ลำ ส่วนลูกมือตอนนี้ก็จะมีแค่ญาติ และลูกเขย ช่วยกันในครอบครัว ไม่ได้รับช่างนอกทำที่เราทำไหวภายในครอบครัว

              นายเสน่ห์ เพ็งเหมือน บอกว่า เรือที่ต่อก็จะเป็นเรือตามสั่งเลย ที่ลูกค้าต้องการส่วนใหญ่จะเป็นเรือตะเข้ สัมปั้น เรืออีโปง เรือหมู เรืออีป๊าบ เรือกระแชง เรือเอี้ยมจุ๊น เรือท้องแบบ และเรือทรงสปี๊ดโบ๊ท ราคาแล้วแต่ขนาดและชนิดไม้ อย่างราคาเริ่มต้นที่ 7,500 เป็นเรือตั้งหน้าร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ ไปจนถึงราคา 250,000 บาท เป็นเรือทรงสปีดโบ๊ท ส่วนไม้ที่นำมาต่อเรือก็จะไปไม้เก่า มีทั้งไม้สัก พะยอม ประดู่ ตะเคียน แล้วแต่ลูกค้าเลือกประเภทไม้ ถ้าคนชอบเรือน้ำหนักเบาก็จะเป็นไม้สัก ถ้าชอบเรือน้ำหนักเยอะหน่อยจะเป็นประเภท ไม้พะยอม ประดู่ ตะเคียน แล้วก็ต้องดูการใช้งานของเรือที่ลูกค้าต้องการ ว่าต้องการแค่นำไปตั้งโชว์หน้าร้าน หรือต้องการนำไปลงน้ำใช้งานจริง

             ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาก็กระทบบ้าง ราคาไม้เจ้าประจำก็ยังไม่ขึ้นราคาเท่าไหร่ แต่พวกอุปกรณ์เสริมที่ต้องใช้ อย่างกระดาษทราย สี ทินเนอร์ สกรู น้ำมัน ต่างๆ ราคาขึ้นหมด ลูกค้าที่สั่งต่อเรือไว้ก็ชะลอตัวลง เลื่อนรับงานออกไปเพราะสถานที่ไม่เอื้ออำนวย แต่ช่วงนี้มาตรการต่างๆ เริ่มปลดล็อค สถานที่ท่องเที่ยวเริ่มกลับมาให้บริการได้ งานก็เริ่มกลับเข้ามา ตอนนี้มีออเดอร์ที่สั่งต่อเรือเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

                นายเสน่ห์ เพ็งเหมือนบอกต่ออีกว่าอาชีพช่างทำเรือปัจจุบันแทบจะเลือนหายหาคนทำได้น้อยเต็มทีเพราะต้องใช้ทั้งทักษะความชำนาญเฉพาะตัว ต้องใช้ทักษะภูมิปัญญาประสบการณ์และฝีมืออันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ทำให้คนส่วนใหญ่หันไปหาพวกเรือเหล็ก เรืออลูมิเนียมใช้กัน แต่ก็ยังมีกลุ่มคนบางกลุ่มที่ยังคงอนุรักษ์ความเป็นเรือไม้ไว้ เราจึงยังได้ลูกค้าจากกลุ่มนี้ นอกจากการต่อเรือใหม่ก็ยังรับซ่อมแซมเรือเก่าด้วย หรือแม้แต่เรือโมเดล เฟอร์นิเจอร์งานไม้ หรืองานไม้ทุกประเภทก็รับทำเหมือนกัน ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน หรือผู้ประกอบอาชีพค้าขายก๋วยเตี๋ยวเรือ กลุ่มผู้ประกอบการตลาดน้ำ หรือแม้แต่กลุ่มคนไทยที่ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับขนมไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ อยู่ในต่างประเทศ

              นายเสน่ห์ ฯบอกว่า อาชีพช่างต่อเรือในยุคสมัยนี้ใกล้ที่จะสูญหายไป ทั้งจังหวัดพิษณุโลกมีตนเป็นรายเดียวที่ยังคงอนุรักษ์ไว้ ตอนนี้ก็เริ่มส่งต่อให้กับลูกเขย 7-8 ปี ที่มาทำงานด้วยจากไม่เป็นอะไรเลย ตอนนี้เรียกว่าช่างได้แล้วสามารถต่อเรือขึ้นเรือเองได้แล้ว ตนก็เบาใจจากนี้อาชีพของตนที่สืบสานมาจากรุ่นพ่อก็จะมีคนสืบสานต่อไป และสามารถสร้างรายได้เลี้ยงปากเลี้ยงท้องเลี้ยงครอบครัวได้ เฉลี่ยต่อเดือนช่วงงานเยอะๆทำเงินให้ได้ 80,000-100,000 ต่อเดือน และจะปลูกฝังให้รุ่นลูกรุ่นหลานอนุรักษ์เอาไว้

logoline