การหลอกลวงให้เหยื่อโอนเงิน โดยแก๊ง “คอลเซ็นเตอร์” ยังคงเกิดขึ้นเป็นข่าวแทบทุกวัน แม้ประชาชนจะเริ่มเรียนรู้กลอุบายต่างๆ ของพวกมิจฉาชีพเหล่านี้ และภาครัฐพยายามประชาสัมพันธ์อย่างหนัก แต่กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ “คุณลุงบุญยัง” เหยื่อรายล่าสุด / ทำให้พอมองเห็นความพยายามของคนร้าย ในการกุเรื่องเสมือนจริงแบบสุดๆ จนเหยื่อต้องยอมโอนเงิน ซึ่งหากไม่เกิดกับใคร ก็ยากจะเข้าใจ เพราะเรื่องแบบนี้ไม่ใช่ความ “ไม่ฉลาด” แต่เป็นความผิดพลาดจากเล่ห์เหลี่ยมสุดเหนือชั้นของแก๊งคอลเซ็ตเตอร์ โดยที่หน่วยงานรัฐบ้านยังทำอะไรได้ไม่มากนัก
เหยื่อรายล่าสุดนี้ คือ คุณลุงบุญยัง ศรีใส โชเฟอร์แท็กซี่ วัย 64 ปี / วันนี้ได้เข้าแจ้งความกับ ตำรวจ สภ.สำโรงเหนือ จ.สมุทรปราการ หลังถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกให้โอนเงิน จำนวน 3,762 บาท โดยคุณลุงบุญยัง พลาดโอนเงินเมื่อวานนี้ (13 กรกฎาคม) แม้จะเป็นเงินจำนวนไม่มาก แต่คดีนี้ถือว่าเป็นบทเรียนที่น่าศึกษา เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัย
การก่อเหตุ เริ่มต้นโดยคนร้ายใช้เบอร์โทรศัพท์ ซึ่งเป็นเบอร์โทรไม่ปกติ ตัวเลขเยอะกว่าระบบโทรศัพท์ที่เราใช้กันปัจจุบัน คือเบอร์ 063 -926 – 030797 / คนร้ายติดต่อเข้ามาที่โทรศัพท์ของคุณลุงบุญยัง อ้างเป็น สิบตำรวจเอกหญิง วิไลลักษณ์ บุญมี ผู้บังคับหมู่งานสืบสวน สภ.เชียงราย กุเรื่องว่า ตำรวจเชียงรายสามารถสกัดจับพัสดุบรรจุสิ่งผิดกฎหมายได้ มีการจับกุมผู้ต้องหาได้ 1 ราย มีการพาดพิงถึง คุณลุงบุญยัง ว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด รับเงินค่าจ้าง 3 แสนบาทเพื่อเปิดบัญชีม้า ก่อนจะอ้างบทบัญญัติกฎหมายฟอกเงิน ที่มีโทษจำคุก 3-10 ปี เป็นคำขู่ ให้คุณลุงบุญยัง โอนเงินที่มีทั้งหมด เพื่อเป็นการตรวจสอบ และแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่ใช่เจ้าของบัญชีม้าตามที่คนร้ายกล่าวอ้าง โดยบอกว่า จะส่งเงินคืนให้ภายใน 1 สัปดาห์
กลวิธีของคนร้าย คือ ส่งเอกสารแอบอ้างที่เตรียมไว้แล้ว เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือ ประกอบด้วย
- ภาพบัตรข้าราชการตำรวจของคนร้ายที่อ้างว่าชื่อ สิบตำรวจเอกหญิง วิไลลักษณ์ บุญมี เห็นข้อมูลและใบหน้าชัดเจน
- ภาพเอกสาร หมายเรียกผู้ต้องหา จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุชื่อ นามสกุล เหยื่อชัดเจน
-ภาพการจับกุมผู้ต้องหาที่อ้างว่ามีการพาดพิงถึงเหยื่อ ว่าเปิดบัญชีม้าให้กับขบวนการฟอกเงิน แต่เมื่อตรวจสอบถูกนำมาบิดเบือนข้อมูลแล้วนำมากล่าวอ้างหาประโยชน์
จากหลักฐานเอกสารที่ดูมีน้ำหนักน่าเชื่อถือ และเงินที่คนร้ายอ้างให้โอนไป ก็ไม่มากนัก ทำให้คุณลุงบุญยัง ตัดสินใจโอนเงินไปให้ ทั้งๆ ที่ตัวเองก็ยังคลางแคลงใจหลายเรื่อง
ทีมข่าวข้นคนข่าว ได้คุยกับ คุณลุงบุญยัง เจ้าตัวบอกว่า รู้สึกโกรธตัวเอง และถามตัวเองซ้ำๆ ว่า ทำไมไม่ตรวจสอบให้ดีก่อนโอนเงินไปให้ / ทำไมไม่ฉุกคิดว่าตัวเองไม่เคยไปจังหวัดเชียงราย และไม่มีอะไรเกี่ยวขัองกับจังหวัดนี้เลย
แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่า หลักฐานการโอนเงิน มีการระบุเลขที่บัญชี มีชื่อ นามสกุล จึงคิดไปว่าตัวเองยังมีข้อมูลให้สืบค้นภายหลังได้ แต่หลังได้หลักฐานการโอน ยังไม่ทันข้ามวัน ได้ทดลองโทรศัพท์กลับไปยัง สิบตำรวจเอก หญิง คนที่โทรมา แต่ปรากฏว่าโทรไปสิบกว่าครั้ง กลับไม่มีใครรับสาย จึงมั่นใจว่าถูกหลอกแน่นอน
คุณลุงบุญยัง เล่าด้วยว่า ตนเองกับภรรยา ย้ายจาก อำเภอบ้านหมี่ จังหวัดลพบุรี มาปักหลักในซอยมิตรไมตรี ย่านช้างสามเศียร จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อประกอบอาชีพ “โชเฟอร์แท็กซี่” หาเลี้ยงชีพ และจะพอมีเงินเก็บสะสมบ้างเล็กน้อย เมื่อ 3–4 เดือนที่แล้ว เพิ่งตัดสินใจผ่อน “สามล้อไฟฟ้า” ราคา 18,000 บาท เพื่อให้ภรรยาใช้สำหรับเดินทางในหมู่บ้าน และไปจ่ายตลาด / ที่ผ่านมาจ่ายค่างวดไปแล้ว 3 งวด เหลือผ่อนงวดสุดท้ายอีก 3,000 บาท แต่ตอนนี้ไม่มีส่ง ก็คิดว่าจะต้องยอมคืน “รถสามล้อไฟฟ้า” ให้กับร้านไป เพราะผ่อนไม่ไหว
ทีมข่าวข้นคนข่าว ได้ตรวจสอบเอกสารที่คนร้ายส่งให้คุณลุงบุญยัง พบว่ามีหลายจุดที่เป็นพิรุธ แต่คุณลุงไม่ได้เฉลียวใจตรวจสอบ โดยเอกสารหมายเรียกที่ส่งมา เรียกให้ไปให้การเวลา 5 โมงเย็น มีการสะกดคำผิดหลายจุด ซึ่งโดยปกติเอกสารราชการจะไม่มีความผิดพลาดเช่นนี้
นอกจากนั้น บัตรประจำตัวของ สิบตำรวจเอกหญิง วิไลลักษณ์ บุญมี ตรงลายเซ็น กลับมียศ พันตำรวจเอก ไม่ใช่ สิบตำรวจเอก / หนำซ้ำ สภ.เมืองเชียงราย ก็ยังเขียนผิด ตก ง.งู ซึ่งถ้าเป็นบัตรจริง จะไม่มีทางผิดได้ขนาดนี้
ถือเป็นอุทาหรณ์สอนใจทุกคนในสังคม ให้รอบคอบ อย่าใจเร็วโอนเงินจากใครก็ไม่รู้ที่โทรมา และท่องไว้เสมอว่า ตำรวจ หรือข้าราชการไทย ไม่ได้ใจดีส่งหมายเรียก หมายจับ ทางไลน์ หรือแสดงความเป็นห่วงเราว่าจะถูกดำเนินคดีแน่นอน / ถ้ามีใครอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ และดีกับเราขนาดนั้น สุดท้ายจบที่การโอนเงิน ขอให้คิดไว้เลยว่าเป็นเรื่องหลอกลวง และเป็นมิจฉาชีพแน่นอน