svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

นักวิชาการ จี้รัฐเลิกมาตรการคุมราคาสินค้า หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ

07 กรกฎาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักวิชาการ ห่วงมาตรการคุมราคาสินค้าของก.พาณิชย์ ซ้ำเติมเศรษฐกิจ ทำสินค้าด้อยคุณภาพลง-ขาดแคลนอาหาร หลังผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไม่ไหว

7 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงายว่า ในการเสวนาทางวิชาการเรื่อง ชี้ทางออกสภาวะเงินเฟ้อและความมั่นคงทางด้านอาหาร จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลก ความเสี่ยงในเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหารจึงมีน้อย 

 

แต่จากต้นทุนการผลิตอาหารที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาคเกษตรทำให้ประชาชนในประเทศได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น ซึ่งเป็นเช่นนี้กันทั่วโลก ไม่เฉพาะประเทศไทย การปรับราคาอาหารที่เพิ่มขึ้นนั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์โควิด-19 สงครามรัฐเซียและยูเครน สภาวะโลกร้อน รวมไปถึง ล่าสุด สหรัฐอเมริกามีการปรับเพิ่มขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ส่งผลให้เกิดการช็อกตลาดเงินทั่วโลก ค่าเงินสหรัฐอเมริกาแข็งค่า เงินหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยอ่อนค่าลงอย่างมาก ส่งผลให้สินค้านำเข้าทั่วโลกแพงขึ้น สินค้าหลายตัวจึงขอปรับราคา แต่ถูกมาตรการคุมราคาของกระทรวงพาณิชย์คุมไว้  โดย รศ.ดร.นิพนธ์มองว่าเป็นสิ่งที่น่ากังวล

 

นักวิชาการ จี้รัฐเลิกมาตรการคุมราคาสินค้า หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ

"อนาคตหากยังคุมราคาสินค้า ที่สุดแล้วสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคจะขาดแคลน จะมีราคาที่สูงขึ้น คุณภาพสินค้าจะลดลง รัฐควรค่อยๆ ปล่อยให้สินค้าต่างๆ ที่ต้นทุนสูงขึ้น ภาระเพิ่มขึ้นได้ปรับขึ้นราคาได้แล้ว เพราะเมื่อต้นทุนสูงขึ้นแต่เพิ่มราคาไม่ได้ ที่สุดผู้ประกอบการก็ไม่มีแรงจูงใจที่จะผลิตสินค้าป้อนตลาด ก็ลดกำลังการผลิต สินค้าก็จะมีราคาแพง สินค้าขาดแคลน จะเกิดความตระหนกและแห่กักตุนสินค้าในที่สุด” 

 

ฟังแล้วก็ให้นึกถึง “มาม่า”หนึ่งในสินค้าควบคุมที่ออกมาขอให้กระทรวงพาณิชย์อนุญาตให้ขึ้นราคาหลายครั้งหลายคราว ดังที่ นายธรรมรัตน์ โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการและประธานกรรมการบริหาร บมจ.ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล ถึงกับเอ่ยปากว่า ขณะนี้บริษัทไม่สามารถแบกรับต้นทุนของบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาม่าไหวแล้ว และกำลังเข้าสู่ช่วงที่กำไรหาย แม้ยังไม่ขาดทุน แต่หากราคาต้นทุนการผลิตยังขึ้นต่อเนื่องเชื่อว่าหลังจากนี้จะเข้าสู่ภาวะขาดทุนแน่นอน 

 

"ต้นทุนการผลิตมาม่าขึ้นมาเฉลี่ยหลาย 10% และหากเจาะดูในแต่ละวัตถุดิบบางอย่างขึ้นมาหลายเท่าตัว เช่น แป้งสาลี น้ำมันปาล์ม ที่ใช้ในการผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ทำให้ช่วงนี้อยู่ในช่วงที่ลำบาก และหากถามว่าจะแบกรับต้นทุนเหล่านี้ไปได้ถึงเมื่อไหร่นั้น ในเชิงธุรกิจนั้นแบกรับไม่ไหวแล้วส่วนในเชิงการค้าขายและการดูแลลูกค้าคงจะแบกรับต้นทุนได้อีกไม่นานหากราคาวัตถุดิบยังมีแนวโน้มปรับขึ้นอยู่แบบนี้”

 

นักวิชาการ จี้รัฐเลิกมาตรการคุมราคาสินค้า หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ

มาม่าเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งของสินค้าควบคุมทั้ง 51 หมวดที่ต้องอาศัยคำอนุมัติจากกระทรวงพาณิชย์ในการขึ้นราคา ในหมวดอาหารที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารแปรรูป ที่ต้องรับผิดชอบคนงานมหาศาลในโรงงานก็นับว่าหนักหนาสาหัสแล้ว เมื่อทำของออกมาขายแล้วไม่มีกำไร ภาคธุรกิจคงต้องหาทางออก อาจหยุดไลน์การผลิต ซึ่งจะทำให้สินค้าขาดแคลน ผู้บริโภคเดือดร้อน และที่สุดแล้วจะนำไปสู่การเลิกจ้างพนักงาน ซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศเข้าไปอีก   

 

สงครามที่ไม่มีแนวโน้มจะยุติ บ่งบอกว่าต้นทุนการผลิตอาหารจะยังคงสูงขึ้น ดังที่ รศ.ดร.นิพนธ์ฟันธงว่า ภาวะราคาอาหารแพงทั่วโลกอาจกินเวลายาวนาน ก็พลันให้คิดถึงสินค้าในหมวด “เกษตรปศุสัตว์” ที่ “เกษตรกร” เป็นผู้ผลิตอย่างเนื้อหมู เนื้อไก่ หรือ ไข่ไก่ คนกลุ่มนี้มีอาชีพเดียวเลี้ยงครอบครัว เขาจะอยู่รอดอย่างไรหากมีต้นทุนการผลิตสูง ทั้งข้าวโพดอาหารสัตว์ที่ไม่มีเพดานราคา  ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงและค่าขนส่งพุ่งพรวดจากสงคราม ควบคู่ไปกับต้นทุนการป้องกันโรคระบาดสัตว์ต่างๆ แต่กลับขายได้ในราคาไม่คุ้มทุน ไร้แรงจูงใจในการผลิตอาหารให้คนไทย เป็นใครก็คงต้องพักเล้ายาว เมื่อไม่มีผลผลิต ของไม่พอกิน ย่อมนำไปสู่การขาดแคลนและมีราคาแพงเกินคาดคิด  

นักวิชาการ จี้รัฐเลิกมาตรการคุมราคาสินค้า หวั่นซ้ำเติมเศรษฐกิจ

“การคุมราคา”จึงไม่ใช่ทางออกที่ดีสำหรับผู้บริโภค ไม่ใช่ทางออกที่เหมาะสมสำหรับผู้ผลิต และไม่ใช่ทางที่ถูกต้องสำหรับเกษตรกร 

 

รศ.ดร.นิพนธ์ ทิ้งท้ายว่าภาครัฐต้อง“เลิกควบคุมราคาอาหาร” และท่องสูตรราคาแพงดีกว่าขาดตลาด  เพราะเกษตรกรจะมีแรงจูงใจเพิ่มการผลิตอย่างรวดเร็วเหมือนในอดีต และราคาก็จะลงเองตามธรรมชาติ ดังบทเรียนราคาข้าวแพงในปี 2551 แต่ราคากลับสู่ปกติภายใน 6 เดือน ยิ่งรัฐควบคุมราคา เกษตรกรก็จะไม่มีแรงจูงใจเพราะทำแล้วไม่ได้กำไร  รัฐไม่ควรแทรกแซงตลาด เพราะการค้าเสรีเป็นหนทางที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาราคาอาหารได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  

logoline