svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

สภาเภสัชกรรม ย้ำ "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม

15 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สภาเภสัชกรรม ย้ำกัญชามีประโยชน์การแพทย์ สามารถลดอักเสบผิว สะเก็ดเงิน แต่ต้องใช้เหมาะสมและถูกประเภท สอดคล้องกับช่วงวัย ห่วงโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ย้ำผู้ผลิตต้องระบุคำเตือนและส่วนประกอบ

15 มิถุนายน 2565 รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม และนักวิชาการผู้ขับเคลื่อนการเข้าถึงยาในประเทศไทย กล่าวว่า สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สนับสนุน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการความรู้เกี่ยวกับ กัญชา สรุปว่า กัญชามีประโยชน์ทางแพทย์ และสรรพคุณรักษาอาการต่าง ๆ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม ปัจจุบันเกิดความนิยมนำกัญชามาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย

 

ประเทศไทยมีข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการใช้กัญชา เพื่อควบคุมการบริโภคกัญชาอย่างเหมาะสม อาทิ ผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาต สถานที่ผลิตต้องแยกออกจากการผลิตอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันการปนเปื้อน นอกจากนี้ต้องระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน ดังนี้ 

 

 

  • 1. เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน 
  • 2. หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที 
  • 3. ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน
  • 4. อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

 

สภาเภสัชกรรม ย้ำ "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม

  • 5. แสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลต่อหน่วยบรรจุ พร้อมระบุ มี สาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบรรจุ
  • 6. ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ
  • 7. ระบุคำว่า “กัญชา” หรือ “กัญชง” ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร การใช้กัญชาเป็นอาหาร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ และความปลอดภัยของประชาชนในการบริโภคกัญชา

 

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวต่อว่า ที่ต้องเฝ้าระวังคือผู้บริโภคในแต่ละวัย มีสภาวะของร่างกายที่แตกต่างกัน อาทิ เด็กอายุ 8 เดือนถึง 12 ปี ที่รับประทานกัญชา จะมีอาการซึม เดินเซ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กล้ามเนื้อ อ่อนแรง ผู้ใหญ่วัย 18-25 ปี มีแนวโน้มบริโภคกัญชามากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการจำและการรับรู้ลดลง บกพร่องในด้านความจำ  เกิดความวิตกกังวล เกิดภาวะเฉื่อยเนือย หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบอาการสมองเสื่อม เสี่ยงต่อการหกล้ม เนื่องจากเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จึงต้องมีการควบคุมการใช้กัญชา ให้เหมาะสมทั้งปริมาณ รูปแบบการใช้ และช่วงวัย

 

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวเสริมอีกว่า นอกจากอาหารแล้ว การใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางก็เป็นที่นิยม โดยได้รับการอนุญาตในรูปแบบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า โลชันบำรุงผิว ผงขัดผิว ลิปสติก

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตจะต้องมีการระบุข้อความคำเตือน เช่นเดียวกับอาหาร อาทิ

  • 1. ห้ามรับประทาน
  • 2. ผลิตภัณฑ์อาจก่อให้เกิดการแพ้หรืออาจระคายเคืองผิวหนังได้
  • 3. หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร 

 

สภาเภสัชกรรม ย้ำ "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม

“ ถึงแม้ว่าประโยชน์ของกัญชาสำหรับผิวหนังจากงานวิจัย เช่น ลดการอักเสบของผิว เร่งการสมานของบาดแผล บรรเทาอาการคัน ในโรคสะเก็ดเงิน กลาก ผื่นภูมิแพ้ และป้องกันการเกิดแผลเป็น ลดสิวอักเสบ แต่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำเป็นต้องมีการควบคุม โดยเฉพาะการโฆษณา ”

 

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมากฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการโฆษณาเครื่องสำอาง เรื่องการโฆษณาของพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงมีการห้ามใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสีย กล่าวอ้างชื่อสารกัญชา-กัญชงว่าเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางในทางการโฆษณา ซึ่งจะต้องเป็นข้อความที่สื่อความหมายในขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม โดยไม่เกิดผลด้านอื่นแก่สุขภาพ หรือไม่กล่าวอ้างสรรพคุณทางยา อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และต้องสอดคล้องกับประเภทเครื่องสำอางที่จดแจ้งไว้ และพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง ต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง

 

สภาเภสัชกรรม ย้ำ "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม

สภาเภสัชกรรม ย้ำ "กัญชา" มีประโยชน์ทางการแพทย์ แต่ต้องใช้อย่างเหมาะสม

logoline