svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ศศก. เตือนระวังเยาวชนใช้กัญชาในทางผิด หลังปลดล็อก กันเข้าสู่วงจรยาเสพติด

10 มิถุนายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด ชี้ ปลดล็อกกัญชา-กัญชง ประชาชนต้องศึกษาวิธีใช้ให้ถูกต้อง ป้องกันปัญหาสุขภาพ เผย โควิด-19 ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบการใช้กัญชามากขึ้น 2 เท่า เตือน เฝ้าระวังเด็ก-เยาวชนใช้ในทางผิด ป้องกันเข้าวงจรสารเสพติด

10 มิถุนายน 2565 รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) เปิดเผยว่า การปลดล็อกกัญชง-กัญชา ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 เชื่อว่าได้ผ่านการกลั่นกรองจากทุกฝ่ายครบถ้วนแล้ว แต่การที่ยังไม่มีพระราชบัญญัติกัญชา-กัญชง ควบคุมเรื่องนี้โดยเฉพาะ จึงเป็นห่วงความปลอดภัยว่า จะถูกใช้ในเชิงสันทนาการ หรือนำไปซื้อ-ขายแบบทั่วไปในทางที่ผิดและอันตราย

ศศก. เตือนระวังเยาวชนใช้กัญชาในทางผิด หลังปลดล็อก กันเข้าสู่วงจรยาเสพติด

เพราะประชาชนสามารถจดแจ้งปลูกกัญชา-กัญชง ผ่านแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” หรือเว็บไซต์ http://plookganja.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อย่างเสรี ระหว่างนี้จึงแนะนำว่า หากจะทำอะไรต้องยึดตามระเบียบและกฎหมาย เช่น หากจะใช้ส่วนต่างๆ ของกัญชามาทำอาหาร ก็ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติอาหาร หรือหากนำมาใช้ในทางการแพทย์ ก็ต้องปฏิบัติตามหน่วยงานกำกับดูแลเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

ศศก. เตือนระวังเยาวชนใช้กัญชาในทางผิด หลังปลดล็อก กันเข้าสู่วงจรยาเสพติด

รศ.พญ.รัศมน กล่าวว่า ศศก. ได้สำรวจประชากร 5,000 คน ตั้งแต่ ปี 2563 – 2565 พบการใช้กัญชาในช่วงโควิด-19 มากขึ้น ขณะที่การใช้สารเสพติดชนิดอื่นลดลง คาดการณ์ว่า มีผลมาจากการล็อกดาวน์ระลอกแรก ในช่วงเดือนเมษายน ปี 2563 ที่ทำให้การสังสรรค์ลดลง โดยพบผู้ใช้กัญชาเพื่อสันทนาการเพิ่มขึ้น 2 เท่าในปี 2564 และปี 2565 และยังพบการใช้สูงต่อเนื่อง แต่เมื่อออกกฎหมายให้นำกัญชาบางส่วนมาใช้ได้ เช่น นำใบมาใส่อาหาร  ทำให้เกิดการใช้กัญชา 2 ลักษณะ คือ การดื่ม หรือ ผสมเครื่องดื่ม (Oral Use)  และการสูบ (Smoking Use)  โดยพบการดื่มมากขึ้นเพราะกฎหมายอนุญาตแล้ว หากจำแนกการใช้กัญชาเพื่อสันทนาการ พบว่า กลุ่มวัยผู้ใหญ่หรือวัยกลางคน นิยมใช้กัญชาในรูปแบบของการกินดื่ม ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี พบอัตราการสูบมากถึง 2 เท่า

 

“ปัจจัยการเริ่มใช้ยาเสพติดในเด็กและเยาวชน สิ่งแวดล้อมมีส่วนสำคัญมาก โดยพบว่า หากครอบครัวมีประวัติการใช้ หรืออยู่ในที่ที่เข้าถึงยาเสพติดได้ง่าย เด็กเยาวชนก็จะซึมซับ และมีแนวโน้มใช้ตาม ส่วนพันธุกรรมก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัย ที่ทำให้เกิดการติดง่าย หากคนในครอบครัวใช้ ดังนั้นการปลดล็อก ย่อมส่งผลให้เกิดการใช้ในครัวเรือนมากขึ้น เพียงแค่จดแจ้งว่าครอบครัวไหนปลูกบ้าง ถ้าครอบครัวไหนมีเด็กก็ย่อมเห็นได้ง่าย ดังนั้นต้องระมัดระวังในเรื่องนี้” รศ.พญ.รัศมน กล่าว

ศศก. เตือนระวังเยาวชนใช้กัญชาในทางผิด หลังปลดล็อก กันเข้าสู่วงจรยาเสพติด

ผอ.ศศก. กล่าวต่อ ในทางการแพทย์ ไม่อยากให้สารจากกัญชาเข้าไปสู่ร่างกายโดยไม่จำเป็น แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้แนะนำให้ใช้จำนวนน้อยที่สุด ขณะที่อาหารมีกฎหมายควบคุม เพียงแต่ขอให้ปฏิบัติตาม เช่น กำหนดให้ใส่ใบกัญชา 1-2 ใบ ก็ใส่แค่นั้น อย่าใส่เกิน เพราะอาจได้รับสารมึนเมาเกินขนาด และต้องระวังการใช้ความร้อนในการปรุงด้วย เพราะมีผลต่อการสกัดให้สาร THC เข้มข้นเกิน 0.2% ซึ่งผิดกฎหมาย

 

พร้อมย้ำว่า ประชาชนอย่าใช้ช่อดอกมาทำอาหารเพราะผิดกฎหมาย ทั้งนี้คาดว่าคนสนใจนำสารเหล่านี้ไปใส่ในอาหารเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นของผิดกฎหมายที่ปิดมานาน และเมื่อมีการปลดล็อกกัญชาแล้วมองว่า ไม่ว่ากัญชาจะมีสถานะไหน ถูกหรือผิดกฎหมาย กัญชาก็เป็นพืชชนิดหนึ่ง ที่มีสารที่ต้องระวังอย่างยิ่งคือ สาร THC มีฤทธิ์ทำให้มึนเมา คนที่อยากรู้อยากลองต้องระมัดระวัง เช่น การรับประทานอาหารอย่าบริโภคมากเกินไป  ส่วนการสูบไม่แนะนำเพราะจะเกิดผลกระทบกับชีวิต หากได้รับสาร THC มากไป  ดังนั้นการปลดล็อกหรือไม่ การใช้กัญชาต้องระวังเหมือนเดิม

logoline