svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

“ทวี”ชำแหละงบ 66 ซ้ำซ้อน ไม่ให้ความสำคัญสวัสดิการ-ท้องถิ่น

31 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

“ทวี” ชำแหละงบ 66 รัฐจัดงบซ้ำซ้อน ไม่ให้ความสำคัญเรื่องสวัสดิการ ไม่มีประชาชนอยู่ในหัวใจ ปันงบให้ กทม.-งบกลาง มากกว่า 76 จังหวัด ผลักภาระให้ท้องถิ่น

31 พฤษภาคม 2565 พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ อภิปรายร่างงบประมาณปี 2566  ว่า ขอเตือนความจำนายกรัฐมนตรี ว่าจัดงบประมาณครั้งนี้เป็นครั้งที่ 10 แล้ว ตั้งแต่ปี 2557 แต่ถ้าพูดถึงการใช้เงินตั้งแต่ยึดอำนาจ ก็ใช้งบตั้งแต่ปี 56 ถึงตอนนี้ก็ 11 ปีแล้วใช้ไป 31 ล้านล้านบาท มากกว่าจีดีพีเกือบ 2 เท่า

 

ทั้งนี้ ตนตกใจทุกครั้งที่นายกฯ มาอ่านงบฯ ก็จะเหมือนๆกัน แต่สิ่งที่ตนเห็นคือตรงข้ามกับนายกฯ คือ 1.จัดงบฯไม่มีส่วนร่วมของประชาชน 2.ไม่ได้อยู่ฐานความต้องการของประชาชน 3.ไม่ให้ความสำคัญของสวัสดิการของประชาชน 4.ไม่กระจายงบฯอย่างเป็นธรรม 5.จัดงบไม่คุ้มค่า 6.จัดงบซ้ำซ้อน 7.ไม่เกิดสัมฤทธิผล หรือสัมฤทธิภาพกับประชาชน 

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญรายชื่อ เลขาธิการพรรคประชาชาติ

ทั้งหมดถือว่าจัดงบอันตราย อยุติธรรมกับประชาชน โดยพบว่าจัดเก็บรายได้ 2.49 ล้านล้านบาท แต่เอางบไปใช้เป็นรายจ่ายประจำ 2.39 ล้านล้านบาท มีส่วนต่าง 9 หมื่นล้าน ในจำนวนนี้เอาไปใช้เป็นงบบุคลากรภาครัฐ แต่ทุกปีที่ผ่านมาการประมาณว่าจัดเก็บรายได้จะขาดเป้าไปประมาณ 2 แสนล้านบาท ดังนั้นรายได้ที่จะได้ในปี 66 ก็สันนิษฐานจากข้อมูลเก่าว่าจะน้อยกว่ารายจ่ายประจำ นายกฯ เอาเงินทั้งหมดไปเป็นรายจ่ายประจำ ไม่กลับมาที่ประชาชนแม้แต่สลึงเดียว

 

ทั้งนี้เเม้จะบอกว่ามีสวัสดิการก็ตาม ถือเป็นการโอนงบไว้ที่ส่วนกลาง โดยงบพื้นที่ กทม. รวมกับงบกลาง ที่ใช้ตามอำเภอใจมีถึง 74% ส่วนงบ 76 จังหวัด อยู่ที่ 26% และ 0.1% เป็นงบต่างประเทศ ปรากฏในว่า 26% มีประมาณ 2 แสนกว่าล้านบาท เอานโยบายของนายกฯ เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ นโยบายสำคัญหลัก ผลักไปให้ท้องถิ่นจ่ายเงินแทน ซึ่งท้องถิ่นไม่สามารถทำอะไรได้ นี่คือความอยุติธรรมระดับหนึ่ง สรุปเงินประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท หรือ 74% มาอยู่ใน กทม. ซึ่งมีคนประมาณ 5 ล้านคน แต่อีก 60 ล้านคน ใน 76 จังหวัด ได้ 0.8 ล้านล้านบาทหรือ 26%

 

“ทวี”ชำแหละงบ 66 ซ้ำซ้อน ไม่ให้ความสำคัญสวัสดิการ-ท้องถิ่น

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจัดงบ 70% ไปอยู่ท้องถิ่น 30% มาอยู่ส่วนกลาง แต่ของประเทศไทยทำตรงข้าม สิ่งที่เป็นความอยุติธรรมที่จะชี้ให้เห็นคือ บำนาญของข้าราชการ นายกฯ จัดให้ กว่า 3 เเสนล้านบาท ขณะที่บำนาญประชาชนอยู่ที่ 71,000 ล้านบาท ที่มีคน  12 ล้านคน กับข้าราชการไม่ถึงล้านคน มีความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเกิดจากนายก

 

โดยรัฐธรรมนูญเขียนไว้ดี แต่นายกฯ ไปซ่อนใน พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง มาตรา 20 (2) ว่าบุคลากรของรัฐต้องมีงบประมาณและสวัสดิการอย่างเพียงพอ ถือว่าไม่มีประชาชนอยู่ในหัวใจเลย ดังนั้นจึงใช้ข้าราชการหรือคนรอบข้างไปกดทับประชาชน ซึ่งพรรคประชาชาติเห็นว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน มีวิธีเดียวก็คือต้องสิทธิ์เสมอกัน หรือสวัสดิการถ้วนหน้า จึงเสนอ พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ 3,000 บาท แต่นายกฯ ปัดตก เห็นประชาชนไม่มีค่า

 

ส่วนสวัสดิภาพเด็ก ก็จัดงบให้เพียงครึ่งเดียว ทำให้มีเด็กตกหล่นเสียโอกาสหลักล้านคน นอกจากนี้รัฐบาลยังซ่อนหนี้สาธารณะ ทั้งที่ความจริงสัดส่วนหนี้ต่อจีดีพีที่แท้จริง เกินร้อยละ 70

 

ขณะที่เรื่องการศึกษา นายกฯ ประกาศว่ารัฐธรรมนูญต้องปฏิรูปการศึกษา มีกองทุนเสมอภาคเพื่อการศึกษา แต่เคยดูหรือไม่ว่ากองทุนเอาเงินไปกว่า 6,000 ล้านบาท ไปช่วยเด็กกว่า 1 ล้านคน แต่กีดกันเด็กโรงเรียนเอกชน โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอีก 4 แสนคน ไม่มีสิทธิ์ และนายกฯ ไปแก้ พ.ร.บ.กยศ. ก่อนที่จะมีรัฐบาลใหม่ ว่าให้มีดอกเบี้ยจากเดิมเท่ากับเงินฝากธนาคารออมสิน 25 สตางค์ เป็น 7.5 บาท และมีเบี้ยปรับอีก 18% ดังนั้นงบประมาณครั้งนี้ถ้าปล่อยไปก็เหมือน 10 ปีที่ผ่านมา ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ถ้าทำใหม่สามารถทำได้ดีกว่านี้ เอาไปให้ท้องถิ่น 35% ตามที่กฎหมายมีมานานดีกว่า

logoline