svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอธีระ อัปเดต 3 โรคน่าห่วง "ฝีดาษลิง-โควิด-ปอดอักเสบ" พร้อมแนวทางป้องกัน

21 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หมอธีระ สรุปอัปเดตสถานการณ์ "ปอดอักเสบ-โควิด-ฝีดาษลิง" 3 โรคร้ายที่น่ากังวลในขณะนี้ พร้อมชี้แนวทางควรปฏิบัติเพื่อป้องกันอันตรายจากทั้ง 3 โรค

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ หรือ “หมอธีระ” คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “Thira Woratanarat” แสดงความกังวล "ปอดอักเสบ-โควิด-ฝีดาษลิง" 3 โรคร้ายที่พบอยู่ในขณะนี้ พร้อมแนะแนวทางในการป้องกัน มีรายละเอียดดังนี้..


21 พฤษภาคม 2565 ทะลุ 526 ล้านไปแล้ว เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 711,192 คน ตายเพิ่ม 1,087 คน รวมแล้วติดไปรวม 526,324,856 คน เสียชีวิตรวม 6,298,346 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีเหนือ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และเยอรมัน

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 79.11 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 70.19

 

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็นร้อยละ 61.2 ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็นร้อยละ 18.95
 

 

 สถานการณ์ระบาดของไทย 

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก และอันดับ 5 ของเอเชีย

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 10 ของโลก ถึงแม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมาจนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปก็ตาม

 

ทั้งนี้จำนวนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานคิดเป็น 19.9% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

 

 อัพเดตความรู้โควิด 3 เรื่อง 
1. เปรียบเทียบอัตราการแพร่ระบาดของ BA.4/BA.5 

รายงานจาก UK HSA ล่าสุดประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของ Omicron สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่เข้ามาระบาดในแต่ละประเทศแทนที่สายพันธุ์ BA.2 ว่ามีความรวดเร็วมากน้อยเพียงใดหากเทียบกับช่วงที่ BA.2 เข้ามาแทนที่สายพันธุ์ดั้งเดิมอย่าง BA.1

ผลการประเมินพบว่าแต่ละประเทศมีลักษณะแตกต่างกันไป โดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มที่  BA.4 และ BA.5 จะเข้าระบาดแทน BA.2 ได้เร็วมากขึ้นกว่าช่วง BA.2 เข้าแทน BA.1

 

สิ่งที่ควรทำ : ข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เราเห็นว่า พฤติกรรมการป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอเวลาใช้ชีวิตประจำวันถือเป็นเรื่องสำคัญ แม้ BA.2 ทั่วโลกจะเป็นขาลง แต่มีโอกาสระบาดขยายวงขึ้นอย่างรวดเร็วได้ หากประมาท 

 

หมอธีระ อัปเดต 3 โรคน่าห่วง "ฝีดาษลิง-โควิด-ปอดอักเสบ" พร้อมแนวทางป้องกัน

หมอธีระ อัปเดต 3 โรคน่าห่วง "ฝีดาษลิง-โควิด-ปอดอักเสบ" พร้อมแนวทางป้องกัน

 

2. ภาวะตับอักเสบรุนแรงในเด็กเล็ก

ข้อมูลจากรายงานล่าสุดของ UK HSA Technical Briefing 3 วันที่ 19 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ยังมีจำนวนผู้ป่วยเด็กเล็กที่มีภาวะตับอักเสบรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉพาะใน UK จนถึงปัจจุบันมีจำนวนเคสทั้งหมด 197 คน มีถึง 11 คนที่ต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ

 

การวิจัยยังไม่สามารถฟันธงถึงสาเหตุที่แท้จริงได้ แต่ปัจจุบันยังคงตั้งสมมติฐานหลายข้อ ทั้งในเรื่องการติดเชื้อ Adenovirus, ไวรัสโรค COVID-19, การติดเชื้อโรคอื่นๆ, การสัมผัสยาหรือสารพิษต่างๆ รวมถึงภาวะที่เป็น Long COVID (Post-infectious SARS-COV-2 syndrome)
ผลการตรวจเรื่องยาและสารพิษต่างๆ ผลออกมายังไม่พบอะไรที่น่าสงสัย

 

แนวโน้มปัจจุบันจึงมีหลายฝ่ายเชื่อในสมมติฐานว่า อาจเกี่ยวข้องกับภาวะที่เคยติดเชื้อโควิด-19 มาก่อน และมีไวรัสติดเชื้อแฝงอย่างต่อเนื่องหรือมีชิ้นส่วนของไวรัสคงค้าง ทำให้เกิดกระบวนการกระตุ้นเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันซ้ำๆ และทำให้เกิดการอักเสบของอวัยวะต่างๆ ตามมา (Superantigen-mediated immune-cell activation) โดยอาจมีการติดเชื้อไวรัสอื่นเข้ามา เช่น Adenovirus ก็อาจมีส่วนกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้ขึ้น 

 

สิ่งที่ควรทำ: ด้วยข้อมูลขณะนี้ คุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองจึงควรแนะนำลูกหลาน ฝึกทักษะที่จำเป็น เพื่อที่จะป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ ย่อมจะดีที่สุด

หมอธีระ อัปเดต 3 โรคน่าห่วง "ฝีดาษลิง-โควิด-ปอดอักเสบ" พร้อมแนวทางป้องกัน

3. ความรู้โดยย่อเกี่ยวกับฝีดาษลิง (Monkeypox)

ถูกค้นพบลิงที่ติดเชื้อครั้งแรก เมื่อปีค.ศ.1958 พบคนที่ติดเชื้อครั้งแรกในปีค.ศ. 1970 ที่ประเทศคองโก ทวีปแอฟริกา ดินแดนที่พบโรคชุกชุมคือ แถบแอฟริกาตะวันตกและแอฟริกากลาง เป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน (zoonotic disease)

 

หากคนติดเชื้อแล้ว จะแพร่ไปยังคนอื่นได้ โดยติดต่อทางละอองฝอยจากระบบทางเดินหายใจ จากการสัมผัสสิ่งคัดหลั่งหรือสัมผัสแผลของผู้ป่วย รวมถึงจากการสัมผัสสิ่งของต่างๆ ที่ปนเปื้อนสิ่งคัดหลั่งจากผู้ป่วย เป็นโรคที่มีระยะฟักตัวนาน (ช่วงเวลาตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงวันที่เกิดอาการป่วย) ราว 5-21 วัน ไวรัสประเภท poxvirus นี้มีโอกาสน้อยที่จะแพร่ในช่วงที่ไม่มีอาการ

 

หากติดเชื้อฝีดาษลิงจนเกิดอาการป่วย ระยะเวลาที่เจ็บป่วยเฉลี่ย 2-4 สัปดาห์ โดยในช่วง 5 วันแรกหลังเริ่มเกิดอาการ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามตัว ต่อมน้ำเหลืองโต ทั้งนี้จะปรากฏตุ่ม (vesicles) กระจายตามผิวหนังตั้งแต่ช่วง 1-3 วันที่เริ่มมีไข้อัตราการเสียชีวิตเฉลี่ย 1-10% ขึ้นกับสายพันธุ์ของไวรัส

 

การฉีดวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษ (smallpox vaccine) ภายในระยะเวลา 3 ปี จะป้องกันไวรัสฝีดาษลิงได้โดยมีประสิทธิภาพราว 85%

 

ยารักษานั้นยังไม่มีใช้อย่างแพร่หลาย ทั้งนี้มีการวิจัยแล้วพบว่ายาต้านไวรัสชนิด ST-246 (tercovirimat) สามารถใช้รักษาโรคฝีดาษ และฝีดาษลิงได้

 

วิธีป้องกันที่พิสูจน์แล้วว่าได้ผลจริงคือ การใส่หน้ากาก และการทำให้สถานที่ต่างๆ มีการถ่ายเท ระบายอากาศได้ดี

 

สรุปสิ่งที่ควรทำ: แม้ตอนนี้ฝีดาษลิงระบาดในหลายประเทศ คนไทยควรติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวัง และทางที่เราทำได้เอง และได้ผลดีในการป้องกันทั้งฝีดาษลิงและโควิด-19 คือ การใส่หน้ากาก และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัดระบายอากาศไม่ดี 

อ้างอิง: UKHSA, YLE, Topol E.

 

หมอธีระ อัปเดต 3 โรคน่าห่วง "ฝีดาษลิง-โควิด-ปอดอักเสบ" พร้อมแนวทางป้องกัน

 


 

logoline