svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ทำความรู้จัก "อัลไซเมอร์" หมอกรมสุขภาพจิตแนะ ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

12 พฤษภาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

โฆษกกรมสุขภาพจิต เผย โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อม ต้องได้รับการดูแลใกล้ชิด เผยผู้สูงอายุบางคนเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตร่วมด้วย บางคนมีอาการพูดจา หรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ดี หรือไปลวนลามคนอื่น ชี้เกิดจากสมองส่วนหน้าที่ได้รับผลกระทบ

12 พฤษภาคม 2565 นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า โรคอัลไซเมอร์ เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคสมองเสื่อม ผู้สูงอายุบางคนสามารถเกิดปัญหาด้านสุขภาพจิตร่วมด้วยได้ โดยแต่ละบุคคลจะเกิดอาการมากหรือน้อยไม่เท่ากัน บางคนเกิดอาการหนัก บางคนอาการไม่รุนแรงนัก 

 

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทั้งปัจจัยทางกาย เช่น สมองเคยถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง หรือเคยมีการผ่าตัดสมองมาก่อน ปัจจัยทางจิต เช่น การเจ็บป่วยด้วยโรคทางจิตเวชบางชนิด เช่น โรคจิตเพศ 

 

นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคนในครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อมต่างๆ ที่อาจเกิดการกระตุ้นทำให้สมองเสื่อมได้ ซึ่งโรคดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ส่วนช่วงอายุมีตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป หรือ 60 ปีขึ้นไป หรือแม้กระทั่งบางคนเกิดจากกรรมพันธุ์ที่คนในบ้านหรือคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้มาก่อน ซึ่งทำให้โอกาสเกิดขึ้นค่อนข้างสูง แต่ก็อาจจะไม่ได้เกิดขึ้นกับทุกคน

 

นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต

ทั้งนี้โรคอัลไซเมอร์ ไม่สามารถแบ่งระดับอาการรุนแรงของโรคได้ บางคนสมองเสื่อมถอยได้อย่างรวดเร็วภายในไม่กี่ปี แต่บางคนอาจจะใช้เวลานานขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ สำหรับผู้ที่สมองเสื่อมถอยอย่างรวดเร็วมักจะเกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา ทั้งปัญหาทางกายและปัญหาทางจิต

 

โรคอัลไซเมอร์ หรือความจำเสื่อมมีหลายรูปแบบ ทั้งความจำระยะสั้น ความจำระยะกลาง และความจำระยะยาว 

 

อย่างเช่น ถ้าความจำระยะสั้น เมื่อกี้รับประทานอาหารไปแล้ว แต่จำไม่ได้ว่ารับประทานไปหรือยัง หรือแม้กระทั่งทำกิจวัตรประจำวันไปแล้ว แต่จำไม่ได้ว่าทำอะไรไปแล้วบ้าง

 

ส่วนความจำระยะยาว เช่น เรื่องในอดีตสมัยก่อน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าความจำเสื่อมไปกระทบต่อสมองส่วนไหน ถ้าไปกระทบต่อสมองส่วนความจำระยะสั้น ความจำระยะยาวก็ยังปกติอยู่ แต่ถ้าไปกระทบความจำระยะยาวก็อาจจะลืมไปว่าครอบครัวเขาเป็นใคร จำลูก จำภรรยา ไม่ได้ ตามที่เคยเป็นข่าวก่อนหน้านี้ 

 

ดังนั้นคนที่ป่วยเป็นโรคนี้จะไม่สามารถดูได้จากภายนอกได้อย่างเดียว แต่ต้องมีการทดสอบสมอง ถึงจะบอกได้ชัดเจนว่าสมองมีความบกพร่องที่สมองเสื่อมส่วนไหน

 

ทำความรู้จัก \"อัลไซเมอร์\" หมอกรมสุขภาพจิตแนะ ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

นพ.วรตม์ ยังอธิบายว่า บางคนที่เป็นโรคสมองเสื่อมแล้วอาจจะพูดจาไม่ดี หรือกระทำการใดๆ ที่ไม่ดี หรือไปลวนลามคนอื่น ก็เกิดจากสมองบางส่วน เช่น สมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เป็นเบรก การยับยั้งชั่งใจ ถ้าสมองที่เสื่อมเกิดปัญหาสมองส่วนหน้าค่อนข้างมาก ก็อาจทำให้ผู้สูงอายุบางคน พูดหรือกระทำอะไรโดยไม่นึกถึงผลกระทบที่จะตามมา หรือเกิดการขาดสติ แต่ทั้งนี้ต้องไปดูในรายละเอียดในสิ่งที่กระทำลงไปว่าเกี่ยวข้องกับสภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ และต้องอาศัยการสืบประวัติหาข้อมูลต่อไป

 

นอกจากนี้โฆษกกรมสุขภาพจิต ยังบอกถึงแนวทางการป้องกันโรคอัลไซเมอร์ว่า การป้องกันมีทั้งทางกาย คือการดูแลสุขภาพจิตที่ดี ไม่ทำให้เกิดความเครียด และทำให้ตัวเองมีความสุขตลอด มีการทำกิจกรรมที่ใช้สมองอย่างสม่ำเสมอ โอกาสที่ความจำสมองเสื่อมจะลดน้อยถอยลงไปด้วย เพราะสมองยังถูกทดสอบอยู่ตลอดเวลา

 

ขณะเดียวกันเมื่อเกิดโรคนี้ขึ้นแล้ว จะทำอย่างไรให้สมองเสื่อมถอยน้อยลง คือ ถ้าเมื่อรู้ตัวเองว่าน่าจะเป็นโรคนี้ห้ามเพิกเฉย ให้เข้าไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ, แพทย์ด้านอายุรกรรม, แพทย์ด้านสมอง หรือถ้ามีปัญหาด้านสุขภาพจิตก็ไปพบจิตแพทย์ร่วมด้วย เพื่อช่วยประคับประคอง เพราะปัจจุบันมียาที่ช่วยลดสมองเสื่อมที่สามารถรักษาได้

 

ทำความรู้จัก \"อัลไซเมอร์\" หมอกรมสุขภาพจิตแนะ ต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

 

ขณะที่ เว็บไซต์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้ระบุถึง โรคอัลไซเมอร์เป็นภัยเงียบของผู้สูงวัย ซึ่งเกิดภาวะสมองเสื่อมชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด มักเป็นในผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป เกิดการเสื่อมถอยในการทำงานของสมองจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดอาการต่าง ๆ เช่น หลงลืม หาของไม่เจอ หลงทางในที่คุ้นเคย เป็นต้น

 

ทั้งนี้อาการโรคอัลไซเมอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

  • ก่อนเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม มีอาการเริ่มต้นที่เรียกว่า ภาวะการรู้คิดบกพร่องเล็กน้อย มักหลงลืมหรือมีปัญหาเรื่องความจำที่เห็นชัดเจน แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการทำกิจวัตรประจำวัน
  • เมื่อเข้าสู่ภาวะสมองเสื่อม มีอาการเสื่อมถอยของการรับรู้มากขึ้น อาจมีอาการทางจิต และปัญหาพฤติกรรมด้วย มีความบกพร่องในการทำกิจวัตรประจำวัน จนทำให้ต้องพึ่งพิงผู้ดูแล
  • ระยะอาการรุนแรง มีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น กลั้นปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้ มีปัญหาการก้าวเดิน การกลืน และนอนติดเตียง จำเป็นต้องมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด ในระยะนี้ผู้ป่วยอาจจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อน

 

ดังนั้น หากสังเกตเห็นอาการหรือความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุในบ้าน ควรรีบพามาพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัย รับการรักษา และการดูแลที่เหมาะสมทัน

logoline