svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ทุกพรรคแต่งตัวสู้ศึกเลือกตั้ง - ปชป.พังศึกใน

25 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันหยุดที่ผ่านมา หลายพรรคการเมืองต่างจัดประชุมใหญ่สามัญ แม้จะเป็นไปตามเงื่อนของกฎหมายพรรค แต่บรรยากาศรวมถึงคำประกาศของแต่ละพรรค สะท้อนชัดว่า ทุกพรรคเตรียมพร้อมเลือกตั้ง เพราะอย่างช้าที่สุดไม่ถึง 1 ปี รัฐบาลชุดนี้ก็จะหมดวาระ คือ 23 มี.ค. 2566 

แน่นอนว่าทุกพรรคประมาทไม่ได้ ซึ่งจากการประเมินแนวโน้มทางการเมืองของหลายๆ ฝ่าย ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจเผชิญอุบัติเหตุไปต่อไม่ได้ และอาจต้องยุบสภาก่อนครบวาระ โดยจังหวะเวลาที่ยุบได้เร็วสุด คือ ช่วงเดือนพ.ค. ซึ่งก็คือเดือนหน้านี้แล้ว 

 

สาเหตุที่รัฐบาลถูกกดดันอย่างหนัก ก็เพราะมีปัจจัยรุมเร้ารอบด้าน ได้แก่ 

 

1.การเปิดประชุมสภา สมัยสามัญครั้งที่ 1 ประจำปี 2565 วันที่ 22 พ.ค. ซึ่งจะมีวาระการประชุม และกฎหมายสำคัญเข้าสู่การพิจารณาหลายเรื่อง ซึ่งแต่ละเรื่อง รัฐบาลแพ้ไม่ได้ 

 

-ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เป็นกฎหมายการเงินที่สำคัญ ถ้ารัฐบาลแพ้โหวต แม้แต่ในชั้นรับหลักการ ซึ่งนัดประชุมกันวันที่ 2 มิ.ย.นี้ ก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก โดยเสียงที่ใช้คว่ำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ใช้เพียงเสียงข้างมากเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของ ส.ส.ที่มีอยู่ คือ 238 เสียง 

 

-ร่างกฎหมายการเงินอื่นๆ ที่อาจมีเข้าสู่วาระการพิจารณา เช่น กฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพิ่มเติมเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ 

 

-การยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ หรือ "ศึกซักฟอก" ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 151 ซึ่งเมื่อฝ่ายค้านยื่นญัตติแล้ว นายกรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจยุบสภา ทำให้อำนาจต่อรองทางการเมืองของนายกฯ ลดลง และจะถูกกดดันจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง คาดกันว่าจะมีการซื้อตัว ส.ส.กันอย่างมโหฬาร ทั้งเพื่อโหวตคว่ำ และโหวตสนับสนุนรัฐบาล 

2.ร่างแก้ไขกฎหมายลูกเลือกตั้ง 2 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับ "กติกาบัตร 2 ใบ" จะถูกส่งเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา โดยขณะนี้มีความเห็นแย้งกันในหมู่พรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง เกี่ยวกับประเด็น "ส.ส.พึงมี" และ สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในพรรคร่วมรัฐบาลตามมา คือ ประชาธิปัตย์ กับภูมิใจไทย และ พลังประชารัฐ 

 

3.การยื่นตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าครบ 8 ปี ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคท้ายแล้วหรือไม่ ซึ่งหากนับเวลาการดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งแต่หลังยึดอำนาจเมื่อปี 57 จะครบ 8 ปีในเดือนส.ค.ที่จะถึงนี้ 

 

4.วิกฤติเศรษฐกิจที่เป็นผลกระทบจากสงครามรัสเซียกับยูเครน การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจโลก และผลพวงจากโควิด-19 

 

ทั้งหมดนี้ทำให้"กูรูการเมือง" ประเมินกันว่า มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่นายกรัฐมนตรีอาจตัดสินใจ "ยุบสภาก่อนเปิดสภา" เพราะหากปล่อยให้เปิดสภา แล้วถูกฝ่ายค้านยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ก็จะทำให้นายกฯเหมือนเดินสู่ "ลานประหาร" ไม่มีอำนาจต่อรองเหลืออยู่ เนื่องจากยุบสภาไม่ได้ 

 

จากสภาพการเมืองที่เกิดขึ้น จึงไม่แปลกที่ทุกพรรคการเมืองต้องเร่งเตรียมพร้อมรับการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และตัวเร่งที่ทำให้เกิดข่าวลือ "รัฐบาลอยู่อีกไม่นาน" ก็คือ การตัดสินใจไม่ส่งผู้สมัครชิงเก้าอี้ ส.ส.ราชบุรี เขต 3 ของพรรคพลังประชารัฐ แทน "เอ๋" ปารีณา ไกรคุปต์ ทั้งๆ ที่เป็นที่นั่งเดิมของพรรคตัวเอง

 

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพลังประชารัฐ​ เคยเปรยกับคนใกล้ชิดมาตั้งแต่ก่อนหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์แล้วว่า พรรคจะไม่ส่งผู้สมัคร เพราะ "ไม่คุ้ม เหลือเวลาอีกไม่มากแล้ว" 

 

เมื่อข่าวนี้เล็ดลอดออกมา ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า รัฐบาลอาจอยู่ไม่ครบวาระ และอาจยุบสภาในเร็ววันนี้ ยิ่งมีข่าวลือเรื่อง "ดีลลับ" ช่วงที่ พล.อ.ประวิตร พักผ่อนยาว พร้อมลาประชุม ครม. เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ว่าอาจบินไปพบ "ใครบางคน" ที่อังกฤษ ยิ่งทำให้ข่าวกระพือแรงขึ้น และสุดท้ายพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่ส่งผู้สมัครที่ราชบุรี เขต 3 จริงๆ แม้จะอ้างเหตุผลอื่นก็ตาม 

 

สำหรับพรรคการเมืองที่ประกาศเตรียมความพร้อมแบบสุดๆ ไม่นับพรรคเพื่อไทยที่ตอกย้ำ "ชนะแบบแลนด์สไลด์" จะเห็นได้ว่าส่วนใหญ่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเอง ได้แก่ 

 

-พรรคชาติไทยพัฒนา หัวหน้าพรรค กัญจนา ศิลปอาชา ประกาศไม่ยุบรวมกับพรรคใด และตั้งเป้าเลือกตั้งครั้งหน้ากวาด ส.ส.เกิน 25 ที่นั่ง 

 

แต่ข้อมูลที่ "เนชั่นทีวี" ได้มาจาก วราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์ของพรรค มีการตั้งเป้า ส.ส.เอาไว้ที่ 40-50 ที่นั่ง โดยมียุทธศาสตร์ “ชาติไทยคืนถิ่น” ดึง ส.ส.บ้านใหญ่จากพื้นที่ต่างๆ ที่เคยสังกัดพรรคชาติไทยในยุครุ่งเรือง แล้วแยกย้ายกันไป ให้กลับมาสร้างบ้านหลังนี้ด้วยกัน 
 

ที่สำคัญพรรคได้นายทุนใหม่ระดับ "เจ้าสัว" ซึ่งเชื่อมั่นในศักยภาพของพรรค และของ "ท็อป วราวุธ" ว่าสามารถเป็นนายกฯได้ จึงให้การสนับสนุนเต็มที่ ฉะนั้นทุกพรรคมองข้ามพรรคชาติไทยพัฒนาไม่ได้เลย 

 

อีกหนึ่งพรรคร่วมรัฐบาลที่โชว์ความพร้อมแบบสุดๆ ก็คือ พรรคภูมิใจไทย ซึ่งการประชุมใหญ่ครั้งที่ผ่านมา ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพรรค เพราะมั่นใจว่าคณะผู้บริหารชุดนี้จะนำพาพรรคไปสู่เส้นชัยได้ 

 

เป้าหมายที่พรรคภูมิใจไทยตั้งไว้ คือ "พรรคหลักร้อย" ไม่ใช่ "พรรคหลักสิบ" หรือ "พรรคครึ่งร้อย" อีกต่อไป โดยจุดแข็งของพรรคภูมิใจไทย คือ ดูแล ส.ส. รวมทั้งอดีต ส.ส.ที่สอบตก อย่างทั่วถึง ไม่ทอดทิ้ง มีตำแหน่ง มีงานให้ทำทุกคน แถมยังมีดูแลรายเดือน และมีโบนัสประจำปีด้วย

 

จากจุดแข็งของพรรค ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ และมีแนวโน้มอยู่ฝ่ายรัฐบาลหลังการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทำให้พรรคภูมิใจไทยเป็นเป้าหมายของ ส.ส. และนักเลือกตั้งจำนวนมาก ทำให้จำนวน ส.ส.พุ่งขึ้นจาก 51 คนเมื่อช่วงเลือกตั้งปี 62 ซึ่งปัจจุบันพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส.ถึง 65 คน เรียกว่ามีแต่ "เลือดไหลเข้า" ที่สำคัญคือไม่มีความแตกแยกภายใน ทำให้พรรคมีเอกภาพ พร้อมสู้ศึกทุกสนาม และยังมีผู้นำพรรคตัวจริงที่เป็น "เซียนการเมือง - คนโตแห่งบุรีรัมย์" อยู่เบื้องหลังคอยวางเกมให้ด้วย 

 

ความเสี่ยงของพรรคภูมิใจไทยมีอยู่ 2 ข้อเท่านั้น คือ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรอบหน้า ที่พรรคฝ่ายค้านจองกฐินประเด็น "ที่ดินเขากระโดง รอบ 3" เอาไว้แล้ว กับนโยบาย "กัญชาเสรี" ที่กำลังถูกโจมตีว่า "เสรีจริงหรือไม่" ทั้งยังกระทบกับฐานเสียงในบางพื้นที่ เช่น สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ยังคงมองว่า กัญชาเป็นยาเสพติดด้วย 

 

พรรคร่วมรัฐบาลอีกพรรคหนึ่งที่เขย่าแรง ก็คือ พรรครวมพลังประชาชาติไทย ไม่ใช่แค่เตรียมพร้อมโครงสร้างกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่เท่านั้น แต่ยังเปลี่ยนชื่อพรรค และโลโก้พรรคใหม่ เป็น "พรรครวมพลัง" ด้วย โดยอ้างเหตุผลว่า เพื่อให้ประชาชนจำง่าย 

 

มีข่าวว่า การปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ของ "พรรครวมพลัง" เป็น "แผน B" ของ "ลุงกำนัน" สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ร่วมก่อตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทย ที่เตรียมเอาไว้รองรับสถานการณ์ที่พรรครวมไทยสร้างชาติไปต่อไม่ได้ การก่อกำเนิดของพรรครวมไทยสร้างชาติ ถือเป็น "แผน A" ที่ใช้รองรับอนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่แสดงเจตนาชัดเจนว่าจะสู้ต่อ เพื่อสานฝันเป็นนายกฯสมัยที่ 3 

 

แต่ด้วยปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐที่ภาพลักษณ์ตกต่ำ และภาพความปริร้าวของ "แกนนำ 3ป." ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีส่วนในการบริหารจัดการพรรคพลังประชารัฐ ทำให้นายกฯอยู่ในภาวะ "ขาลอย" จึงต้องมีฐานการเมืองรองรับ ซึ่งก็คือการตั้งพรรคใหม่ที่ชื่อว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ โดยชื่อพรรคนี้มาจากวลีที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยพูดปลุกใจคนไทยให้สู้ภัยโควิด

 

และเมื่อกติกาการเลือกตั้งเปลี่ยนเป็น "บัตร 2 ใบ" ทำให้การมีพรรคเล็กๆ จำนวนมากไม่สำคัญอีกต่อไป จึงมีการเตรียมแผนควบรวมพรรคเล็กที่สนับสนุน "ลุงตู่" ให้มาอยู่รวมกันภายใต้ร่มพรรครวมไทยสร้างชาติ 

 

ทว่า พรรครวมไทยสร้างชาติที่มี ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์ หรือ "แรมโบ้อีสาน" อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และมีบทบาทสำคัญ เกิดภาวะชะงักงัน และชื่อเสียงเสียหายอย่างรุนแรงจากกรณี “คลิปหวยแรมโบ้” จนเรียกได้ว่า พรรครวมไทยสร้างชาติ "สะดุดหวย" จึงต้องงัด "แผน B" ออกมาใช้ โดยนำ "พรรครวมพลัง" เป็นพรรคหลักแทน ส่วนการควบรวมพรรคเล็ก และอดีต ส.ส.จากพรรคต่างๆ มาอยู่ใต้ร่มเดียวกัน ยังคงเหมือนเดิม 

 

หลังจากนี้ต้องดูจังหวะก้าวต่อไปของ "พรรครวมพลัง" ว่าจะมีเซอร์ไพรส์สำหรับกรุยทางให้ “นายกฯลุงตู่” กันบ้าง 

 

ปิดท้ายที่พรรคร่วมรัฐบาลอันดับ 2 อย่างพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากเจอ "ปริญญ์เอฟเฟค" ทำให้เป๋ไปพอสมควร ปรากฏว่าการประชุมใหญ่เมื่อวันเสาร์ที่ 23 เม.ย. เหมือนจะเคลียร์ใจกันจบ แต่จริงๆ แล้วไม่จบ แถมปะทุรุนแรงขึ้น  

 

ล่าสุดยังมีความเคลื่อนไหวออกมาอย่างน้อยๆ 3 ทาง คือ 

 

1.ใช้แฟนคลับพรรคประชาธิปัตย์ และอดีต ส.ส.กลุ่มที่สนับสนุน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรค และอดีตนายกฯ ออกมาขย่มผ่านโซเชียลมีเดีย ซึ่งถือเป็นการสร้างกระแสกดดันจากนอกพรรค 

 

2.ใช้ ส.ส.ของพรรคสายที่สนับสนุนอภิสิทธิ์ เคลื่อนไหวภายในพรรคเพื่อเรียกร้องกดดันให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ แสดงความรับผิดชอบมากกว่าที่เป็นอยู่ คือ ต้องลาออก 

 

3.กดดันให้ตรวจสอบคนสนิทของจุรินทร์ คือ มัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่โพสต์ข้อความในไลน์ แฉปมชู้สาวภายในพรรค จนไลน์หลุด ทำให้พรรคเสียหาย โดยการกดดันให้ตรวจสอบเรื่องนี้ในแง่ "ตัวบุคคล" ไม่ใช่สอบแค่ว่าไลน์หลุดได้อย่างไร ก็เพื่อให้กระทบชิ่งถึงจุรินทร์ เนื่องจากมัลลิกา เป็นคนสนิทของจุรินทร์ 

 

"ศึกใน" ของพรรคประชาธิปัตย์จึงไม่จบง่าย และยังขย่มกันอีกหลายยก ท่ามกลางกระแส “เลือดไหลออกไม่หยุด” จึงถือว่าพรรคประชาธิปัตย์เจอ "เคราะห์ซ้ำกรรมซัด" แทนที่จะฉวยจังหวะชิงความได้เปรียบทางการเมือง ในช่วงที่พรรคอื่นมีปัญหา แต่กลายเป็นว่าตัวเองมีปัญหาเสียเอง และหนักกว่าทุกพรรคการเมือง

logoline