svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

“กรมอุตุฯ” แจงไม่ได้แจ้งข่าวจับตา “พายุชบาจ่อเข้าไทย”

24 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"กรมอุตุนิยมวิทยา" แจงข่าวลือจับตา "พายุชบา" ว่าที่พายุลูกใหม่จ่อเข้าไทย ชี้เป็นข้อความที่มาจากบุคคลที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยคนให้ข้อมูลไม่มีหน้าที่เตือนภัยโดยตรง

วันนี้ (24 เม.ย.65) กรมอุตุนิยมวิทยา ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ตามที่มีการเผยแพร่ภาพและข้อความปรากฏผ่านสื่อสังคมออนไลน์ “จับตา “ชบา” ว่าที่พายุลูกใหม่ จ่อเข้าไทย โดยระบุว่าที่พายุ ‘ชบา’ จากแบบจำลอง NAVGEM ล่าสุด จ่อเข้าเวียดนามตอนกลาง และมีแนวโน้มจะเคลื่อนผ่าน จังหวัดอุบลราชธานี ในลักษณะ พายุดีเปรสชัน ในช่วงวันที่ 30 เมษายน ” นั้น

 

 

“กรมอุตุฯ” แจงไม่ได้แจ้งข่าวจับตา “พายุชบาจ่อเข้าไทย”

 

 

กรมอุตุนิยมวิทยาขอชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวมิได้ มีที่มาจากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา และเป็นข้อความที่มาจากบุคคลที่ไม่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือหน่วยงานที่แจ้งเตือนภัยธรรมชาติโดยตรง และเป็นข้อความที่อาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ซึ่งข้อมูลนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ถ้าหากพิจารณาจากข้อมูลแบบจำลองบรรยากาศเพียงแบบจำลองเดียวอาจไม่เพียงพอ จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลอื่นๆ ร่วมด้วยจากการติดตามและการคาดการณ์สภาวะอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา คาดว่าในช่วงวันที่ 29 เม.ย.- 3 พ.ค.65 ประเทศไทยจะมีฝนฟ้าคะนองเพิ่มขึ้นจากอิทธิพลของลมตะวันออก ลมตะวันออกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุม

 

“กรมอุตุฯ” แจงไม่ได้แจ้งข่าวจับตา “พายุชบาจ่อเข้าไทย”

และอาจจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำก่อตัว[บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลางได้  แต่ในช่วงวันเวลาดังกล่าวยังมีความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนจะแผ่ลงปกคลุมบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน อากาศเย็นและแห้งเป็นอุปสรรคต่อทิศทางและการก่อตัว  หรือหากหย่อมความกดอากาศต่ำนี้ทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุ  ตามสถิติส่วนใหญ่พายุนี้จะเคลื่อนตัวกลับไปทางทิศเหนือ หรือตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน หรืออาจจะอ่อนกำลังลงและสลายตัวก่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามได้  อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามข่าวพยากรณ์อากาศเป็นระยะๆ 

 

เนื่องจากขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนผ่านฤดูกาลก่อนเข้าสู่ฤดูฝน   ทิศทางลมมีหลายกระแสและแปรปรวน สำหรับการตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อน ได้กำหนดตามตารางที่จัดเรียงไว้แล้ว ตามข้อตกลงที่กรมอุตุนิยมวิทยา RSMC โตเกียว และ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ได้เผยแพร่และปรากฎบนเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา https://www.tmd.go.th/info/TCNamelist_2021.pdf ซึ่งการเรียกขานชื่อพายุที่เกิดขึ้นในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกและทะเลจีนใต้ จะขึ้นอยู่กับว่าพายุลูกใดที่เกิดขึ้นก่อน จะได้ชื่อเรียงตามลำดับในตารางดังที่ปรากฎ        

 

ขอให้ติดตามข่าวสาร ประกาศแจ้งเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยาหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมายเท่านั้น หากมีสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม  เกี่ยวกับการพยากรณ์อากาศและประกาศเตือนภัยสภาพอากาศ สามารถสอบถามข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา :https://www.tmd.go.th, Facebook กรมอุตุนิยมวิทยา Application Thai weather สายด่วน 1182 (ตลอด 24 ชั่วโมง)

logoline