svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ฝ่ายต้านเผด็จการเมียนมาใช้ยุทธศาสตร์ "เงินแลกภักดี"

21 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

รัฐบาลเงาและฝ่ายต่อต้านเผด็จการทหารในเมียนมา ปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้กับรัฐบาลทหาร โดยเสนอเงินรางวัลสูงสุดถึง 17 ล้านบาทให้ทหารที่ยอมแปรพักตร์ และนำยุทโธปกรณ์ เช่น เครื่องบินรบและรถถัง มาแลก

รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government) หรือ NUG ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาที่จัดตั้งขึ้นโดยฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา ได้ปรับยุทธศาสตร์การต่อสู้ ที่ถือ ที่ถือเป็นการทดสอบความภักดีของทหารระดับล่าง ต่อผู้บังคับบัญชาของพวกเขาด้วย คือ "เงินสดแลกยุทโธปกรณ์" ด้วยการตั้งเงินรางวัล 300,000 ดอลลาร์ (10 ล้านบาท) ให้ทหารที่สามารถนำยานพาหนะทางทหาร, เครื่องบินรบและเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศมาแลก แต่จะเพิ่มเป็น 500,000 ดอลลาร์ (เกือบ 17 ล้านบาท) สำหรับทหารที่แปรพักตร์ด้วยและนำยุทโธปกรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งมาด้วย 


ไนง์ ฮตู อ่อง ปลัดกระทรวงกลาโหมของ NUG แถลงเมื่อต้นเดือนว่า โครงการให้รางวัลนี้มีเป้าหมายเพื่อเป็น "หลักประกันในชีวิต" ของทหารที่แปรพักตร์ หลังจากรู้ว่า มีทหารจำนวนมากต้องการทิ้งหน่วยของพวกเขาไปเข้ากับกองทัพประชาชน และบอกด้วยว่า ที่ต้องการให้ทำลายยานพาหนะทางทหาร ก็เพราะพวกมันถูกใช้โจมตีประชาชน และหวังว่า ประกาศที่ออกไปจะกระตุ้นให้ทหารเหล่านี้ กล้าแปรพักตร์และตัวเลขก็น่าจะเพิ่มขึ้นทุกวันด้วย 

 

นายทหารที่เข้าร่วมกับขบวนการอารยะขัดขืน (Disobedience Movement) หรือ CDM
เปิดเผยว่า ทหารชั้นผู้น้อย ชั้นประทวนหรือแม้กระทั้งชั้นสัญญาบัตร ก็น่าจะอยากคว้าโอกาสนี้ไว้ แม้จะรู้ดีว่ามันยากในการนำยานพาหนะหนีออกมาโดยไม่บุบสลาย และถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการนำเครื่องบินทหารหรือเครื่องบินรบไปยังพื้นที่อื่น โดยยกตัวอย่างเครื่องบินรบว่า จำเป็นต้องมีลานบินพิเศษในการลงจอด, เฮลิคอปเตอร์ก็มีขีดจำกัดในเรื่องพิสัยการบิน ขึ้นอยู่กับศักยภาพของรุ่น หรือแม้กระทั่งรถถังก็ยากที่จะเอาไปวิ่งในระยะทางไกลๆ ความหวังที่จะเป็นจริงได้ คือการทำลายทิ้ง และรางวัลจะได้ก็ต่อเมื่อมีหลักฐานการทำลายหรือการแปรพักตร์มาแสดง

 

ฝ่ายต้านเผด็จการเมียนมาใช้ยุทธศาสตร์ "เงินแลกภักดี"

 

 

NUG ทหารทุกคนมีโอกาสได้รับเงิน 100,000 ดอลลาร์ (3 ล้าน 3 แสนบาท) แลกกับการทำลายถังเชื้อเพลิงของเครื่องบินรบ โรงงานอาวุธ หรือคลังเก็บพัสดุ แต่แม้จะดูน่าสนใจ แต่ เส่ง ตุน อู อดีตนายทหารและผู้อำนวยการหน่วยงานวิจัยที่สนับสนุนกองทัพ แห่งสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาเตนีนกา (Thayninga Institute for Strategic Studies) ในย่างกุ้ง  ได้เรียกข้อเสนอนี้ว่า "ไม่จริงและเป็นไปไม่ได้" เพราะมีมาตรการหลายอย่างที่ทำให้ยากต่อการขโมยยานพาหนะทางทหาร แม้แต่ทำลายก็ทำไม่ได้ เพราะมีลำดับชั้นของการบัญชาการที่คอยเฝ้าระวังทหารในแต่ละหน่วยด้วย 

 

เส่ง ตุน อู บอกด้วยว่า พูดตรงๆ ก็คือ ประกาศเป็นแค่การโฆษณาชวนเชื่อ เมื่อฝ่ายต่อต้านจับอาวุธขึ้นต่อสู้ พวกเขาก็จะทำทุกอย่างเพื่อเอาชนะศัตรู ไม่ว่าจะถูกหรือผิด ส่วนกลยุทธ์ที่เอามาใช้ จะได้ผลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ NUG ก็อ้างว่า รางวัลที่เสนอจะทำให้ทหารจากทุกระดับหันมาตั้งคำถามถึงความภักดีที่มีต่อรัฐบาลเผด็จการ โดยเฉพาะในกลุ่มที่คุมยานพาหนะ และอาจจะเกิดความหวาดระแวงไม่ไว้ใจกันด้วย และเชื่อด้วยว่า กองทัพกำลังเผชิญวิกฤตด้านมโนธรรมและสูญเสียความภักดีจากสมาชิกข้างใน ยิ่งมีประกาศนี้ออกมาก็เชื่อว่า พวกนายทหารระดับสูงจะยิ่งเข้มงวดและเคร่งครัดกับบทลงโทษกันมากขึ้น 

 


 

กลุ่ม "People's Embrace" ศูนย์รวมของอดีตทหารที่เข้าร่วม CDM อ้างว่า มีทหารที่แปรพักตร์มาเข้าร่วมเกือบ 3,000 นาย ตั้งแต่เกิดรัฐประหารวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว บอกว่า การสูญเสียกองกำลังภาคพื้นดินหลายพันนาย จากการปะทะกับฝ่ายต่อต้าน ทำให้ต้องพึ่งพากองกำลังทางอากาศมากขึ้น จากข้อมูลของ World Air Forces พบว่ากองทัพอากาศเมียนมา มีเครื่องบินที่ยังใช้การได้อยู่ 275 ลำ

 

ส่วนเรื่องการทำลายเครื่องบินรบ อดีตทหารคนหนึ่งบอกว่า วิธีง่ายๆ เลย คือ การกรอกทรายเข้าไปในเครื่องยนต์ ที่จะทำให้เครื่องบินรบตกระหว่างอยู่บนอากาศ และยังมีวิธีอื่นๆ อีก แต่อยากให้ทหารยอมยกธงขาวพร้อมกับยานพาหนะที่สำคัญมากกว่า เขายังเชื่อด้วยว่า เรื่องนี้จะสร้างความสั่นคลอนให้กองทัพไปถึงระดับรากฐานเลยทีเดียว 

 

ส่วนคำถามที่ว่า NUG เอาเงินรางวัลมาจากไหน เมื่อเดือนกันยายน ปี 2564 ได้มีการประกาศแผนงบประมาณมากกว่า 700 ล้านดอลลาร์ (23,600 ล้านบาท) โดยเป็นรายได้จากการระดมทุน เงินบริจาค สลากกินแบ่ง พันธบัตร และเงินช่วยเหลือจากเศรษฐีชาวเมียนมาในต่างประเทศ

 


 

logoline