svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

บทลงโทษ"ขืนใจ-อนาจาร"...ยอมความไม่ได้?

16 เมษายน 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นักการเมืองที่ถือว่า "งานเข้า" มากที่สุดในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือ“ปีใหม่ไทย”นี้ คงหนีไม่พ้น "ปริญญ์ พานิชภักดิ์" ซึ่งถูกกล่าวหาในเรื่องอ่อนไหวเกี่ยวกับการลวนลามหญิงสาว 

สถานการณ์หลังถูกกล่าวหาก็คือ 

 

-"ปริญญ์"เปิดแถลงทันทีที่พรรคประชาธิปัตย์ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ยืนยันว่าไม่มีการกระทำตามที่กล่าวหาเกิดขึ้นจริง 

 

-"ปริญญ์​"ขอลาออกจากทุกตำแหน่งในพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแสดงความรับผิดชอบ เพื่อไม่ให้กระทบพรรค และเพื่อเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

 

บทลงโทษ"ขืนใจ-อนาจาร"...ยอมความไม่ได้?

 

-"ปริญญ์"เปิดข้อมูลหลักฐานในส่วนของตนเล็กน้อย เพื่อยืนยันว่าไม่ได้มีเรื่องที่ถูกกล่าวหาเกิดขึ้น เช่น นัดพบเวลา 5 โมงเย็น นัดที่ร้านอาหาร ซึ่งมีคนแน่นร้าน 

 

ข้อเท็จจริงจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องพิสูจน์กันต่อไป เพราะกระบวนการยุติธรรมถือว่านับ 1 แล้ว แต่นาทีนี้ "ปริญญ์" ยังเป็นเพียง "ผู้ถูกกล่าวหา" ยังไม่ใช่ "ผู้ต้องหา" เพราะตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งยังสามารถพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ทั้งในชั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล 

 

ประเด็นที่กลายเป็นปัญหาใหม่ และนำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางมากขึ้น ก็คือ มีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็น "เหยื่อ" ทั้งถูกข่มขืนกระทำชำเรา และถูกกระทำอนาจาร เปิดตัวมาเพิ่มอีกหลายคน 

 

-ทนายดังสร้างกระแสว่า อาจจะมีเหยื่อมากถึงหลักสิบ 

 

-ผู้หญิงที่อ้างตัวว่าตกเป็นเหยื่อ เริ่มเข้าพบกับตำรวจเพื่อแจ้งความ

 

-มีผู้หญิงซึ่งเป็นคนมีหน้ามีตาในสังคม เพราะเป็นภรรยาของ "ไฮโซลูกนัท" เปิดตัวอ้างเป็นเหยื่อด้วย ซึ่งก็คือ "แอนนา" ผู้สมัครสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร หรือ ส.ก. ของพรรครวมไทยยูไนเต็ด  

 

"ทีมข่าวอาชญากรรม เนชั่นทีวี" ได้สรุปตัวเลขหญิงสาวที่เปิดตัวแสดงเจตนาดำเนินคดี อ้างว่าถูกล่วงละเมิดทางเพศ นับถึงขณะนี้ 4 ราย เข้าพบตำรวจ เมื่อวันที่ 12 เม.ย. 1 ราย วันที่ 14 เม.ย. 2 ราย และวันที่ 15 เม.ย. อีก 1 ราย โดย 1 ใน 2 ราย เมื่อวาน เป็นเหตุที่เกิดขึ้นที่จ.เพชรบุรี 


 

ประเด็นที่ต้องทำความกระจ่างคือ กรณีที่มีบุคคลอ้างเป็นผู้เสียหาย มาร้องทุกข์กับตำรวจเพิ่มแบบนี้ จะมีผลทางกฎหมายใดๆ หรือไม่ เพราะบางเหตุการณ์ตามที่อ้าง ก็เกิดมานานแล้ว ขณะที่หลายคนก็บอกว่า คดีข่มขืนกระทำชำเรา หรือกระทำอนาจาร เป็นความผิดที่ยอมความได้ เหตุเกิดนานแล้วขาดอายุความไปแล้วหรือไม่ 

 

อย่างไรก็ตาม "ข่าวข้นคนข่าว" จึงได้ไปหาคำตอบมาว่า เคสเหล่านี้ที่ออกมาร้องทุกข์กับตำรวจเพิ่ม มีผลทางกฎหมายหรือไม่ และอายุความในคดีข่มขืน และกระทำอนาจาร ยังมีอยู่หรือไม่ 

 

ประเด็นแรก ความผิดอาญาในประเทศไทย มี 2 ประเภท คือ 

 

-ความผิดต่อแผ่นดิน ที่เรียกว่า "อาญาแผ่นดิน" 

 

-ความผิดต่อส่วนตัว 

 

ความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เดิมเป็นความผิดต่อส่วนตัว ซึ่งตำรวจจะดำเนินคดีเองไม่ได้ ถ้าผู้เสียหายไม่เข้าแจ้งความร้องทุกข์ และต้องแจ้งความภายในระยะเวลาที่กำหนดกำหนดด้วย เรียกว่า "อายุความร้องทุกข์" ซึ่งก็คือ 3 เดือน นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ หรือวันที่รับรู้ว่ามีการกระทำความผิด

 

ถ้าไม่ร้องทุกข์ตามระยะเวลา หรือตามอายุความร้องทุกข์ จะดำเนินคดีต่อไปไม่ได้เลย 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประเด็นที่ 2 ความผิดฐาน "ข่มขืนกระทำชำเรา" ในประมวลกฎหมายอาญา มีการแก้ไขมาหลายครั้ง ถือว่าเป็น "พัฒนาการของกฎหมาย" ซึ่งเดิม กำหนดนิยามไว้ว่า ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตน แปลว่าสามีสามารถข่มขืนภรรยาได้ ทำให้มีกระแสเรียกร้องให้แก้ไข 

 

ต่อมา มีการกำหนดนิยมใหม่ ผู้ใดข่มขืนหญิงอื่น ซึ่งแปลว่าความผิดฐานข่มขืน จะผิดเฉพาะการข่มขืนผู้หญิง ถ้าชายข่มขืนชาย ไม่ผิดกฎหมาย จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไขอีก 

 

ล่าสุด 28 พ.ค. 2562 - กำหนดนิยามปัจจุบัน ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น ซึ่งครอบคลุมทุกเพศ และยังกำหนดให้การข่มขืนกระชำเรา และกระทำอนาจาร เป็นความผิดที่ "ยอมความได้โดยมีเงื่อนไข" 

 

เงื่อนไขของการยอมความได้ มีแค่ 2 อย่าง ตามมาตรา 281 กล่าวคือ 

 

1.กรณีข่มขืน ถ้ากระทำต่อคู่สมรส ไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายสาหัส เสียชีวิต ให้ยอมความได้

 

2.กรณีอนาจารทั่วๆ ไป ไม่ได้นำวัตถุหรืออวัยวะอื่นที่ไม่ใช่อวัยวะเพศล่วงล้ำเข้าไปในอวัยวะเพศหรือทวารหนักของเหยื่อ ถ้าไม่ได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล หรือไม่ได้ทำให้เกิดอันตรายสาหัสหรือตาย ให้ยอมความได้ 

 

ฉะนั้นสรุปง่ายๆ กรณีข่มขืน ยอมความไม่ได้ทุกกรณี ยกเว้นข่มขืนภรรยาตัวเอง เมื่อยอมความไม่ได้ จึงไม่มีอายุความร้องทุกข์ เพราะไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัว พนักงานสอบวนสามารถดำเนินคดีได้ โดยไม่ต้องมีการร้องทุกข์ เพียงแต่ต้องดำเนินคดีภายในอายุความของความผิดนั้น (ข่มขืน) คือ 10 ปี นับแต่วันที่มีการกระทำความผิด 

 

ฉะนั้น คดีข่มขืนในปัจจุบันที่เกิดหลังการแก้ไขกฎหมาย คือ วันที่ 28 พ.ค. 2562 เหยื่อจะร้องทุกข์หรือไม่ก็ได้ ตำรวจสามารถดำเนินคดีได้เลย แต่ถ้าเกิดก่อนปี 2562 ยังใช้กฎหมายเก่า คือ มีอายุความร้องทุกข์ 3 เดือน ดังนั้น ปัจจุบันจึงขาดอายุความไปนานแล้ว 

 

ประเด็นที่ 3 กฎหมายที่แก้ไขใหม่ ทำให้ผู้เสียหายในคดีข่มขืน หรือกระทำอนาจาร ได้รับสิทธิ์เพิ่มขึ้นหรือไม่ โดยต้องแยกเป็น 2 ส่วน 

 

-ผู้เสียหายที่ไม่ประสงค์จะดำเนินคดี ก็จะไม่ได้รับความคุ้มครองใดๆ เพิ่มขึ้น เพราะความผิดฐานข่มขืน คนที่รู้ว่ามีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะมีแค่ 2 คน คือ ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ

 

-แต่สำหรับผู้เสียหายที่ประสงค์จะดำเนินคดี จะได้รับการคุ้มครองสิทธิ์มากขึ้น คือ 

 

1.ไม่ต้องร้องทุกข์ก็ได้ 

 

2.มีเวลาคิดไตร่ตรองเกิน 3 เดือน เพราะคดีข่มขืน ผู้หญิงจะคิดมากว่าจะแจ้งความดีหรือไม่ เพราะเมื่อแจ้งความแล้ว มีการฟ้องร้อง ต้องมีการนำสืบข้อเท็จจริงในศาล 

 

3.สามารถนำข้อเท็จจริงไปเบิกความในชั้นศาลเพื่อเอาผิดผู้กระทำ 

 

ประเด็นที่ 4 คิดว่าหลายคนคงสนใจ คือ คดีที่เกิดขึ้นนานแล้ว หรือเกิดมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น เหยื่อบางคนอ้างว่าโดนข่มขืนเมื่อปีที่แล้ว ในการพิจารณาคดี จะพิสูจน์ความผิดยากหรือไม่ 

 

ประเด็นนี้ "ข่าวข้นคนข่าว" จึงได้คุยกับผู้พิพากษาที่เคยพิจารณาคดีข่มขืนกระทำชำเรา และคดีกระทำอนาจาร ได้คำตอบและข้อสังเกตแบบนี้ 

 

1.ต้องใช้วิชา "รับฟังพยานหลักฐาน" และ "ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน" เนื่องจากหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์น่าจะหายากแล้ว 

 

2.พิจารณาจากข้อเท็จจริงและรายละเอียดของเหตุการณ์ ซึ่งจะมีการ "ถามค้าน" ของทนายฝ่ายจำเลย (ฝ่ายที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำข่มขืน) บนชั้นศาล ซึ่งจะทำให้ศาลนำข้อมูลข้อเท็จจริงไปชั่งน้ำหนักก่อนพิพากษาได้ 

 

3.หัวใจสำคัญของความผิดฐานข่มขืน คือ "ถูกกระทำโดยไม่ยินยอม" คำว่า "ยินยอม" จึงเหมือนเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการพิสูจน์ความผิด

 

-ฝ่ายจำเลย ก็ต้องพิสูจน์ว่าอีกฝ่ายยินยอม ถ้าพิสูจน์ได้ ก็จะไม่โดนข้อหาข่มขืน

 

-ฝ่ายโจทก์ ผู้เสียหายที่กล่าวหา ก็ต้องยืนยันให้ได้ว่าตนไม่ยินยอม เพื่อเอาผิดฐานข่มขืน 

 

ทั้งหมดนี้พิสูจน์จากข้อเท็จจริง ซึ่งส่วนใหญ่จะปรากฏในชั้นศาล เนื่องจากมีการ "ถามค้าน" ส่วนในชั้นพนักงานสอบสวน มักจะมีหลักฐานเฉพาะฝ่ายที่กล่าวหา เนื่องจากฝ่ายที่ถูกกล่าวหามักจะไม่เปิดข้อมูลหลักฐานฝ่ายตนก่อน 

 

ยกตัวอย่างข้อเท็จจริงที่แตกต่างกัน คือ "การถูกพาเข้าห้อง" หรือ "การยอมเข้าไปอยู่ในห้องเดียวกันกับฝ่ายชาย" ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นการข่มขืน หรือไม่ข่มขืนเสมอไป "บางคนไปคิดว่า ไปอยู่ในห้องฝ่ายชาย คือ สมยอม" จริงๆ แล้วไม่มีสูตรสำเร็จ ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป เช่น 

 

ตัวอย่างที่ 1 ถูกพาเข้าโรงแรมม่านรูด ลงจากแท็กซี่แล้วห้องอยู่ชั้น 2 เดินขึ้นบันไดตามไป เข้าห้อง ฝ่ายชายอาบน้ำ แต่ฝ่ายผู้เสียหายก็ไม่ยอมหลบหนี แม้จะมีโอกาสหนีได้ แบบนี้อาจวินิจฉัยว่าสมยอม ไม่ใช่ข่มขืน 

 

ตัวอย่างที่ 2 ถูกหลอกเข้าไปในห้อง แล้วปิดประตูล็อกตาย ออกไม่ได้ แบบนี้ก็น่าจะเข้าข่ายข่มขืน แม้จะเข้าไปอยู่ในห้องฝ่ายชายก็ตาม 

 

หรือแม้แต่ยินยอมเข้าไปในห้อง และมีการกระทำถึงขั้นเข้าพระเข้านางกัน แต่ฝ่ายผู้เสียหายฉุกคิดได้ และไม่ยินยอม ฝ่ายชายก็ต้องหยุด หากกระทำต่อ จะเป็นการข่มขืน อย่างนี้เป็นต้น 

 

นี่คือตัวอย่างที่ยกขึ้นมาจากคดีเก่าๆ ไม่ได้เกี่ยวกับนักการเมืองที่ถูกกล่าวหา และทั้งหมดนี้ "ข่าวข้นคนข่าว" นำข้อกฎหมายมาอธิบายให้สังคมได้เข้าใจ เพราะกฎหมายมีพัฒนาการ และคุ้มครองสิทธิ์ฝ่ายหญิงผู้เสียหายมากขึ้นกว่าเดิม

logoline