svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"อัพเดท"โฉมหน้า 9 ผู้ท้าชิงเก้าอี้ "เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."ก่อนถึงวันดีเดย์

26 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อัพเดทเปิดโฉมหน้าล่าสุด 9 ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ก่อนถึงวันเปิดรับสมัคร"เลือกตั้งผู้ว่าฯกทม."อย่างเป็นทางการในวันที่ 31 มี.ค.-4 เม.ย. ใครเป็นใคร เช็กคุณสมบัติก่อนสมัครเลือกตั้งสมาชิกสภากทม. ข้อพึงระวังต้องเตรียมงบใช้จ่ายเลือกตั้งเท่าไหร่บ้าง

 

ปี่กลองเสาชิงช้าเร่งเร้าเข้ามาทุกขณะ สำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และผู้บริหารท้องถิ่น ทั้งสก. รวมถึงนายกฯเมืองพัทยา โดยภายหลังกกต.ได้ประกาศกำหนดวันเลือกตั้งไปแล้วเป็นวันอาทิตย์ที่ 22 พ.ค.65   พลิกปฏิทินสัปดาห์นี้จะเข้าสู่ขั้นตอนเปิดรับสมัคร สมาชิกสภากทม. และ"ผู้ว่าฯเลือกตั้ง" ตั้งแต่วันที่ 31 มี.ค.- 4 เม.ย.  

 

สำหรับ คุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สก.และผู้ว่า.กทม.นั้น 1.ต้องมีสัญชาติไทย (แปลงสัญชาติต้องได้สัญชาติไทย มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี ) 2. อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ในวันเลือกตั้ง (เกิดก่อนวันที่ 24 พ.ค.2547 ) 3. มีชื่อในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 1 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง (มีชื่ออยู่ก่อนวันที่ 23 พ.ค.64 ) 

 

ทั้งนี้ กกต.ยังได้กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งดังนี้ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม. ใช้จ่ายได้ไม่เกิน 49 ล้านบาท ขณะที่ผู้สมัครเลือกตั้ง กทม. 50 เขต เขตละ 1 คนนั้น จะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันตามขนาดพื้นที่เขตดังนี้ 

 

เขตสัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย  บางรัก ปทุมวัน
พระนคร
ใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเขตเลือกตั้งละ 820,000 บาท

 

เขตราชเทวี  พญาไท  คลองสาน  บางกอกใหญ่  ห้วยขวาง
วัฒนา  ราษฎร์บูรณะ   ทุ่งครุ  คลองเตย ยานนาวา สาธร

ใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเขตเลือกตั้งละ 900,000 บาท

 

เขตบางพลัด สะพานสูง  ทวีวัฒนา  บางบอน  คันนายาว
วังทองหลาง บางคอแหลม  บางกอกน้อย  มีนบุรี พระโขนง
หลักสี่  ดินแดง  บางนา  ลาดพร้าว  ตลิ่งชัน ดุสิต ธนบุรี
สวนหลวง
  ใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเขตเลือกตั้งละ 1,000,000 บาท

 

เขตภาษีเจริญ บางซื่อ  บึงกุ่ม  บางกะปิ  หนองแขม หนองจอก จตุจักร  จอมทอง  ใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเขตเลือกตั้งละ 1,050,000 บาท

 

เขตบางขุนเทียน  คลองสามวา  ลาดกระบัง  ดอนเมืองประเวศ  สายไหม  บางเขน  บางแค  ใช้จ่ายได้ไม่เกินจำนวนเขตเลือกตั้งละ 1,150,000 บาท

 

 

เมื่อเช็กข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 26 มี.ค.65 มีผู้ประสงค์เตรียมลงสมัครผู้ว่าฯกทม. รวมแล้ว 9 ราย  ใครเป็นใครมีดังนี้   

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์  อดีตรมว.คมนาคม ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.สังกัดอิสระ

 

1. "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์"  อดีต รมว.คมนาคม  สังกัด อิสระโดยมีทีมสนับสนุนจากกลุ่มมดงาน  ที่มีดร.โจ  พิจิตต รัตกุล อดีตผู้ว่าฯ กทม. รวมถึง  "เจ๊ปิ๊ก"  ปวีณา หงสกุล  จากพรรคเพื่อไทย  ทั้งนี้ ดร.ชัชชาติ  เปิดตัวชิงชัย มาตั้งแต่ 30 พ.ย. 62 

 

นโยบาย 9 ดี ปลอดภัยดี , เดินทางดี , สุขภาพดี ,สร้างสรรค์ดี, สิ่งแวดล้อมดี , โครงสร้างดี , บริหารจัดการดี , เรียนดี , เศรษฐกิจดี

 

รสนา โตสิตระกูล  อดีตสว.กทม. ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สังกัดอิสระ

 

2. "รสนา  โตสิตระกูล" อดีต ส.ว.กทม. ซึ่งได้รับความไว้วางใจจากชาวกทม. เทคะแนนให้เป็นสว. เมื่อปี 2551 โดยทำสถิติไว้ถึงเจ็ดแสนกว่าคะแนน  ตัดสินใจขอลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.รอบนี้ในสังกัดอิสระ

 

รสนา ทำการเปิดตัวมานานแล้ว ตั้งแต่ 13 ธ.ค. 62 มีผู้สนับสนุนจากเครือข่ายเอ็นจีโอเป็นหลักโดยเฉพาะกลุ่มเคลื่อนไหวด้านพลังงาน พร้อมนโยบายสำคัญ 3 ประการ สอดคล้องกับสภาวะของทั้งโลกที่กำลังเผชิญร่วมกัน ประกอบด้วย การไม่มีงานทำ โลกร้อน และความเหลื่อมล้ำ

 

พี่เอ้  ดร.สุชัชวีร์  สุวรรณสวัสดิ์  ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์

 

3 . "สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์" อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สังกัด พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีการเปิดตัวเมื่อ 18 ธ.ค. 64

 

ด้วยการชู 5 นโยบาย ปัญหาพื้นฐานของกรุงเทพฯ ฝนตกน้ำท่วม , ด้านการศึกษา , ด้านการแพทย์และสาธารณสุข , ด้านคุณภาพอากาศ โครงการเสาไฟอัจฉริยะ มีโซลาร์เซลล์ กล้องวงจรปิด เครื่องวัดคุณภาพอากาศ อยู่ในเสาต้นเดียว , "ช่วยกันฉุดกรุงเทพฯ ไม่ให้จม"

 

 

 

 

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร  ผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สังกัดพรรคก้าวไกล

 

4 . "วิโรจน์ ลักขณาอดิศร"  อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล  สังกัด พรรคก้าวไกล โดยพรรคได้ทำการเปิดตัวให้วิโรจน์ ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. เมื่อวันที่  23 ม.ค. 65

 

"วิโรจน์" ได้ออกมาเปิดเผยถึง นโยบายหลักในการเนรมิต กทม.ให้น่าอยู่ ตั้งแต่  แก้ไขปัญหาทางเท้า , เว็บรายงานน้ำท่วมและแอปพลิเคชั่นแจ้งปัญหาอื่นๆ , แก้ปัญหาโครงสร้างวิศวกรรม , ต้องมีทางม้าลายที่ได้มาตรฐาน , ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายจราจร มาเป็นนโยบายหลัก , เชื่อมสัญญาณไฟคนข้ามกับไฟแดงสี่แยก ,ทำงานเชิงรุก ไม่ต้องรอประชาชนแจ้ง สำนักงานเขตต้องสำรวจทางเท้าทุก 3 เดือน

 

สกลธี  ภัททิยกุล  อดีตส.ส.กทม. และอดีตรองผู้ว่าฯกทม. ลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สังกัดอิสระ

 

5. "สกลธี ภัททิยกุล" อดีตรองผู้ว่าฯ กทม.  รายนี้ลงสมัครสังกัดอิสระ โดยที่ผ่านมาเป็นที่ทราบดีเขาอยู่ในกลุ่มก๊วน กปปส. ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ให้การสนับสนุน ซึ่งก่อนที่ สกลธี ลาออกจากตำแหน่งรองผู้ว่าฯกทม.  ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พร้อมกับ ณัฎฐพล  ทีปสุวรรณ  ท่ามกลางกระแสข่าวครั้งนั้นว่า ขอเสนอตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม. ในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แต่ปรากฎว่า เกิดเหตุพลิกผันภายในพรรคที่ยังสรรหาผู้สมัครไม่ลงตัว ทำให้ "สกลธี" ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคพปชร. พร้อมกับ ลงสมัครในนามอิสระ มีการเปิดตัวเมื่อวันที่  24 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา โดยประเดิมเปิด 6 นโยบายสำคัญ ทั้งด้านการขนส่ง สาธารณสุข การศึกษา สิ่งแวดล้อม ระบบบริหารจัดการ เศรษฐกิจ สังคม ท่องเที่ยว  "เพื่อชีวิตคนกรุงที่ดีกว่า" ด้วยการชูจุดเเข็งทำงานมาก่อนรู้ปัญหา เชื่อคน กทม. เลือกคนทำงาน ไม่ใช่อุดมการณ์การเมือง 

 

พล.ต.อ.อัศวิน  ขวัญเมือง  อดีตผู้ว่าฯกทม. ประกาศลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อีกครั้งในนามอิสระ

 

6. "พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง" อดีตผู้ว่าฯกทม.ประกาศลั่นอย่างมั่นใจว่าอีกสามเดือนเขาจะกลับมาแน่ โดยสังกัดอิสระ"บิ๊กวิน"มีกลุ่มสนับสนุน จาก "กลุ่มรักษ์กรุงเทพ"  เปิดตัวเมื่อวันที่  24 มี.ค. 65  พร้อมมาเปิดใจผ่านเนชั่นออนไลน์ไปแล้วด้วยสโลแกนสั้นๆเข้าใจง่าย "ต้องไปต่อ"  เป็นนโยบายหลัก 8 ด้าน ได้แก่
1.ไปต่อ เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพราะอยากเห็น  “เมืองกรุงเทพฯ” มีจุดเสี่ยงน้ำท่วมที่ลดลง  ซึ่งลดไปแล้วจาก 24 จุด เหลือ 9 จุด และจะลดต่อ ด้วยวิธีที่ตนมีประสบการณ์
2.ไปต่อ เพื่อสร้างความสะดวกในทุกการเดินทาง เพราะอยากเห็น “คนกรุงเทพฯ คนเดินเท้าปลอดภัย ระบบขนส่งมวลชนสะดวกและสร้างความเชื่อมโยง  
3.ไปต่อ เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับ “คนเมือง” และระบบการรักษาที่มีคุณภาพมากขึ้น เพราะอยากเห็น “เมืองกรุงเทพฯ” มีที่รักษาพยาบาลใกล้บ้านและครอบคลุมทุกพื้นที่ ดูแลทุกคนอย่างเท่าเทียม
4. ไปต่อ เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเมืองที่ดี เพราะอยากเห็น “เมืองกรุงเทพฯ”  เพิ่มพื้นที่สีเขียว จัดการขยะที่ต้นทาง มีคลองสวยน้ำใส
5.ไปต่อ เพื่อทำกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ เพราะอยากเห็น “ลูกหลานและคนกรุงเทพฯ” มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งกายและใจในวัยเด็ก เมื่อโตขึ้น จะได้รับการศึกษาทั้งทักษะอาชีพและความรู้พร้อมกันไป
6.ไปต่อ เพื่อเติมเต็มความปลอดภัยให้กับคนเมือง เพราะอยากเห็น “เมืองกรุงเทพฯ มีอาชญากรรมลดลง และมีการเตรียมพร้อมขจัดภัยพิบัติ 
7.ไปต่อ เพื่อเชื่อมกรุงเทพฯ สู่เมืองดิจิทัล เพราะอยากเห็น “คนกรุงเทพฯ” ได้รับบริการจากหน่วยงานราชการของกรุงเทพฯ ที่โปร่งใสเชื่อมโยงและรวดเร็ว  
8.ไปต่อ เพื่อดูแลคนทุกกลุ่มทุกวัย เพราะอยากเห็นบริการและสวัสดิการชุมชนทั่วถึง

 

นต.ศิธา ทิวารี  อดีตส.ส.กทม. ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในสังกัดพรรคไทยสร้างไทย

 

7. "นต.ศิธา ทิวารี"  หรือ "ผู้พันปุ่น" อดีต ส.ส.กทม. สังกัด พรรคไทยสร้างไทย  โดยได้รับการยืนยันจากคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ผ่านเนชั่นออนไลน์ จะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่  30 มี.ค. 65  จึงต้องติดตามการประกาศนโยบายสร้างกทม.อย่างไรต่อไป 

 

ประยูร  ครองยศ  อดีตรอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ลงสม้ครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. สังกัด พรรคไทยศรีวิไลย์

 

8."ดร.ประยูร ครองยศ"  อดีตรอง ผอ.สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. สังกัด พรรคไทยศรีวิไลย์ เปิดตัว 9 ธ.ค. 64 

 

อุเทน ชาติภิญโญ   ขอลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. ในนามอิสระ

 

9. "อุเทน  ชาติภิญโญ"  อดีตหัวหน้าพรรคคนไทย  ได้ประกาศเจตนารมณ์ ไว้ตั้งแต่ 13 พ.ย.62  ว่าทันทีที่ "พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง" ลาออกจากตำแหน่งผู้ว่ากทม. และกกต.ประกาศให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ก็จะเดินทางไปลงสมัครท้าชิงเก้าอี้"ผู้ว่าฯกทม."เช่นกัน  โดย มีนโยบายสำคัญ 4 ประการ 1.จะทำเมืองที่น่าเที่ยวที่สุดเมืองหนึ่งของโลก ให้เป็นเมืองที่น่าอยู่  2. ไม่ยอมให้ใครมาเอาเปรียบคนใน กทม. ทุกคนต้องตรงไปตรงมา อยู่ในกรอบกฎหมาย  3.จะทำให้รถใน กทม. ต้องไม่ติด และ 4. ทำให้ทุจริตต้องหมดไป

 

"อุเทน" ระบุไว้ด้วยว่า นโยบายหลักเหล่านั้นจะทำให้เห็นผลโดยขอเวลา  500 วัน ถ้าทำไม่ได้ วันที่ 501 จะลาออกทันที โดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งขอประกาศเป็นเจตนารมณ์ และให้สัตยาบันต่อมวลชน

 

 

 

logoline