svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

หมอโอภาส วอนอย่าด้อยค่า "ยาฟาวิพิราเวียร์" จนเสียโอกาสรักษาโควิด

19 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันประสิทธิภาพ "ยาฟาวิพิราเวียร์" ช่วยในการรักษาโควิด วอนขออย่าด้อยค่ายา เหมือนตอนวัคซีนโควิด จนทำให้หลายคนเสียโอกาส ยืนยันฟาวิพิราเวียร์ ผ่านการรับรอง"อย." มีมาตรฐาน งานวิจัยประสิทธิภาพช่วยให้อาการดีขึ้น 79%

19 มีนาคม 2565 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ หรือ หมอโอภาส อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวเรื่อง "ประโยชน์ของการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ในการรักษาผู้ป่วยโควิด19" ที่กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า ขณะนี้ไทยยังมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 จำนวนมาก ซึ่งโรคนี้เป็นโรคใหม่ที่เราไม่เคยเจอมาก่อน และมีการระบาดอย่างกว้างขวาง ในฐานะหมอที่ต้องดูแลผู้ป่วยก็ย่อมต้องหาทาง หายามารักษาผู้ป่วย ซึ่งตั้งแต่เจอโควิดครั้งแรกต้นปี 2563 ตอนนั้นยังไม่รู้จักโรคดี ยังไม่มียารักษา เพราะเป็นโรคใหม่

 

ทางการแพทย์จึงพยายามนำยาต้านไวรัสต่างๆที่มีอยู่เดิม ที่ผ่านการรับรองมาใช้ในการช่วยผู้ป่วยโควิด ตามทฤษฎีกลไกยับยั้งไวรัสได้ และพบว่าผู้ป่วยหลายรายมีอาการดีขึ้น จนระยะหลังพบยาฟาวิพิราเวียร์ มีการขึ้นทะเบียนกับทางคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ ก็ทำให้ผู้ป่วยหลายรายอาการดีขึ้น รวมทั้งสามารถหายามารักษาในไทยได้

 

หมอโอภาส วอนอย่าด้อยค่า "ยาฟาวิพิราเวียร์" จนเสียโอกาสรักษาโควิด

 

หลักการในการนำยามารักษาคนไข้ คือ มีประสิทธิภาพดี ไม่มีผลข้างเคียง และมีความเหมาะสมกับคนไข้นั้นๆ แต่ในเชิงที่มีผู้ป่วยจำนวนมาก สิ่งที่ต้องพิจารณาต้องมีมากขึ้นนอกจากเรื่องประสิทธิภาพ หากยารักษาสามารถทำให้ผู้ป่วยหายได้ ดีกว่าไม่ให้ยาอะไรเลย สัก 30-40% ถือว่าดีมากแล้ว แต่ที่สำคัญต้องปลอดภัย ไม่ทำให้ผู้ป่วยอาการแย่ลง  

 

การให้ยาผู้ป่วยจำนวนมาก ต้องคำนึงถึงสถานการณ์การระบาด ความสามารถในการจัดหา ซึ่งพบว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นยาที่เราสามารถหามาได้

 

 

หมอโอภาส วอนอย่าด้อยค่า "ยาฟาวิพิราเวียร์" จนเสียโอกาสรักษาโควิด

 

จากการศึกษาเบื้องต้น จากประสบการณ์การรักษาของคุณหมอ พบว่า ยานี้ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง รักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสอาการกลับไปรุนแรงก็ลดลง จากนั้นเราก็มีการรวบรวมข้อมูล ประเมินมาโดยตลอด จนถึงขณะนี้เรามีการประชุมพิจารณาไปแล้วกว่า 400 ครั้ง

 

 

ที่สำคัญเรายังมีคณะผู้เชี่ยวชาญมาทำวิจัยเรื่องนี้ร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งกระทรวงสาธารณสุข โรงเรียนแพทย์ ยกตัวอย่าง การศึกษาศูนย์วิจัยทางคลินิก ของคณะแพทยศาสตร์ศิริราช ได้ร่วมกับสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยได้วิจัยการใช้ยาฟาวิพิราเวียร์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม

 

กลุ่มแรกผู้ป่วย 62 ราย และกลุ่มที่ 2 จำนวน 31 ราย ซึ่งกลุ่มแรกได้รับยาตามสูตรมาตรฐานปกติที่รักษาผู้ป่วย คือ ขนาด 1,800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันที่ 1 ต่อด้วยขนาด 800 มก. วันละ 2 ครั้งในวันต่อมา ส่วนกลุ่มที่ 2 ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ โดยผู้ป่วยในโครงการจะได้รับยาเฉลี่ย 1.7 วันหลังเริ่มมีอาการป่วย

 

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ มีอาการดีขึ้น 79% เมื่อเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับยาฟาวิพิราเวียร์ ดังนั้น 2 กลุ่มนี้ จะเห็นว่าการให้ยาทำให้ผู้ป่วยอาการดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทำให้คณะผู้วิจัยมีความมั่นใจว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ ทำให้อาการดีขึ้น

 

ทั้งนี้ จึงได้ข้อสรุปว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ที่ให้วันละ 1,800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันแรก และต่อด้วยขนาด 800 มก.วันละ 2 ครั้งในวันต่อมานานอีก 4 วัน เป็นยาที่ควรเริ่มเร็วและช่วยลดอาการป่วยได้ กรณีผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงได้อย่างมีนัยสำคัญกว่าการไม่รับยา 

 

หมอโอภาส วอนอย่าด้อยค่า "ยาฟาวิพิราเวียร์" จนเสียโอกาสรักษาโควิด

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มที่ได้รับยาอาการจะดีขึ้น 79% เทียบกับกลุ่มไม่ได้รับยาอาการจะดีขึ้นเพียง 32.3%  แล้วกลุ่มที่ได้รับยาจะมีอาการดีขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 ของการรักษา และวันที่ 13 และวันที่ 28 จะมีปริมาณไวรัสต่ำกว่าผู้ที่ไม่ได้รับยา จึงเป็นที่มาที่คณะแพทย์มีความเชื่อมั่นการใช้ยานี้

 

นอกจากนี้ รูปแบบการใช้ยาก็กินง่าย ไม่มีผลข้างเคียงที่ต้องกังวล เพียงแต่มีข้อจำกัดในผู้ป่วยรักษาช้า หรือมีอาการหนัก ประสิทธิภาพอาจไม่ดีนัก ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงมีคำแนะนำให้ยาฟาวิฯ แก่ผู้อาการไม่หนัก และรักษาแต่เนิ่นๆ 

 

"ที่สำคัญที่ผ่านมาเรารักษาด้วยยาฟาวิฯ กับผู้ป่วยไปเป็นล้านคนแล้ว จึงขอยืนยันขอให้เชื่้อมั่นในยาที่ใช้รักษา ขอความกรุณาอย่าด้อยค่ายาที่รักษา เราเคยมีปัญหาด้อยค่าวัคซีน ทำให้หลายคนเสียโอกาสการรับโอกาส บางคนกลัวการรับวัคซีน จนหลายรายน่าเสียใจเสียชีวิตจากการไม่ได้รับวัคซีน" นพ.โอภาส กล่าวในที่สุด

 

อย.ผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ได้เองและกระจายสู่โรงพยาบาลต่างๆตั้งแต่ สิงหาคม 2564

logoline