svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เรียกร้องแยกงานสอบสวน"คดีทางเพศ"ออกมาเป็นการเฉพาะ ผ่านงานเสวนาสตรีสากล

08 มีนาคม 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วงเสวนาวันสตรีสากล ต้องการตำรวจมีใจ ทำคดีทางเพศคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ “บุ๋ม ปนัดดา” วอนเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ปรับวาจา น้ำเสียงการสอบสวน

 

วงเสวนาวันสตรีสากล ต้องการตำรวจมีใจ ทำคดีทางเพศคำนึงถึงความเป็นมนุษย์ "บุ๋ม ปนัดดา" วอนเพิ่มพนักงานสอบสวนหญิง ปรับวาจา น้ำเสียงการสอบสวน แยกงานสอบสวนคดีทางเพศเบ็ดเสร็จ จับมือ สธ.-พม.ลุยแก้ปัญหาอาชญากรรมใต้หลังคา  "ทิชา" ชี้ช่วงรอเบ้าหลอมตำรวจน้ำดี ควรเพิ่มอำนาจ ปรับเหยื่อเป็นพยาน   

  วงเสวนาวันสตรีสากล

 

สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) ร่วมกับ มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ได้มีการจัดเสวนา หัวข้อ  "ตำรวจที่ผู้หญิงและคนชายขอบต้องการ" เนื่องในโอกาสวันสตรีสากล 2565 

 

นางสาวปนัดดา วงศ์ผู้ดี นักแสดงและพิธีกร กล่าวว่า จากการทำงานให้ความช่วยเหลือคดีทางเพศมาเป็น 10 ปี พบเคสทั้งผู้หญิง และผู้ชายถูกละเมิดทางเพศ จากคนในครอบครัว คนมีเงิน คนมีอำนาจ แต่การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมเป็นไปด้วยความยากลำบาก กำหนดให้เหยื่อที่อยู่ต่างพื้นที่ต้องมาแจ้งความดำเนินคดีข้ามจังหวัด ปัดภาระในการหาพยานหลักฐานให้เป็นของเหยื่อ

 

ยกตัวอย่างคดีเด็กถูกข่มขืนที่อำเภอแห่งหนึ่ง ทางภาคกลางตอนบน ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าของร้านชำ มีภรรยาเป็นสมาชิกอบต. ซึ่งถือเป็นผู้มีอำนาจในพื้นที่ตำรวจถามหาพยานหลักฐานกับเด็ก ทำให้เด็กอายุเพียง 12 ขวบยอมถูกข่มขืนซ้ำเพื่อให้เพื่อนแอบถ่ายคลิปเก็บหลักฐานอีก

 

จึงเป็นคำถามว่าแล้วเมื่อไหร่ที่คดีทางเพศจะได้รับการดูแลอย่างจริงจังเสียที ดังนั้นอยากเรียกร้องให้มีพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้หญิง เพราะผู้เสียหายจะกล้าบอกเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้มากกว่า แต่หากเป็นผู้ชายก็อยากให้มีการอบรมเรื่องวิธีการและการใช้น้ำเสียงในการสอบสวน

 

แต่อยากเสนอให้แยกงานสอบสวนคดีทางเพศออกมาเป็นการเฉพาะ มีการประสานการทำงานแบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่ให้ผู้เสียหายต้องคอยประสานงานหน่วยงานที่หลากหลายเอง 

 

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนบ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เมื่อปี 2552 โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพรานมีการเปิดรับนายร้อยตำรวจที่เป็นผู้หญิงเข้ามา แต่มติกระกระทรวงกลาโหมปี 2562 ให้ยกเลิกนักเรียนนายร้อยตำรวจที่เป็นผู้หญิงออกไป ซึ่งขอย้ำว่าการไม่มีผู้หญิงที่โรงเรียนยนายร้อยตำรวจเป็นเรื่องล้าหลัง แต่การมีแล้วยกเลิกเป็นการหักหลังประชาชน

 

อย่างไรก็ตาม ตำรวจที่ผู้หญิงและคนชายขอบต้องการอาจจะไม่ใช่แค่ตำรวจที่เป็นผู้หญิงก็ได้ แต่ต้องการคนที่เป็นมืออาชีพ ซึ่ง โดยมีองค์ประกอบ 2 ฐาน

 

เรียกร้องแยกงานสอบสวน"คดีทางเพศ"ออกมาเป็นการเฉพาะ ผ่านงานเสวนาสตรีสากล

 

1. มาจากเบ้าหลอมที่ดี โรงเรียนตำรวจยังไม่ใช้หลักสูตรที่ครอบคลุมประเด็นที่หลากหลายครอบคุมทุกคน

 

2.ต้องมีระบบที่ดี แต่ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีปัญหาในเชิงระบบ และปัญหาอำนาจนิยมมาก การดำเนินคดีไม่สร้างความสมดุลเชิงอำนาจ อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ต้องใช้เวลานานเราจึงต้องสร้างพลังหรือผลักดันให้เหยื่อเป็นพยานคนสำคัญเพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกผิด และถูกด้อยค่า ซึ่งทางเราอยู่ระหว่างการทำเรื่องนี้ในสเกลเล็กๆ และหวังว่าจะมีการขยายใหญ่ขึ้น และขอให้ตำรวจทำคดีทางเพศด้วยความเป็นมนุษย์ เห็นทุกคนเป็นมนุษย์   

 

นางสาวอัญชนา  หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ (องค์กรประชาสังคมชายแดนใต้) กล่าวว่า พื้นที่ภาคใต้ และชายขอบอยู่ภายใต้กฎหมายพิเศษหลายฉบับ อยู่ภายใต้ความขัดแย้ง กรอบศาสนา มีการสร้างกฎการลงโทษเฉพาะของชุมชน เป็นวัฒนธรรมลอยนวล พ้นผิดครอบงำอยู่  เมื่อเกิดปัญหาถูกละเมิดทางเพศ หากผู้หญิงไม่สามารถอธิบายหรือเปิดเผยแม้แต่เส้นผมให้ชายคนอื่นเห็น ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นบาป

 

นอกจากนี้ เมื่อมีการแจ้งความดำเนินคดี ตำรวจก็ไม่ได้ดำเนินคดีตามกฎหมาย แต่ดำเนินคดีตามกฎของแต่ละชุมชน ซึ่งเน้นการไกล่เกลี่ย ซึ่งประโยชน์ก็เกิดกับผู้ปกครอง แต่กลับไม่ได้คำนึงถึงเหยื่อ ถึงเป็นวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ปัญหาขยายใหญ่ขึ้น ดังนั้นขอให้มีการปฏิบัติเรื่องนี้อย่างยุติธรรม เข้าใจวิธีปฏิบัติต่อผู้เสียหาย ให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ ตั้งแต่เรื่องของการใช้คำพูด เพราะสามารถช่วยเยียวยาเหยื่อที่อยู่ในภาวะ PTSD ได้ และยุติการตอบโต้ ล้างแค้นทางกฎหมาย  

 

ด้าน นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ปี 2564 กล่าวว่า ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีนโยบายเพิ่มพนักงานสอบสวนผู้หญิง 100 อัตรา โดยเปิดรับสมัครจากผู้ที่จบทางด้านนิติศาสตร์ คาดว่าจะเปิดเดือน เม.ย.นี้ ขณะที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจก็มีการเปิดสอบเพิ่มอัตรากำลังเช่นกัน อย่างไรก็ตามภาคปฏิบัติในพื้นที่  ซึ่งตนติดใจสภาพโรงพักไม่เอื้ออำนวยต่อการที่ผู้หญิง หรือเหยื่อจะขึ้นไปบอกกล่าวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเสนอให้กลุ่มผู้หญิงที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังกรรมาธิการตำรวจ หรือกรรมาธิการกฎหมายยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เพื่อตั้งประเด็นนี้ขึ้นมาและผลักดันให้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับสภาพปัญหา หารือ และนำไปสู่การแก้ไขต่อไป   
 

พ.ต.อ.ฉัตรแก้ว วรรณฉวี ประธานชมรมพนักงานสอบสวนหญิง กล่าวว่า การทำคดีทางเพศจะวัดจำนวนพนักงานสอบสวนไม่ได้ แต่ต้องวัดที่คุณภาพของตำรวจที่ต้องมีความเข้าใจ และมีที่จะทำเรื่องนี้จริงๆ อย่ามองอาชญากรรมใต้หลังคาเป็นเรื่องเล็กๆ เพราะเป็นต้นตอที่จะนำไปสู่ปัญหาสังคมอื่นๆ อีกมาก ส่วนตัวมองว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)อาจจะต้องมีหน่วยพิเศษสำหรับเรื่องนี้

 

โดยร่วมกับทางกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มาร่วมด้วย ไม่จำเป็นต้องตั้งสำนักงานที่โรงพัก แต่ตั้งที่ไหนก็ได้ ไม่ต้องใส่เครื่องแบบ ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบัน สตช.มีตำรวจหญิงอยู่จำนวนหนึ่งที่อยากทำเรื่องเฉพาะทาง ไม่ใช่ภาพลักษณ์ของการอยู่หน้าห้องคอยชงกาแฟ.  

 

ขณะที่ ส.ส. ณัฐวุฒิ บัวประทุม พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ขณะนี้รัฐสภาพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับใหม่ เสร็จในวาระ 2 และเข้าสู่การพิจารณาของสภาหลังเปิดสมัยประชุม 22 พ.ค.นี้ด้วย ซึ่งในคำถามหนึ่งที่เคยถามเอาไว้ว่าความเป็นชาย หญิง จะเป็นข้อจัดกันในการเลื่อนขั้นหรือไม่ ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ยืนยันว่าไม่มีข้อจำกัด

logoline