svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

จับตาศึกอภิปราย 17 - 18 ก.พ. แม้ไม่ลงมติแต่ส่งผลต่ออนาคตรัฐบาล "บิ๊กตู่"

16 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จับตาศึกอภิปรายไม่ลงมติ 17 - 18 ก.พ. เกมซักฟอกรัฐบาลที่แม้ไม่มีการลงมติ แต่ก็ส่งผลต่ออนาคตรัฐบาล ที่อาจทำให้ "บิ๊กตู่" ต้องตัดสินใจครั้งสำคัญ

     เริ่มแล้วสำหรับศึกอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 152 วันที่ 17 - 18 ก.พ. 65 ที่เสนอโดยพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่แม้จะไม่มีการลงมติไม่ไว้วางใจ แต่ก็เหมือนเป็นการลากรัฐบาลมา "ตบกลางสี่แยก"  

 

     เพราะเป็นการอภิปรายแบบกว้าง ๆ ครอบคลุมได้ทุกเรื่อง เป็นการอภิปรายเชิงซักถามและข้อเสนอแนะการบริหารราชการแผ่นดินของ ครม. เสมือนกับการ "ซักฟอก" ครม. ทั้ง 36 คน ซึ่งรัฐมนตรีทุกคน ทุกกระทรวง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่สามารถตอบแทนได้ทั้งหมด

 

     การเปิดอภิปรายเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อ ครม. โดยไม่ลงมติครั้งนี้ มีการแบ่งเวลาในการอภิปรายเป็น 30 ชั่วโมง คือ วันแรกเริ่ม 09.30 - 00.30 น. และวันที่สองเริ่ม 09.00 - 24.00 น. ฝ่ายค้านมีเวลา 22 ชั่วโมง ส่วน ครม. มีเวลาในการชี้แจง 8 ชั่วโมง หากไม่เพียงพอก็เพิ่มได้ ซึ่งเบื้องต้นฝ่ายค้านจะบริหารเวลาให้ ส.ส. อภิปรายวันละ 11 ชั่วโมง 

 

     ประเด็นที่ฝ่ายค้านวางไว้จะอภิปราย มี  4 ประเด็นหลัก คือ "วิกฤติเศรษฐกิจข้าวของแพงค่าแรงถูก - โรคระบาดโควิด-19 และอหิวาต์หมู - วิกฤติการเมือง - และ การบริหารราชการแผ่นดินที่ล้มเหลว ประเทศได้รับความเสียหาย และส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน ด้วยเวลาที่จำกัด ฝ่ายค้านจึงจะต้องคัด "ตัวท็อป" มาอภิปราย

 

     ขณะที่ทางวิปรัฐบาลยืนยันว่า จะเปิดโอกาสให้ฝ่ายค้านได้อภิปรายตามญัตติที่เสนอต่อสภาฯ เพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อรัฐบาล จะไม่มีการตั้ง "องค์รักษ์" ให้ผู้ชมรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจแต่อย่างใด  
 

 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม

     แม้จะไม่มีการลงมติในการอภิปรายครั้ง แต่ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ต่างก็ต้องมีการเตรียมตัว เตรียมข้อมูลให้พร้อม ไม่ให้ "ตกม้าตาย" กลางสภา โดยในส่วนรัฐบาลยืนยันว่า สามารถชี้แจงและตอบข้อซักถามได้ "ทุกประเด็น" และใช้เวลาไม่นาน จากความมั่นใจในการบริหารงาน แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ยังต้องมีการ "เกร็งข้อสอบ" โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เข้าข่ายว่าจะถูก "ซักฟอก" ซึ่งทีมสนับสนุนจะต้องช่วยกันสรุปและรวบรวมประเด็น รวมถึงตัวเลขที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาให้ทำการบ้านล่วงหน้า 

 

     เพราะหากท่านผู้นำเหล่านั้น "อ้ำอึ้ง" หรือตอบ "ไม่เคลียร์" ก็อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือ "คะแนนเสียง" ในการเลือกตั้งสมัยหน้าได้เช่นกัน

 

     ประเด็นที่ต้องจับตาคือ การอภิปรายหนนี้จะเกิดกรณี "สภาล่ม" หรือไม่ หลังจากที่ในระยะหลังมักเกิดปัญหานี้ขึ้น และสามารถเกิดขึ้นได้กับการอภิปรายครั้งนี้ได้เช่นกัน 

 

     ทำให้ทั้งวิปรัฐบาลและวิปฝ่ายค้านต้อง "กำชับ" บรรดา ส.ส. รัฐมนตรี ให้เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพียง เพื่อความเป็น "เอกภาพ" และลบ "ภาพเสีย" และ "คำครหา" ทำงานฐานะฝ่ายนิติบัญญัติไม่คุ้มภาษีประชาชน ซึ่งเบื้องต้นได้รับการยืนยันมาแล้วว่า ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และ ครม. จะนั่งอยู่ในสภาครบทั้งสองวัน  

 

 

จับตาศึกอภิปราย 17 - 18 ก.พ. แม้ไม่ลงมติแต่ส่งผลต่ออนาคตรัฐบาล "บิ๊กตู่"
 

     และอีกประเด็นที่ต้องจับตาคือ "อนาคตรัฐบาล" หลังจบศึกอภิปรายว่า จะมีการ "ยุบสภา" เพื่อเลือกตั้งใหม่หรือไม่ เพราะการอภิปรายครั้งนี้เป็นอีกไฮไลต์สำคัญทางการเมืองในสภา ก่อนปิดสมัยประชุมสภา 28 ก.พ. นี้ 

 

     แม้จะไม่มีการลงมตินับคะแนนเสียงให้ต้องตื่นเต้นหวาดเสียวกัน รวมถึงมีการยืนยันเสถียรภาพของรัฐบาล จากจำนวนเสียง ส.ส. 260 เสียง จากปากของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย แต่การอภิปรายครั้งนี้ จะทำให้เห็นท่าทีที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น จากกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่อาจจะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทบทวนอีกครั้งว่าจะ "ยุบสภา" หรือไม่

 

     เพราะแม้พี่ใหญ่ 3 ป. อย่าง "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จะยืนยันว่า "คุมเสียง" ของกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส ได้ แต่จากพฤติกรรมของ ร.อ.ธรรมนัส ที่คล้ายเป็นหอกข้างแคร่ในขณะนี้ รวมปัญหาต่าง ๆ ที่ถาโถมเข้ามา ทั้ง ปัญหาโควิด เศรษฐกิจ ปากท้อง ราคาน้ำมัน

 

     หากลากไปจนถึงการเปิดสมัยประชุมสภาสมัยหน้าเดือนพฤษภาคม แล้วถูกฝ่ายค้านยื่นขออภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้ง และกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส หันไปเข้ากับฝ่ายค้าน ความยุ่งยากทางการเมืองคงกลับมาสร้างปัญหาให้กับรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่น้อย นี่ยังไม่นับถึงการเสนอ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2566 และกฎหมายการเงินที่สำคัญต่าง ๆ อีกหลายฉบับ รวมถึง มือมืดที่จ้องจะไฮแจ๊คเก้าอี้นายกฯ หาก "บิ๊กตู่" นั้น "ล้มในสภา"
 

 

นายอนุทิน ชาญวีรกูล - ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

logoline