svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"ใครอยู่-ใครไป"จริงหรือทุกพรรคอยากให้ยุบสภา

14 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ใครหลายคนประเมินครม."พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ในมุมที่ว่าเรือเหล็กมิน่าจะไปรอดถึงการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ในช่วงเดือน พ.ย. นี้

เพราะปัจจัยการเมือง จากปัญหาบ้านเมืองรุกรุมเร้าหลากด้าน สถานการณ์ "โควิด-19" จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนไม่ได้ลดลงเลย บวกกับปัญหาค่าครองชีพประชาชนว่างงานและเป็นหนี้สูงขึ้น สถานการณ์ราคาน้ำมันแพง ที่แม้แต่ สุพัฒน์พงศ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน ออกมายอมรับกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต 

 

ตรงนี้ คือ สิ่งบ่งชี้ประสิทธิภาพการแก้ปัญหาของครม.ว่าทำได้เข้าเป้าหรือไม่

 

มิพัก เอ่ยถึงฝ่ายค้านและพรรคหน้าใหม่ที่ยืนตรงข้าม "ลุงตู่" เพราะคนการเมืองปีกนี้อย่างไรเสีย รุมจองกฐินถล่มนายกฯทุกประเด็นนั้น เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำในช่วงเวลาที่มีอยู่ เพราะตอนนี้คนการเมืองเหล่านี้มองว่า "ลุงตู่" เมาหมัด และนับแปดไปแล้ว หากปล่อยให้ "ลุงตู่" มีเวลาดึงสติและกำลังกลับมาสู้ต่อนั้น มันไม่ใช่วิถี

 

บวกกับความเห็นของหลายฝ่ายที่ส่งเสียงถึงกัปตันเรือเหล็กในมุมลบน่าติดตามไม่น้อย...

 

"สุพันธ์ มงคลสุธีร์" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ส่งสัญญาณให้หัวหน้ารัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจทางการเมือง เพราะความเชื่อมั่น ครม. ชุดนี้ จากสังคมน้อยมากและอยู่ในจุดที่ไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้ นั่นแปลว่าอะไร...

 

"สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์" อดีต รมว.พลังงาน ในฐานะแกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย ออกมาส่งเสียงให้อดีตผู้บังคับบัญชาเมื่อยามก่อน หากทำไม่ได้ ให้รีบตัดสินใจทางการเมืองให้เร็วที่สุด

 

ขณะที่เหตุ  "สภาล่มครั้งที่ 17" นับเป็นความอัปยศในการเล่นเกมของส.ส.ทั้งมวล ใครเป็นใครบ้างนั้น หลายคนน่าจะทราบดี เพราะตอนนี้ทราบว่า ส.ส.แต่ละคน แต่ละมุ้ง แต่ละพรรค ต่างขยับเกมนี้ในช่วงเวลานี้แบบรัวๆ ส่อความถึงอะไรนั้น ตีความได้ไม่ยากเย็นนัก แต่น่าสนใจกว่า คือ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล (โดยเฉพาะส.ส.พรรคพลังประชารัฐ) ร่วมเล่นเกมอันน่าอับอายนี้ด้วย

พรรคน้องใหม่ "เศรษฐกิจไทย" แสดงลีลาในช่วงนี้ให้คีย์แมนไทยคู่ฟ้ามองเห็นแล้วว่า จังหวะของพวกเขา หลังปลีกตัวจากพรรคพลังประชารัฐ มีน้ำหนักอย่างไรบนสนามการเมือง และเงื่อนไขที่ยื่นไว้จะได้รับหรือไม่ หาก "ลุงตู่" ต้องการเสียงหนุนให้ได้สิทธิไปต่อ บวกกับ "กลุ่ม16ยุคใหม่"  ที่นำโดย พิเชษฐ สถิรชวาล และ มงคลกิตติ์ สุขสินธรานนท์ นำทีมกล่าวอ้างลอยๆ ในการขึ้นกลุ่มใหม่การเมือง นัยว่ากลุ่มนี้เกิดขึ้นเพื่อต่อรองอะไรหลายอย่าง

 

" 7 รัฐมนตรีพรรคภูมิใจไทย" ลาประชุม ครม. เมื่อการประชุม ครม. 8 ก.พ. 65 เหตุแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวออกไปอีก 40 ปี ทั้งที่เหลืออายุสัมปทาน 7 ปี ด้วยหลากปัจจัยที่กล่าวอ้าง แม้ล่าสุด "ลุงตู่" กับคีย์แมนพรรคสีน้ำเงิน จะมีการเคลียร์ใจต่อหน้าสื่อ ให้เกิดภาพเนื้อเดียวกันขึ้นก็ตาม

 

ด้านพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ส่งสัญญาณเตือน พล.อ.ประยุทธ์  ให้จัดการองคาพยพของพรรคที่สนับสนุนนายกฯให้ดี ไม่อย่างนั้นสะเทือนกันไปหมด แต่เอาเข้าจริงแล้วพรรคสีฟ้า น่าจะรอลุ้นเลือกตั้งพ่อเมืองหลวงให้บรรลุ รวมทั้งการแก้กฎหมายลูกให้ลุล่วง บวกกับลุ้นกฎหมายงบประมาณให้ผ่านสภา

 

เพราะนโยบายพรรคสีฟ้าที่หาเสียงไว้ เช่น แก้รัฐธรรมนูญก็ใกล้สำเร็จ การประกันรายได้สินค้าเกษตร 5 ชนิด ก็ต้องพึ่งงบประมาณประจำปีไปชดเชยเกษตรกร ส่วนศึกซักฟอกนั้น พรรคสีฟ้าคงเชื่อว่า รมต.ของพรรคน่าจะสอบผ่าน ดังนั้น ตอนนี้พรรคสีฟ้าน่าจะเก็บตัว รอผลลัพธ์ให้ลุล่วงทั้งหมดแล้วค่อยออกอาวุธ

 

 

แม้ไม่กี่วันก่อน "ลุงตู่" ส่งสัญญาณชัดในการทำหน้าที่ด้วยการออกถ้อยแถลงเชิญผู้นำชาติต่างๆมาร่วมเวทีเอเปค และน่าจะแปลความได้อีกชั้นหนึ่งว่า "ผู้ที่ทำหน้าที่ต้อนรับแขกบ้านแขกเมืองของไทยในวันนั้น คือ นายกรัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีในวันนั้น คือ พล.อ.ประยุทธ์"

 

แต่ก่อนถึงวันนั้น ในวันนี้ และไม่กี่วันข้างหน้า ทำไม...หลายฝ่ายรุมเปิดศึกไล่ต้อนและบีบบี้ให้ "ลุงตู่" สละเรือเหล็กอย่างต่อเนื่อง และทำไม "ลุงตู่" ถึงมั่นใจบอกสังคมให้ทราบเป็นนัยว่า กระแสบี้บีบให้ไขก็อกนั้น น่าจะยากหากจะเกิดขึ้นจริง....

 

ประเด็นแรก "ปัจจัย" น่าจะมาจากความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของพรรคแกนนำรัฐบาล และพรรคร่วมรัฐบาลที่ส่งสัญญาณไม่ค่อยดีให้สังคมจับจังหวะได้หลายทำนอง บวกกับผลงานรัฐบาลไม่ประจักษ์ แถมยังมีแผลสด แผลเก่า บังเกิดขึ้นเป็นระยะ รวมทั้งกระแสการทุจริตและประพฤติมิชอบหลายวาระถูกปัดฝุ่นขึ้นมา ทำให้หลายฝ่ายจึงออกมาส่งเสียงทำนายทายทักไปในมุมเดียวกันแทบจะทั้งนั้น  

 

โดยในไม่กี่วันข้างหน้า ฝ่ายค้านจะเปิดการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ โดยใช้เวลา 30 ชั่วโมง ชำแหละความล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ ตรงนี้ พล.อ.ประยุทธ์ คงไม่หนักใจนัก เพราะไม่มีผลต่อเวลาการทำงานนัก แต่อาจเสียรังวัดเพราะฝ่ายค้านจะถล่มแหลกแล้วปิดสมัยการประชุม จากนั้น อีกราวสองเดือน คือ เวลาที่ "ลุงตู่" น่าจะพอวางหมากการเมืองว่าจะขยับอย่างไร  

 

แม้ตอนนี้พรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี "เสกสกล อัตถาวงศ์" เปิดรันเวย์ไว้แต่หัววัน เพื่อเป็นพรรคสำรองของ "ลุงตู่" แต่ "พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ" หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ย้ำแล้วว่า "ลุงตู่" ยังได้รับการสนับสนุนจาก พปชร. บวกกับการเตรียมปรับองคาพยพเพื่อรองรับศึกงวดหน้า

 

เหล่านี้ คือ ปัจจัยแรกที่รอบี้บีบ "ลุงตู่"

 

หากมองปัจจัยในมุมของ "ลุงตู่" บ้างนั้น หากผ่านเดือนนี้ไปได้แบบไม่ช้ำนัก เชื่อว่าเดือน มี.ค.และ เม.ย. จะเป็นเวลาที่พล.อ.ประยุทธ์ วิเคราะห์และวางเกมใหม่ได้บ้าง หลังแสดงจุดยืนล่าสุดไปแล้ว โดยน่าเชื่อว่าสองเดือนนี้ "ลุงตู่" จะมีไม้เด็ดโยนออกมาให้เห็น ขั้นต้นนั้นน่าจะกระชับวงล้อมพรรคพปชร.ใหม่ บวกกับประสานพรรคหลักบนเรือเหล็ก ให้เสียงในสภาสอบผ่านทุกกรณีที่มีการลงมติและการนับองค์ประชุม บวกกับมติครม.ของพรรคร่วมเรือเหล็กที่ต้องไฟเขียวในตอนนี้ และหากไม่มีไม้เด็ดใดๆออกมา น่าจะแปลว่าการนับถอยหลังของครม.ชุดนี้คงเริ่มต้นแล้ว 

 

เพราะเดือนพ.ค.เป็นต้นไป คือ ห้วงเวลาอันตรายของ "ลุงตู่"  เนื่องจากต้องเข็นร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระที่หนึ่ง เข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนฯให้ลงมติรับ-ไม่รับ หากกฎหมายการเงินฉบับนี้ไม่ผ่านความเห็นชอบ ต้องรับผิดชอบด้วยการยุบสภา-ลาออก จากนั้นลุ้นว่าฝ่ายค้านจะยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจครม.ตอนไหน เพราะหากยื่นญัตติแล้วหัวหน้ารัฐบาลจะยุบสภาไม่ได้ จนกว่าฝ่ายค้านจะเปิดเวทีซักฟอกและลงมติไว้วางใจ ไม่ไว้วางใจ เสร็จสิ้นเสียก่อน บวกกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. และอาจพ่วงนายกเมืองพัทยาไปด้วย

 

ขณะเดียวกันร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และการเลือกตั้งส.ส. จะต้องคลอดหลังแก้กติกาหลักไปแล้ว ตรงนี้ "ลุงตู่" คงมั่นใจว่าทุกพรรคจะรอร่างกฎหมายสองฉบับนี้ "ผ่าน" เสียก่อน แล้วจึงเร่งจังหวะการเมืองในทุกกลเกม แต่ตอนนี้อย่าลืมว่าการรณรงค์ปลดล็อก 250 ส.ว. มิให้เข้ามาร่วมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ก็ยังล่ารายชื่อกันอยู่

 

วาระงานการเมืองข้างต้นนั้น แม้ไม่ใช่วาระงานของนายกรัฐมนตรีที่ต้องบริหารราชการแผ่นดิน แต่เป็นวาระการเมืองที่ต้องแก้ให้ได้แบบทะลุทะลวง มิใช่แก้รายวัน หาก "ลุงตู่" หวังจะยืนไปถึงประชุมเอเปค

logoline