svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” มีผลข้างเคียงน้อย

14 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

จุฬาฯ แถลงความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล” อาสาสมัครภูมิขึ้น มีผลข้างเคียงน้อย เดินหน้าทดลองเฟส 2 คาดอีก 4 ปีเปิดให้รักษาได้

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนาวิชาการ Chula the Impact ครั้งที่ 7 เรื่อง “ความก้าวหน้าวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะรายบุคคล นวัตกรรมแห่งความหวังของสังคมไทย” เพื่อนำเสนอความคืบหน้าล่าสุดของนวัตกรรมการรักษาโรคมะเร็งด้วยวัคซีน

 

โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งทีมวิจัยได้ทดสอบวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลกับอาสาสมัครผู้ป่วยมะเร็งจำนวน 4 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังชนิดเมลาโนมา (melanoma) 3 ราย และ มะเร็งไต 1 ราย

 

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล”  มีผลข้างเคียงน้อย

 

พบว่าการฉีดวัคซีนมีความปลอดภัย พบผลข้างเคียงน้อย เช่น มีอาการปวดตรงจุดที่ฉีดวัคซีน ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และหลังจากการฉีดวัคซีน 3 สัปดาห์ พบว่าการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยทั้ง 4 ราย ดีขึ้นอย่างชัดเจน และเป็นการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่มีความจำเพาะต่อชิ้นส่วนการกลายพันธุ์ของผู้ป่วยมะเร็งรายนั้น

 โครงการแพทย์จุฬาฯ พัฒนางานวิจัยภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่สำคัญของกองทุนนี้ที่เกิดจากการผนึกกำลังจากหลายคณะและสถาบันในจุฬาฯ ทั้งแพทยศาสตร์ เภสัชศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนา วิธีการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งเป็นวิธีการรักษาแบบใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อแก้ไขปัญหาโรคมะเร็งที่พบมากขึ้นในสังคมสูงวัยของประเทศไทย

 

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล”  มีผลข้างเคียงน้อย

 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ คณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มีความมุ่งมั่นในการแก้ปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุในการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของคนไทย พร้อมทั้งองค์กรมีการทำงานที่ต่อเนื่อง โดยการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนและถ่ายทอดงานวิจัยมาสู่การทดลองรักษาให้กับผู้ป่วยโดยเร็วที่สุด

 

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล”  มีผลข้างเคียงน้อย

 

 นำไปสู่การขยายขีดจำกัดในการให้บริการและรองรับผู้ป่วยได้อย่างเพียงพอ โดยมีการสร้างห้องปลอดเชื้อพิเศษทั้งเพื่อการผลิตเซลล์ และวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคลเพิ่มเติม ในอาคารบูรณาการวิจัยใหม่ร่วมกับอาคารรักษาพยาบาลที่เน้นการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งอย่างครบวงจร รวมกันเป็น “ศูนย์บูรณาการวิจัยและรักษาโรคมะเร็งของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย” ซึ่งคาดว่าจะสร้างแล้วเสร็จในเดือนกุมภาพันธ์ 2567

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล”  มีผลข้างเคียงน้อย

 

รศ.ดร.นพ.วิโรจน์ ศรีอุฬารพงศ์ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์โรคมะเร็งครบวงจร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ในปัจจุบันการให้ยารักษามะเร็ง มีแนวทางหลัก 3 วิธี คือ

  1. ยาเคมีบำบัด เป็นการรักษาที่ค่าใช้จ่ายไม่สูง มีประสิทธิภาพปานกลาง และอาจมีผลข้างเคียงที่มากได้
  2. ยามุ่งเป้า เป็นการให้ยารักษาที่จำเพาะต่อการกลายพันธุ์ของมะเร็ง มีประสิทธิภาพจำเพาะเฉพาะในรายที่มีการกลายพันธุ์ตรงกับตัวยา อาการข้างเคียงมักจะไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด
  3. ภูมิคุ้มกันบำบัด ปัจจุบันมีทั้งการรักษาแบบการให้ยาแอนติบอดี และการใช้เซลล์บำบัด

 

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล”  มีผลข้างเคียงน้อย

 

 ปัจจุบัน ได้มีการวิจัยและพัฒนาการรักษาโรคมะเร็งด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด มุ่งเน้นพัฒนาการรักษาใน 3 วิธีคือ เซลล์บำบัดมะเร็ง (CAR T-cells และ NK cells) วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล (therapeutic cancer neoantigen vaccine) และยาแอนติบอดีต้านมะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง, immune checkpoint inhibitor) ซึ่งภูมิคุ้มกันบำบัดทั้ง 3 วิธีนี้มีจุดเด่นที่แตกต่างกัน และสามารถใช้รักษาร่วมกัน และใช้ร่วมกับการรักษามะเร็งด้วยวิธีการอื่นๆ ได้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา

 

เป้าหมายอีก 4 ปีข้างหน้า ทีมวิจัยจะเดินหน้าเข้าสู่การทดสอบทางคลินิกระยะถัดไป คือเริ่มเปิดให้บริการในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่องานวิจัยสามารถพิสูจน์ถึงประสิทธิภาพและความปลอดภัย จะดำเนินการขึ้นทะเบียน และในขณะเดียวกัน ศูนย์ความเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็ง ได้ทำการวิจัยและพัฒนายาแอนติบอดีรักษามะเร็ง (ยาภูมิต้านมะเร็ง) คู่ขนานกันไป

 

ความคืบหน้า “วัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล”  มีผลข้างเคียงน้อย

 

ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการผลิตในโรงงาน โดยจะเริ่มการทดสอบในสัตว์ทดสองในปี 2565 นี้ และมีเริ่มการทดสอบทางคลินิกในผู้ป่วยมะเร็งในปี 2566 ในต่อไป ซึ่งหากการพัฒนาวัคซีนรักษามะเร็งเฉพาะบุคคล และยาแอนติบอดีประสบผลสำเร็จ จะสามารถใช้การรักษาทั้ง 2 วิธีควบคู่กัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษามะเร็งให้ดีขึ้น

logoline