svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

พปชร.คลอดพรรคลูกฉายหนังเก่าการเมืองไทย  

07 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความวุ่นวายอลหม่านของพรรคพลังประชารัฐ ที่มีผู้กองคนดัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ยกคณะ 18 ส.ส. ไปสังกัดพรรคเศรษฐกิจไทย โดยมี พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ซึ่งเคยนั่งประธานยุทธศาสตร์พปชร. คนสนิท พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พาร่างไปเป็นเฮดโค้ชให้พรรคเศรษฐกิจไทยนั้น 

ก่อนหน้านี้ กลุ่ม 4 กุมาร ซึ่งตอนนี้เหลืออยู่สองกุมาร  คือ อุตตม สาวนายน   และ  สนธิรัตน์ สนธิรุจิรวงศ์  เป็นแกนนำ เคยสละเรือพลังประชารัฐไปตั้งพรรคใหม่ในนามพรรคสร้างอนาคตไทย โดยแถลงเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปแล้ว ด้วยการยืนยันนั่งยันไม่บรรจุชื่อ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา อยู่ในบัญชีรายชื่อเสนอเป็นนายกฯ ของพรรค พร้อมกับแบไต๋ให้การสนับนุน สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ในบัญชีรายชื่อ ว่าที่นายกรัฐมนตรีของพรรค 

 

ล่าสุด กรณี  แรมโบ้อีสาน  ดร.เสกสกล อัตถาวงศ์  หรือชื่อเดิม สุภรณ์  อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐด้วยการย้ายเข้าสังกัด”พรรครวมไทยสร้างชาติ”ท่ามกลางกระแสข่าวว่าเป็นพรรคสำรองเพื่อเตรียมรองรับ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นผู้นำพรรคในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่รับเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐแทน พล.อ.ประวิตร 

 

แม้เป็นเพียงแค่กระแสข่าวลือ แต่สถานการณ์ความเคลื่อนไหวเริ่มเห็นเค้าลางบางอย่างขึ้นตามลำดับ จากการที่ แรมโบ้อีสาน ลาออกจากสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ คล้อยหลัง ปรพล อดิเรกสาร ยื่นใบลาออกจากสมาชิกพรรคพปชร.เมื่อมาสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ตามมาเช่นกัน  

 

“ผมได้พูดคุยกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาก่อนแล้ว ตั้งแต่ยื่นขอจดทะเบียนพรรครวมไทยสร้างชาติ เมื่อต้นปี 64 ก่อนที่พรรคพลังประชารัฐจะมีปัญหา ซึ่งชื่อนี้เป็นคำที่ พล.อ.ประยุทธ์ ชื่นชอบ ผมจึงส่งทีมงานไปจดทะเบียนไว้ก่อน เพราะกลัวคนอื่นจะนำชื่อไปใช้…”  เสกสกล  อัตถาวงศ์  เปิดเผยสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 7 ก.พ.65 

 

“ดร.เสกสกล” ยังบอกเพิ่มเติมว่า  เดือนมี.ค.นี้  จะมีการประชุมการประชุมกรรมการบริหารพรรคนัดแรก เพื่อปรับโครงสร้างพรรค โดยจะมีบิ๊กเซอร์ไพรส์ล็อตแรกออกมาก่อน และจะทยอยเซอร์ไพรส์เรื่อยๆ แต่ขอไม่เปิดเผยว่ามีใครร่วมงานบ้าง แต่มี ส.ส. อดีต ส.ส.  อดีตรัฐมนตรี รวมถึงรัฐมนตรี มาร่วมด้วย

 

การเปิดเผยดังกล่าว  ย่อมเป็นการเพิ่มน้ำหนักให้เห็นว่าการจัดตั้ง“พรรครวมไทยสร้างชาติ”เพื่อรองรับ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา ไม่ใช่ข่าวลือ  

 

ทั้งการที่แรมโบ้อีสาน ยอมรับถึงการหารือกับพล.อ.ประยุทธ์ ในการตั้งชื่อพรรค ซึ่งลุงตู่ยังชอบอกชอบใจ ต่อการที่มีคำว่า “สร้างชาติ”  ต่อท้ายชื่อพรรค  หรือภาพการทำงานของเสกสกล  มีบทบาทการทำงานเคลื่อนไหวเครือข่ายภาคประชาชนในการสนับสนุน “บิ๊กตู่”  อยู่นอกสภา ชนิดนับครั้งไม่ถ้วน ไม่อาจปฏิเสธได้เลยว่า เหตุใด นายกฯ ถึงแต่งตั้ง เสกสกล ผู้มีความชำนาญด้านการระดมมวลชนเพื่อหวังผลทางการเมือง มาเป็นผู้ช่วยรมต.ประจำสำนักนายกฯ ( ประจำนายกรัฐมนตรี )

 

ข้อสงสัยมือไม้เคลื่อนมวลชนประจำตัวนายกฯ ทำไมถึงด่วนลาออกจากสมาชิกพรรคพปชร.   หรือข้อสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์  จะเล่นการเมืองต่อในการเลือกตั้งสมัยหน้าหรือไม่ 

 

คำตอบทั้งหมดอยู่ที่การปรากฎชื่อ “พรรครวมไทยสร้างชาติ” โดยไม่ต้องเหนียมอายกันอีกต่อไป

 

ความยิ่งปรากฎขึ้นมาอีกชนิดว่า นี่คือยุทธศาสตร์การทำงานทางการเมืองในช่วงวาระการทำงานของสภาที่กำลังจะสิ้นสุดลง ต่างฝ่ายต่างต้องมีการเตรียมตัวพร้อมรับเลือกตั้ง โดยให้ฝ่ายวางหมากการเมืองขับเคลื่อนไป ขณะที่ฝ่ายผู้อยู่ในอำนาจก็ต้องบริหารอำนาจในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ให้ดีที่สุด

เพราะหากสำรวจย้อนกลับไปอีก ไม่เพียงกรณีการปรากฎชื่อของ”พรรครวมไทยสร้างชาติ” ณ ตอนนี้  ทว่าเมื่อปลายปี 2564  มีพรรคการเมืองอีกหนึ่งถึงสองพรรค ปรากฎชื่อขึ้นมาให้ฮือฮา นั่นคือ  “พรรคไทยสร้างสรรค์”   ซึ่งถูกมองว่า นี่คือพรรคการเมืองที่รองรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าสังกัด ในกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้ไปกับพรรคพลังประชารัฐ   เป็นสูตรเดิมที่มาใช้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ ในตอนนี้เช่นกัน  

 

ทั้งนี้  พรรคไทยสร้างสรรค์  ปรากฎชื่ออย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564   โดยราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศนายทะเบียนพรรคการเมือง รับจดทะเบียนจัดตั้งพรรคไทยสร้างสรรค์ ชื่อย่อ ท.ส.ส. สำนักงานใหญ่พรรคตั้งอยู่ที่ 357 ถ.สุโขทัย แขวงสวนจิตรลดา เขตดุสิต กทม. 10300

 

ครั้งนั้น มีการเผยโฉมคณะกรรมการบริหารพรรค มีจำนวน 10 ราย ได้แก่ 1.นายธำรงค์ เรืองธุระกิจ หัวหน้าพรรค  ซึ่งพบว่า  ทำธุรกิจด้านยานยนต์ และเป็นนายสนามของงานแข่งรถยนต์ชื่อ “KPM Trackday” โดยปัจจุบันข้อมูลในส่วนนี้ถูกตั้งเป็น Private บุคคลทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้แล้ว ขณะที่บุคคลในตระกูล “เรืองธุระกิจ” ปรากฏชื่อเป็นกรรมการบริษัทหลายแห่ง

 

2.นายกฤษฎา ตั่งเวชกุล รองหัวหน้าพรรค นักธุรกิจขายปลีกชิ้นส่วนยานยนต์ และร้านขายปลีกเครื่องดื่ม  

 

3.นางอัญชลี เรืองธุรกิจ รองหัวหน้าพรรค  

 

4.น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง เลขาธิการพรรค นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และร้านอาหาร  

 

5.น.ส.อนัญญา อนันกิจโชค รองเลขาธิการพรรค เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์  

 

6.น.ส.กนิษฐา เหลืองกังวานกิจ เหรัญญิกพรรค ทำธุรกิจร้านอาหารร่วมกับ น.ส.ญาณิศา จันทร์เรือง  

 

7.น.ส.ณวรรณเพ็ญ พิศลพูล นายทะเบียนสมาชิกพรรค นักธุรกิจด้านยานยนต์ ปั๊มน้ำมัน และอื่น ๆ  

 

8.นายไกรพุฒิ อินทรโยธา โฆษกพรรค ทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์  

 

9.นายพชร ภูมิจิตร กรรมการบริหารพรรค นักธุรกิจด้านพลังงานไฟฟ้า และงานวิศวกรรม  

 

10.น.ส.นริศรา ลิ้มธนากุล กรรมการบริหารพรรค นักธุรกิจซอฟต์แวร์

 

สำหรับเครื่องหมายพรรคไทยสร้างสรรค์ ใช้สัญลักษณ์แฮชแท็ก (Hashtag) สีชมพู โดยระบุความหมายในเชิงการออกแบบ เส้นทั้ง 4 เส้นเปรียบเสมือนภูมิภาคของประเทศทั้ง 4 ภาค ที่ได้รับการขีดลากมาสานต่อกัน เปรียบเสมือนอุดมการณ์ของพรรคที่จะเป็นตัวแทนพี่น้องทั้งประเทศ นำเอาความคิดที่หลากหลายของคนในแต่ละท้องถิ่นมาสานต่อให้เป็นแนวทางความคิดร่วมกันเพื่อสร้างสรรค์ให้ประเทศไทยเดินหน้าต่อไป

 

แม้วันนี้ บรรดาแกนนำพรรคการเมืองพลังประชารัฐ ออกมาปฏิเสธพัลวัน ไม่มีความเกี่ยวโยงกับบรรดาพรรคแตกหน่อ  อย่างเช่น พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพปชร.ที่ถูกจับตามองกำลังนั่งค่อมอยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทยด้วย หรือ พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา  นายกฯ ไม่ขอแสดงความเห็นกรณีการลาออกสมาชิกพรรคพปชร.ของเสกสกล เพื่อไปเข้าสังกัด พรรครวมไทยสร้างชาติ หรือแม้ปฏิเสธถึงการผสมพันธุ์ระหว่างพรรคการเมืองจากฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านบางพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้าก็ตาม 

 

แต่อย่าลืมว่า  สัจธรรมการเมืองไทย “ ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร”  อะไรที่เคยปฏิเสธ มักเกิดขึ้นเหนือความคาดหมายได้เสมอ  อย่างเช่นพรรคไทยรักไทยเคยก่อกำเนิดและดับไปจากการถูกยุบพรรค ยังทำให้นักการเมืองหลายคนต้องแตกรังไปสังกัดพรรคนั้นพรรคนี้  รวมถึงการตั้งพรรคขึ้นใหม่ จะเป็น พรรคพลังประชาชนที่โดนยุบ หรือ พรรคเพื่อไทยที่เคยมีสาขาหนึ่งสาขาสอง อย่างพรรคไทยรักษาชาติ(โดนยุบ) พรรคเพื่อชาติ  เหล่านี้หนีไม่พ้นอยู่ภายใต้การกำกับของนายใหญ่ 

 

ฉะนั้น การที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ซึ่งกำลังตกอยู่ในสภาพ”พรรคเฉพาะกิจ”  จะแตกหน่อออกลูก มีหน้าตาโลโก้แตกต่างกันออกไปดูกลายเป็นเรื่องธรรมดาไม่มีอะไรลึกลับซ่อนเงื่อน เพราะบุคลากรทางการเมืองที่เข้ามาสังกัดล้วนวนเวียนหน้าเดิมๆอยู่กันแบบนี้ เพื่อความอยู่รอดทางการเมืองในอนาคต

logoline