svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

งานหินรัฐ-งานยากเกษตรกรทุเรียนแสนล้าน

07 กุมภาพันธ์ 2565
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ทุเรียนแสนล้าน"รับมือฤดูผลไม้ภาคตะวันออก เกษตรกรใจสู้หรือเปล่า เกษตรไหวไหมบอกมา รัฐบาลจะคุยหรือหลบหน้า  

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ไปจันทบุรี โปรยยาหอมให้กับชาวสวนทุเรียนให้มั่นใจนโยบายเกษตรผลิตพาณิชย์ตลาด ที่กำลังขับเคลื่อนในเวลานี้

 

จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ปี 2564 การส่งออกผลไม้สด มูลค่า 158,875 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 52.39% ส่วนผลไม้แช่เย็นแช่แข็ง 11,597 ล้านบาท ผลไม้แห้ง  21,049 ล้านบาท ผลไม้แปรรูป/กระป๋อง 58,638 ล้านบาท รวม 250,162 ล้านบาท ขยายตัว 39% 

 

เรามาดูข้อมูลจากกรมศุลกากรกันบ้าง ไทยเราส่งออกผลไม้ 7 ชนิดได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ลำไย ลิ้นจี่และมะม่วง

 

ปี 2563 ที่ส่งออก 1,718,228 ตัน มูลค่า 117,673 ล้านบาท 

 

ปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) 1,992,751 ตัน มูลค่า 165,624 ล้านบาท

 

สำหรับทุเรียนสด

 

ปี 2563 ส่งออก 653,476 ตัน มูลค่า 72,566 ล้านบาท 

 

ปี 2564 ส่งออก 903,700 ตัน มูลค่า 115,459 ล้านบาท

 

ปริมาณเพิ่มขึ้น 38.29% เติบโต 59.11% 

ตัวเลขส่งออกทุเรียนระดับแสนล้าน ตัวเลขนี้ แน่นอน จีนเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทย 

 

ฤดูกาลผลไม้ปีนี้ ประเทศจีนในฐานะเป็นประเทศคู่ค้าของผลไม้ที่สำคัญกำหนดให้ต้องตรวจไม่พบเชื้อ COVID -19 ทั้งในคน ผลไม้ และองค์ประกอบอื่นในการขนส่ง ได้แก่ ภาชนะบรรจุภัณฑ์ รถขนส่ง เป็นต้น งานนี้ไม่ใช่งานง่ายของเกษตรกร ไม่ใช่งานง่ายของผู้ประกอบการ "ล้ง" และไม่ใช่งานง่าย สำหรับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะต้นทางการผลิต

 

ส่องดูมาตรการของกระทรวงเกษตรฯ ผ่าน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการและบริหารการจัดการผลไม้ (Fruit Board) มาตรการที่ออกมานั้น พุ่งตรงไปที่เมืองหลวงผลไม้ โดยในปีนี้ได้กำหนดเป้าหมายสำหรับการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2565 คือ "การส่งออกผลไม้ต้อง Zero COVID" เท่านั้น เพื่อเป็นแนวทางให้ทุกฝ่ายได้ดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน
 

ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ Live FB ถึงมาตรการรับมือฤดูกาลผลไม้ปี 2565 ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมที่จะจัดงานประชาสัมพันธ์สร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าในช่วงเดือนมีนาคม 2565 โดยจะเน้นสร้างการรับรู้เกี่ยวกับมาตรฐานการควบคุมคุณภาพทุเรียน ทั้งในเรื่องการปฏิบัติการควบคุมการเก็บเกี่ยวทุเรียนให้เป็นไปตามมาตรฐานทุเรียนไทย และระบบวิธีการจัดการควบคุม COVID –19 ในระดับสวนเกษตรกร 

 

ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ประกาศชัด ชูประเด็นระบบการจัดการทุเรียนประเทศไทยในฤดูกาลผลไม้ภาคตะวันออกที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศและหนึ่งในนั้นคือ มาตรการควบคุมและป้องกันทุเรียนอ่อน ด้วยการกำหนดวันเก็บเกี่ยวทุเรียนแต่ละชนิดพันธุ์  คือ พันธุ์กระดุม วันที่ 20 มีนาคม 2565  พันธุ์ชะนีและพวงมณี วันที่ 10 เมษายน 2565 และ พันธุ์หมอนทองและก้านยาว วันที่ 25 เมษายน 2565 

 

เรื่องทุเรียนอ่อน "ขุนเกษตร" บอกได้เลยว่า เราปีปัญหากันทุกปี เป็นปัญหาที่ดึงราคาทุเรียนให้ลดฮวบฮาบมาแล้ว หนึ่งเกิดจากชาวสวน สองมือตัดทุเรียน สามผู้ประกอบการรวบรวบทุเรียนหรือล้ง สี่เจ้าหน้าที่ ทั้ง 4 ส่วนนี้ ต้องร่วมแรงร่วมใจกัน ไม่เช่นนั้น ยากที่จะแก้ปัญหา

 

ปีนี้เจอมาตรการโควิดจากจีนเข้าไปหากไม่เตรียมการให้ดียากที่จะประสบความสำเร็จ ไม่นับรวมเรื่องของการขนส่งที่เป็นปัญหาทุกปี

 

"ทุเรียน" วันนี้เป็นผลไม้ที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในภาคตะวันออกและภาคใต้ คำถามของ "ขุนเกษตร" ที่มีต่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มาตรการวันนี้เพียงพอหรือยัง ท่านจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรชาวสวนทุเรียนมากกว่านี้ได้หรือไม่

 

ภาพการใกล้ล่มสลายของชาวสวนลำไย เป็นเรื่องที่ชาวสวนทุเรียนระแวงมากที่สุด ความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานภาครัฐสำคัญอย่างยิ่ง

 

ไม่ใช่ชาวสวนเรียกร้องให้ภาครัฐแก้ไข แต่ชาวสวนกำลังส่งเสียงบอกภาครัฐให้เตรียมการป้องกัน "ขุนเกษตร" ก็คิดเช่นนั้น ทุเรียนมูลค่าเป็นแสนล้าน รัฐบาลจะคุยหรือหลบหน้าก็เกิดจากราคาทุเรียนนี่หละครับ

logoline